ประเด็นน่าสนใจ
- โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธรเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว
- คาดการณ์ว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่โครงข่ายระดับประเทศสูงสุด 45 เมกะวัตต์
- จะช่วยไทยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลง 47,000 ตันต่อปี
…
โครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร หนึ่งในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยขนาดเทียบเท่าสนามฟุตบอลมาตรฐาน 160 สนาม เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วเมื่อปลายเดือนตุลาคม นับเป็นก้าวย่างสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตามแผนของไทย
รายงานระบุว่าโครงการดังกล่าวตั้งอยู่ที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ก่อสร้างโดยบริษัท บี. กริม พาวเวอร์ จำกัด (B. Grimm Power) ของไทย ร่วมกับบริษัท ไชน่า เอเนอร์จี เอ็นจิเนียริง คอร์ป (China Energy Engineering Corp) ของจีน
โครงการนี้ผสมผสานโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่สร้างขึ้นใหม่กับโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีอยู่เดิม มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำกว่า 144,000 แผ่น บนพื้นที่ 120 เฮกตาร์ (ราว 750 ไร่) ภายในอ่างเก็บน้ำ โดยคาดการณ์ว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่โครงข่ายระดับประเทศสูงสุด 45 เมกะวัตต์
โรงไฟฟ้าแห่งนี้ออกแบบมาเพื่อผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์และกังหันน้ำของเขื่อน ช่วยเพิ่มความต่อเนื่องของการผลิตไฟฟ้า รวมถึงลดทอนความผันผวนและความไม่แน่นอนในกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมักมีปัจจัยด้านสภาพอากาศเข้ามาเกี่ยวข้อง
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เผยว่าโครงการฯ ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในตอนกลางวัน และจากพลังงานน้ำในตอนกลางคืน ส่งผลให้มีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น ขณะเมิ่งชุนเหว่ย รองหัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมระหว่างประเทศจากไชน่า เอเนอร์จี เอ็นจิเนียริง สาขาซานซี ระบุว่าโครงการฯ จะช่วยไทยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลง 47,000 ตันต่อปี
รัฐบาลไทยวางแผนเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคการบริโภคพลังงานเป็นร้อยละ 35 ภายในปี 2037 โดยหลังจากความสำเร็จของโรงไฟฟ้าไฮบริดแห่งนี้ กฟผ. ได้ประกาศแผนตั้งโครงการแบบเดียวกันเพิ่มอีก 15 แห่งทั่วประเทศ ด้วยเป้าหมายบรรลุกำลังการผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ตามแผนการพัฒนาพลังงานของไทยฉบับปัจจุบัน
บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการกฟผ. ระบุว่าโครงการฯ จะยกระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของไทย และส่งมอบพลังงานสะอาดเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน
กฟผ. ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมระหว่างดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว เช่น แผงโซลาร์เซลล์และทุ่นลอยที่ถูกบูรณาการในรูปแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในมุมฉาก เพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการใช้แสงอาทิตย์ผลิตพลังงานโดยไม่ส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อมใต้น้ำ
ด้านสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เผยว่าโครงการฯ ทำหน้าที่เป็นต้นแบบการขยายความมั่นคงด้านพลังงานหมุนเวียน และเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับนักวิชาการและประชาชนทั่วไปด้วย
นอกจากนั้นทางการท้องถิ่นเปิดเผยแผนการทำให้โรงไฟฟ้าไฮบริดแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมตั้งแต่ต้นปีหน้า ซึ่งจะมีบทบาทในการสร้างงาน สร้างเสริมรายได้ให้ประชาชนท้องถิ่น ตลอดจนกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่
ที่มา – ซินหัว