ประเด็นน่าสนใจ
- กรมวิทย์ฯ เผยสารสกัดช่อดอกกัญชาพันธุ์ไทยมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ
- เตรียมทดสอบความปลอดภัยในสัตว์ทดลองหรือระดับคลินิก
- สารสกัดกัญชามีความเป็นพิษต่อเซลล์ไตเพาะเลี้ยงสูงที่สุด รองลงมาเป็นเซลล์ตับเพาะเลี้ยง และเซลล์ปอดเพาะเลี้ยง ตามลำดับ
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยสนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งพืชกัญชาที่พบมีหลากหลายพันธุ์ โดยแต่ละพันธุ์มีสัดส่วนสารสำคัญแตกต่างกัน สารสำคัญในกัญชา ได้แก่ สาร THC และ CBD จัดอยู่ในกลุ่มสารแคนนาบินอยด์
นอกจากนี้ยังพบว่ากัญชามีสารออกฤทธิ์อื่นอีก เช่น กลุ่มฟลาโวนอยด์ เทอร์ปีนอยด์ อัลคาลอยด์ สเตียรอยด์ อัลเคน กรดไขมัน และน้ำตาล ซึ่งมีสัดส่วนของปริมาณสารแตกต่างกันในแต่ละพันธุ์ ทั้งนี้สาร THC และสารอนุพันธ์ของ THC มีคุณสมบัติทางยาที่หลากหลาย เช่น ฤทธิ์แก้ปวด โดยเฉพาะปวดจากโรคทางระบบประสาท กระตุ้นความอยากอาหารและลดอาการคลื่นไส้จากการใช้เคมีบำบัด ช่วยปกป้องและกระตุ้นการสร้างเซลล์สมอง ส่วนสาร CBD มีฤทธิ์บรรเทาอาการลมชัก ลดอาการวิตกกังวลช่วยให้นอนหลับได้ดี
กัญชาพันธุ์ไทย 4 พันธุ์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิจัยสมุนไพร ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนากัญชามาอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม โดยขึ้นทะเบียนกัญชาพันธุ์ไทย 4 พันธุ์ ได้แก่
- พันธุ์หางเสือสกลนครทีที 1
- พันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิ้ลยูเอ 1 (มีปริมาณ THC สูง)
- พันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที 1 (THC และ CBD ใกล้เคียงกัน)
- พันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1 (มีปริมาณ CBD สูง)
ทดสอบฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง
โดยได้นำสารสกัดช่อดอกกัญชาพันธุ์ไทยมาทำการทดสอบฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเพาะเลี้ยง 7 ชนิด ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งไต มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งสมอง และมะเร็งตับอ่อน ด้วยวิธีของไหลวิกฤตยิ่งยวด (Supercritical Fluid Extraction) ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถสกัดสารแคนนาบินอยด์ในกัญชาได้ดี ผลการทดลองพบว่าสารสกัดกัญชาที่มี THC 1 ส่วน ต่อ CBD 6 ส่วน มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านม (MCF-7) เซลล์มะเร็งไต (A-498) และเซลล์มะเร็งตับ (HepG2) ได้ดี
สารสกัดกัญชาที่มี THC 10 ส่วน ต่อ CBD 1 ส่วน มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งปอด (A-549) เซลล์มะเร็งลำไส้ (Caco-2) เซลล์มะเร็งสมอง (A-172) และมะเร็งตับอ่อน (PANC-1) ได้ดี เมื่อเทียบกับยาด็อกโซรูบิซิน (doxorubicin)
ส่วนสารสกัดที่มีสัดส่วน THC 2 ส่วน ต่อ CBD 1 ส่วน มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งแบบไม่มีความจำเพาะ และพบว่าสารสกัดดังกล่าวยังมีฤทธิ์ที่ดีในการสมานรอยแผลในเซลล์ปอดเพาะเลี้ยงในหลอดทดลอง
นอกจากนี้ยังได้วิจัยด้านพิษวิทยาในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดกัญชาไม่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ (Mutagenicity) ในเชื้อแบคทีเรีย แต่พบว่าสารสกัดกัญชามีความเป็นพิษต่อเซลล์ไตเพาะเลี้ยงสูงที่สุด รองลงมาเป็นเซลล์ตับเพาะเลี้ยง และเซลล์ปอดเพาะเลี้ยง ตามลำดับ
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวในตอนท้ายว่า ข้อมูลการวิจัยดังกล่าวมีการตีพิมพ์ในวารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว แสดงให้เห็นว่ากัญชาพันธุ์ไทยสามารถนำมาพัฒนาเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ แต่ต้องคำนึงถึงขนาดที่อาจก่อให้เกิดความเป็นพิษหรือผลกระทบต่อร่างกาย ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีแผนที่จะดำเนินการทดสอบความปลอดภัยของสารสกัดกัญชาในสัตว์ทดลอง หรือระดับคลินิกต่อไป สร้างความมั่นใจว่ามีประสิทธิผลและปลอดภัย เพื่อสนับสนุนการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์
ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์การแพย์