ยาต้านไวรัส ยาต้านไวรัสเอดส์ เอดส์

อภ. เตรียมยาต้านไวรัสเอดส์ นำร่องสถานพยาบาล 51 แห่ง เริ่ม 1 ม.ค.63

นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ปรับปรุงรายการบริการในสิทธิประโยชน์การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ก่อนการสัมผัสเชื้อ (Pre-Exposure Prophylaxis หรือ PrEP) กลุ่มเสี่ยงสูงทุกกลุ่ม ในพื้นที่มีความพร้อม…

Home / NEWS / อภ. เตรียมยาต้านไวรัสเอดส์ นำร่องสถานพยาบาล 51 แห่ง เริ่ม 1 ม.ค.63

ประเด็นน่าสนใจ

  • อภ. เตรียมยาต้านไวรัสเอดส์ พร้อมรองรับบริการ PrEP ป้องกันเอดส์ในกลุ่มเสี่ยง
  • เปิดให้บริการนำร่องในสถานพยาบาล 51 แห่ง ใน 1 มค. 63 นี้
  • ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณปีละ 6,300 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 15 ราย  

นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ปรับปรุงรายการบริการในสิทธิประโยชน์การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ก่อนการสัมผัสเชื้อ (Pre-Exposure Prophylaxis หรือ PrEP) กลุ่มเสี่ยงสูงทุกกลุ่ม ในพื้นที่มีความพร้อม

โดยเปิดให้บริการนำร่องในสถานพยาบาล 51 แห่ง ใน 21 จังหวัดให้บริการ PrEP ด้วยยา TENO-EM สำหรับกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 2,000 ราย ด้วยงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยองค์การฯ ได้มีการจัดเตรียมยา TENO-EM ไว้พร้อมสำหรับการบริการป้องกันการติดเชื้อ HIV ก่อนการสัมผัสเชื้อ

ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การให้บริการ PrEP เป็นการให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวี ก่อนมีการสัมผัส (Pre-Exposure) ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อป้องกัน (Prophylaxis) การติดเชื้อเอชไอวีจากการสัมผัส เพื่อนำยาเข้าสู่กระแสเลือดและเนื้อเยื่อต่างๆให้มีระดับเพียงพอก่อนสัมผัสเชื้อเอชไอวี  

ปัจจุบันมีวิธีในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้ถุงยางอนามัย การใช้เข็มที่สะอาด การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย การป้องกันเอชไอวีจากแม่สู่ลูก การคัดกรองและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น ซึ่งการที่จะสามารถยุติปัญหาการเพิ่มปริมาณของผู้ป่วยเอชไอวีได้ทางหนึ่ง คือ การให้ผู้ป่วยใช้ยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัสเชื้อ ซึ่งเป็นการป้องกันการติดเชื้อด้วยยาต้านไวรัสก่อนการได้รับเชื้อ (Pre-Exposure Prophylaxis) หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า PrEP (เพร็พ) เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี

โดยการกินยาต้านไวรัสทุกวันก่อนสัมผัสเชื้อ จะทำให้มีประสิทธิผลทำให้ในการลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในผู้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวี  โดยพบสูงถึง 92% หากมีการกินยาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณปีละ 6,300 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 15 ราย  

องค์การฯ ได้คิดค้น วิจัย และผลิตยา TENO-EM  เป็นยาต้านไวรัสเอดส์สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยเอดส์ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 และจนปี 2561 ยา TENO-EM ได้รับอนุมัติข้อบ่งใช้ เรื่องการป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี/เอดส์ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และได้มีสถานพยาบาลบางแห่งได้เริ่มเปิดให้บริการยา TENO-EM กับกลุ่มเสี่ยงต่างๆในข้อบ่งใช้การป้องกันการติดเชื้อ เอชไอวี  

ยา TENO-EM ใน 1 เม็ดประกอบด้วยยา 2 ชนิดรวมกัน คือ Tenofovir disoproxil fumarate 300 มิลลิกรัม และ Emtricitabine 200 มิลลิกรัม  กลุ่มเสียงรับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดควรรับประทานอย่างต่อเนื่องก่อนสัมผัสเชื้อประมาณ 7 วัน ยาเพร็พ (PrEP) ออกฤทธิ์นาน ไม่มีข้อจำกัดเรื่องอาหาร มีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นน้อย มีความปลอดภัย สามารถใช้ในสตรีมีครรภ์ได้ มีประสิทธิผลในการป้องกันเอชไอวีในทุกกลุ่ม ขึ้นอยู่กับว่ากินยาได้สม่ำเสมอเพียงใด นับเป็นสูตรยาต้านเอชไอวีที่แนะนำเป็นสูตรแรกและสูตรทางเลือก

บางกรณีหลังจากทานยาแล้วอาจพบอาการข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ ปวดหัว ปวดท้อง น้ำหนักลด ซึ่งอาการจะดีขึ้นหรือหายไปหลังจากเดือนแรก จึงไม่ต้องกังวล และเพื่อความมั่นใจว่าไม่มีการติดเชื้ออย่างแน่นอน สามารถทานต่อเนื่องอย่างน้อย 4 สัปดาห์ หลังความเสี่ยงครั้งสุดท้ายแล้ว ก็สามารถหยุดทานยาได้ โดยให้ตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีก่อนหยุดยา PrEP ทุกครั้ง และหากมีพฤติกรรมเสี่ยงให้รีบกลับมาตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีซ้ำ

องค์การเภสัชกรรมไม่หยุดยั้งในการคิดค้น วิจัย และพัฒนาตัวยาต้านไวรัสเอดส์ใหม่ๆให้ทันต่อสถานการณ์การรักษาที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น และสามารถพึ่งพาตนเองด้านยาของประเทศ