ประเด็นน่าสนใจ
- ดาวเทียมเอสดีจีเอสเอที-1 ของจีน ที่ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศเมื่อไม่นานนี้ ได้ส่งภาพถ่ายการสำรวจระยะไกลชุดแรกกลับมายังโลกแล้ว
- บันทึกภาพเมืองและภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี
- ดาวเทียมเอสดีจีเอสเอที-1 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา
สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) ผู้พัฒนาดาวเทียมวิทยาศาสตร์โลก รุ่นเอสดีจีเอสเอที-1 (SDGSAT-1) ของจีน เปิดเผยว่าดาวเทียมเอสดีจีเอสเอที-1 ซึ่งถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศเมื่อไม่นานนี้ ได้ส่งภาพถ่ายการสำรวจระยะไกลชุดแรกกลับมายังโลกแล้ว
ดาวเทียมเอสดีจีเอสเอที-1 ใช้กล้องถ่ายภาพความร้อน กล้องถ่ายภาพแสงน้อย และกล้องมัลติสเปกตรัม บันทึกภาพเมืองและภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี ทะเลสาบน่ามู่ชั่วในเขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ้าง) ของจีน แคว้นอาเค่อซูในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีน และกรุงปารีสของฝรั่งเศส
ดาวเทียมเอสดีจีเอสเอที-1 เป็นดาวเทียมวิทยาศาสตร์อวกาศดวงแรกของโลก ที่มุ่งทำงานเพื่อวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2030 แห่งสหประชาชาติ (U.N. 2030 Agenda for Sustainable Development)
สถาบันฯ ระบุว่าดาวเทียมเอสดีจีเอสเอที-1 ถูกออกแบบเพื่อมอบข้อมูลการสังเกตการณ์อวกาศสำหรับการเฝ้าติดตาม ประเมินผล และศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และการพัฒนาที่ยั่งยืน
กล้องถ่ายภาพแสงน้อยสามารถสะท้อนระดับการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่ และรูปแบบการตั้งถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ โดยตรวจจับความเข้มและการกระจายของแสงตอนกลางคืน
กล้องมัลติสเปกตรัมสามารถตรวจจับดัชนีสีของน้ำและความโปร่งแสงของแหล่งน้ำขุ่นต่างๆ โดยสามารถใช้ข้อมูลมัลติสเปกตรัมวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของธารน้ำแข็ง หิมะที่กำลังละลาย และความครอบคลุมของพืชพรรณ
กล้องถ่ายภาพความร้อนสามารถสำรวจความเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวดินและอุณหภูมิของน้ำ รวมถึงการกระจายพลังงานความร้อนในเมือง โดยให้ข้อมูลพื้นฐานสำหรับการเพาะปลูกพืช การควบคุมศัตรูพืช และการควบคุมโรค
ทั้งนี้ ดาวเทียมเอสดีจีเอสเอที-1 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา
ที่มา : Xinhua