ประเด็นน่าสนใจ
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการประเด็นพบ “สายพันธุ์ย่อยของเดลตาในไทย”
- ในประเทศไทยขณะนี้พบ 4 ตัว มีผู้ติดเชื้อ 7 รายในปทุมธานี-กทม.
- ผู้ป่วยอยู่ระหว่างสังเกตอาการ และเฝ้าระวังจำนวนผู้ติดเชื้อว่ามีการแพร่ระบาดมากน้อยอย่างไร
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวผ่านทางระบบออนไลน์ ประเด็นการเฝ้าระวังสายพันธุ์และการกลายพันธุ์โควิด 19 โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประเด็นพบ “สายพันธุ์ย่อยของเดลตาในไทย” โดย ศ.เกียรติคุณ ดร. วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โดยดร. วสันต์ เผยว่า ทั่วโลกมีการจัดระเบียบสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด -19 และมีการศึกษาวิวัฒนาการของไวรัสเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงแต่ละตำแหน่งดูการกลายพันธุ์เรื่อยๆ พบว่าเชื้อเดลตากลายพันธุ์หลุดออกมากกว่า 60 ตำแหน่ง จาก 30,000 ตำแหน่ง ซึ่งการที่มีกลายพันธุ์จำนวนมากก็จะทำให้มีการแพร่ระหว่างคนสู่คนมากนั่นเอง
โควิด-19 สายพันธุ์เดลตานอกจากจะมีสายพันธุ์หลักเป็น B.1.617.2 ยังกระจายตัวแตกเป็นสายพันธุ์ ย่อยอีกถึง 27 สายพันธุ์และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆคือ B.1.617.2.1 – B.1.617.2.22 หรือเรียกสั้นๆว่า AY.1 – AY.22
สำหรับข้อมูลเฉพาะประเทศไทย พบสายพันธุ์ย่อยดังนี้
- AY.4 หรือ B.1.617.2.4 (สายพันธุ์ย่อยของเดลตา) 3% พบในเขตปทุมธานี จำนวน 4 ราย
- AY.6 หรือ B.1.617.2.6 (สายพันธุ์ย่อยของเดลตา) <1% พบในประเทศไทย พบ 1 คน
- AY.10 หรือ B.1.617.2.10 (สายพันธุ์ย่อยของเดลตา) <1% พบในเขต กทม.พบ 1 คน
- AY.12 หรือ B.1.617.2.15 (สายพันธุ์ย่อยของเดลตา) <1% พบในเขต กทม. พบ 1 คน
ส่วนที่มีความกังวลว่า ทั้ง 4 สายพันธุ์ย่อยนี้มีโอกาสจะมีกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์หลักต่อไปไหม นพ.ศุภกิจ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตอบว่า “อันนี้ต้องติดตามดู เรายังถอดรหัสพันธุกรรมตลอดเวลา เดี๋ยวข้อมูลจะบอกเราเอง ต้องจับตาดูเพิ่มเติม”
ทั้งนี้ ผู้ป่วยอยู่ระหว่างสังเกตอาการ และเฝ้าระวังจำนวนผู้ติดเชื้อว่ามีการแพร่ระบาดมากน้อยอย่างไร ยังไม่สามารถระบุได้ว่าสายพันธุ์ดังกล่าวหลบเลี่ยงภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีนได้หรือไม่ โดยทางเจ้าหน้าที่กำลังการเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต พร้อมย้ำว่า ยังไม่ใช่สายพันธุ์ไทย
ข้อมูล : Mono29 News – ข่าวโมโน29