ชิ้นส่วนฟอสซิลกระดูกสัตว์โบราณ อาทิ กะโหลกขนาดใหญ่ ขากรรไกรล่าง ฟันซี่ยาวคดเคี้ยว ซี่โครง และกระดูกสันหลัง ถูกจัดวางเรียงรายเป็นระเบียบภายในกล่องเปิดสี่เหลี่ยม ณ ศูนย์บรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังของมหาวิทยาลัยมานซูรา (MUVP) ในจังหวัดดาคาห์เลียทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์
ฟอสซิลกระดูกสัตว์เหล่านี้เป็นของวาฬ 4 ขาสะเทินน้ำสะเทินบกอายุ 43 ล้านปี ซึ่งขุดพบจากหินในแอ่งไฟยุม (Fayum Depression) บริเวณทะเลทรายตะวันตกของอียิปต์ โดยการค้นพบดังกล่าวถือเป็นความคืบหน้าทางวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญในแวดวงบรรพชีวินวิทยาและสัตววิทยา ซึ่งช่วยเรียงร้อยเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของวาฬยุคแรกที่อพยพจากผืนแผ่นดินลงสู่ทะเล
ฮีชาม ซัลลัม ผู้ก่อตั้งศูนย์ฯ และศาสตราจารย์ด้านบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังของมหาวิทยาลัยอเมริกันในกรุงไคโร ระบุว่า “ซากฟอสซิลนี้เป็นของวาฬสกุลและสายพันธุ์ใหม่ มันมีลักษณะทางกายวิภาคต่างจากสายพันธุ์อื่นที่มนุษย์รู้จักก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง”
ซัลลัมระบุว่าศูนย์ฯ เรียกขานวาฬโบราณว่า “ไฟออมิเซตัส อะนูบิส” (Phiomicetus anubis) โดยชื่อสกุล “ไฟออมิเซตัส” ตั้งขึ้นตามแอ่งไฟยุม (Fayum Depression) ขณะชื่อสายพันธุ์ “อะนูบิส” สื่อถึงเทพเจ้าอียิปต์โบราณหัวสุนัขนามอะนูบิส ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมัมมี่และชีวิตหลังความตาย
“นี่เป็นครั้งแรกที่เราพบวาฬสะเทินน้ำสะเทินบกสกุลและสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นตัวแทนความเชื่อมโยงระหว่างวาฬที่เคยอาศัยอยู่บนบกกับวาฬในทะเลและมหาสมุทรยุคปัจจุบัน” ซัลลัมกล่าว
ด้านอับดุลลาห์ โกฮาร์ นักวิจัยประจำศูนย์ฯ และนักวิจัยอาวุโสผู้ศึกษาการค้นพบดังกล่าว ซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารโพรซีดดิงส์ ออฟ เดอะรอยัล โซไซตี บี (Proceedings of the Royal Society B) เมื่อไม่นานนี้ กำลังสาละวนอยู่กับการกู้คืนฟอสซิลวาฬโบราณยุคดึกดำบรรพ์
โกฮาร์เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่าทีมผู้เชี่ยวชาญอาหรับหรืออียิปต์มีโอกาสตั้งชื่อสกุลและสายพันธุ์ใหม่ของวาฬที่ทั่วโลกไม่เคยรู้จักมาก่อนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยการศึกษาฟอสซิลบ่งชี้ว่าวาฬตัวนี้ยาว 3 เมตร หนัก 600 กิโลกรัม พร้อมอวดภาพจำลองวาฬ 4 ขาแบบลงสีแก่ซินหัวด้วย
ทั้งนี้ ฟอสซิลวาฬโบราณค้นพบโดยคณะสำรวจที่นำโดยโมฮาเหม็ด ซาเมห์ เจ้าหน้าที่สำนักงานกิจการสิ่งแวดล้อมของอียิปต์ ซึ่งเป็นผู้เขียนการศึกษาร่วม ก่อนจะส่งต่อเรื่องไปยังศูนย์ฯ เพื่อการศึกษาเพิ่มเติม
นักศึกษาด้านธรณีวิทยาบางคนจากคณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมานซูรา ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ฯ มักแวะเวียนไปเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการภายในศูนย์ฯ และช่วยเหลือเหล่านักบรรพชีวินวิทยาขณะทำงานเกี่ยวกับฟอสซิล โดยอาห์เหม็ด อัชราฟ นักศึกษาวัย 19 ปี เผยความรู้สึกว่า “ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาฝึกงานที่ศูนย์ฯ และหวังว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์กับศูนย์แห่งนี้ในอนาคต”
ด้านอุซามา เอล-อายาน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ เผยว่ารัฐและมหาวิทยาลัยสนับสนุนการวิจัยของคณะฯ อย่างเต็มที่ และกล่าวทิ้งท้ายว่ามหาวิทยาลัยมานซูราถือเป็นมหาวิทยาลัยด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อันดับหนึ่งของอียิปต์
ที่มา – ซินหัว