ความภูมิใจของคนไทย ‘กาแฟดอยตุง’ หนึ่งในโครงการจากแม่ฟ้าหลวง

จากแนวทางพระราชดำริ “ช่วยเขาให้เขาช่วยตัวเอง” จนมาถึง “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง” ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ก่อตั้งขึ้นโดย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า เพื่อแก้ปัญหาความยากจน และมอบโอกาสให้แก่ ชาวไทยภูเขา โดยเริ่มบูรณาการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 จวบจนถึงปัจจุบัน…

Home / NEWS / ความภูมิใจของคนไทย ‘กาแฟดอยตุง’ หนึ่งในโครงการจากแม่ฟ้าหลวง

จากแนวทางพระราชดำริ “ช่วยเขาให้เขาช่วยตัวเอง” จนมาถึง “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง” ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ก่อตั้งขึ้นโดย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า เพื่อแก้ปัญหาความยากจน และมอบโอกาสให้แก่ ชาวไทยภูเขา โดยเริ่มบูรณาการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 จวบจนถึงปัจจุบัน

กว่า 30 ปีที่ผ่านมา วันนี้โครงการพัฒนาดอยตุง หนึ่งในโครงการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้ประสบความสำเร็จ ช่วยให้ชาวไทยภูเขาเพิ่มพูนทักษะ  สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์คุณภาพออกสู่ตลาดโลก ภายใต้แบรนด์ ‘ดอยตุง’

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ โครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งมีการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจจนสามารถสร้างรายได้และอาชีพให้กับชุมชน หนึ่งในนั้นคือ ‘กาแฟดอยตุง’

ทั้งนี้ MThai News มีโอกาสพูดคุยกับ คุณฉัฐรินทร์ ธรรมชัยโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญกาแฟพิเศษ ซึ่งได้อธิบายถึงความพิเศษของกาแฟดอยตุงเอาไว้ว่า มีความหอมกรุ่นเฉพาะตัวและรสชาติจากธรรมชาติ ที่ปลูกในพื้นที่ของโครงการพัฒนาดอยตุง มีการเก็บ คัดเมล็ดด้วยมือ รวมถึงแปรรูป คั่ว บด ที่เข้มงวดพิถีพิถันทุกขั้นตอน ซึ่งนอกจากความอร่อยแล้ว ยังได้ช่วยเหลือคน และสัมผัสเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาอีกด้วย

ปัจจุบัน กาแฟดอยตุง ได้จับมือกับ Japan Airlines ขึ้นไปเสริฟให้กับผู้โดยสารชั้นประหยัด ในเส้นทางบินระหว่างประเทศไทย-ประเทศญี่ปุน นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทย

ขณะที่ คุณสลักจิต มั่นธรรมรักษา ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนโครงการพัฒนา ได้เผยว่า โครงการพัฒนาดอยตุง เป็นโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริของ “สมเด็จย่า” ที่ทรงได้รับแรงบันดาลใจจากพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในการแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องกว่า 40 ปี

ทรงสัมผัสความทุกข์ยากของชาวบ้านบนดอยตุง ซึ่งมีชีวิตอยู่ในวังวนของการปลูกและค้ายาเสพติด อีกทั้งวงจรการค้ามนุษย์ซึ่งกลายเป็นปัญหาสังคมอย่างไม่จบสิ้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเล็งเห็นถึงต้นเหตุแห่งปัญหาว่าเกิดจากความยากจน ความไม่รู้ และการขาดโอกาส ในชีวิตของผู้คนในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร

จึงทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่ต้องหยุดวงจรแห่งความทุกข์ยาก โดยพัฒนาคนอย่างมีบูรณาการ ควบคู่ไปกับด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสร้างสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ไปในเวลาเดียวกัน โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้ชุมชนดอยตุงสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างมีคุณภาพต่อเนื่อง

“แม่ฟ้าหลวง” เป็นพระสมัญญานามที่ชาวไทยภูเขาพร้อมใจกันเรียกขาน “สมเด็จย่า” เพราะภาพที่พวกเขาเห็นจนชินตา คือ สมเด็จย่าเสด็จฯ ด้วยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง พร้อมกับสิ่งของ อาหาร เครื่องมือ และบุคลากรทางการแพทย์มาเยี่ยมเยียนพวกเขา เสมือนเสด็จฯ จากฟ้ามาปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัย

โดยในปี พ.ศ.2543 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก บันทึกให้สมเด็จย่าเป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นเพื่อส่วนรวมในสาขาการศึกษา วิทยาศาสตร์ประยุกต์ การพัฒนามนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากมูลนิธิเพื่อพัฒนาพื้นที่แห้งแล้ง และปัญหาความยากจนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน