ประเด็นน่าสนใจ
- ก่อนหน้านี้ สธ.เตรียมพิจารณาออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย
- ’อนุทิน’ ชี้แจงว่า พ.ร.ก.ดังกล่าว เป็นการสร้างความมั่นใจผู้ปฏิบัติงานโควิดไม่ถูกฟ้องร้อง
- ล่าสุดทางกลุ่มภาคีเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ ได้ออกมาเรียกร้องคัดค้าน พ.ร.ก.นิรโทษกรรมวัคซีน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเพจเฟซบุ๊ก Nurses Connect หรือกลุ่มภาคีเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ ได้โพสต์ข้อความ ภายหลังทางกระทรวงสาธารณสุขเตรียมพิจารณาออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. … โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า พ.ร.ก.ดังกล่าว เป็นการสร้างความมั่นใจผู้ปฏิบัติงานโควิดไม่ถูกฟ้องร้อง โดยทางเพจระบุว่า
คัดค้าน พ.ร.ก.นิรโทษกรรมวัคซีน
จากสถานการณ์ในวันนี้ เราพบว่าประเทศไทยนั้นมีจำนวนผู้ติดเชื้อต่อประชากรสูงเป็นอันดับ2ในอาเซียน แต่สวนทางกับจำนวนการระดมฉีดวัคซีน ที่ฉีดวัคซีนเข็ม1 ไปได้เพียง 24% ของประชากรเท่านั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือผลลัพธ์ที่ล้มเหลวอันเป็นผลมาจากมาตรการการจัดการกับการระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาล เป็นความล้มเหลวในการจัดสรรวัคซีนของคณะกรรมการจัดสรรวัคซีน และกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำให้ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนอยู่ในภาวะวิกฤต ประชาชน 6,259 รายเสียชีวิต
เนื่องจากไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างเหมาะสม และมีประชาชนอีกจำนวนมากต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก ในด้านของระบบสาธารณสุขนั้น โรงพยาบาลไม่มีอุปกรณ์และสถานที่เพียงพอในการรองรับผู้ติดเชื้อ ซึ่งหากพิจารณาตามบทบาทหน้าที่และจากผลงานในการบริหารจัดการโรคระบาดและวัคซีนของรัฐบาลแล้ว ก็เห็นสมควรว่าคนที่จะต้องรับผิดชอบเนื่องจากเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความล้มเหลวในระบบสาธารณสุข จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศบค. และคณะกรรมการจัดสรรวัคซีน
แต่ทว่า กลับมีกระแสข่าวออกมาว่ามีการเตรียมออก พรก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งในวันนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูลได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในกรณีนี้ อันเป็นการยืนยันว่า พรก.นั้น จะเกิดขึ้นจริง โดยมีเนื้อหาใจความว่า
“กฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้รับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการ การจัดบริการทางแพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานโควิด-19 ทั้งหมด ได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ในภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยไม่ต้องกังวลกับความรับผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยเจตนาดีของผู้ปฏิบัติงาน หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม บุคลากรดังกล่าวก็ไม่ต้องรับผิด รวมถึงหากผู้ที่ได้รับมอบหมายในการเจรจาหรือจัดหาวัคซีนมีเจตนาสุจริต การตัดสินใจดำเนินการเป็นไปตามหลักวิชาการที่สนับสนุนในขณะนั้น กฎหมายนี้จึงเห็นควรให้ความคุ้มครองบุคคลหรือคณะบุคคลเหล่านั้นด้วย ซึ่งเป็นขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนที่เตรียมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ยังไม่ได้มีการเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด”
“ร่างกฎหมายนี้เป็นการให้ความมั่นใจกับผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ให้คลายความกังวล เช่น การวินิจฉัยโรคและรักษาพยาบาล ก็ต้องทำความมั่นใจว่าเขาจะได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องของการฟ้องร้อง หากทำโดยเจตนาสุจริต ศาลก็ไม่เคยลงโทษ เราไม่ต้องการให้บรรดาแพทย์ พยาบาล มีความวิตกกังวลหากถูกฟ้องร้อง แม้จะมั่นใจว่าชนะก็ยังมีความวิตกกังวลระดับหนึ่ง เราต้องการให้แพทย์ พยาบาล มีขวัญกำลังใจเต็มที่ จะได้ทุ่มเทในการรักษาพยาบาล วัคซีนก็ต้องจัดหาเข็มสามเพื่อความปลอดภัยในการไปรักษาคนไข้ มีความกังวลให้น้อยที่สุด สุดท้ายประชาชน คนไข้ก็ได้ประโยชน์” นายอนุทินกล่าว
จากร่างพรก.ดังกล่าว คลับคล้ายคลับคลาว่านี่คือการ “นิรโทษกรรมสุดซอย ให้กับบุคคลที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้การสาธารสุขล้มเหลว จนประชาชนล้มตายกว่า 6 พันคน”
ซึ่งหากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์จะพบว่าประเทศไทยนั้นเคยออก พรก.และพรบ.นิรโทษกรรม ซึ่งมักจะเป็นการนิรโทษกรรมทางการเมืองหลังการทำรัฐประหารแล้วถึง 22 ครั้ง และล่าสุดเหตุการณ์ที่เรายังจำกันได้ดีคือ พรบ.นิรโทษกรรม-ปรองดองแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ที่ถูกเสนอเข้ารัฐสภา 6 ฉบับเมื่อปี 2555 ซึ่งสุดท้ายนั้นถูกถอนไปในปี 2556
ในแง่ดี การนิรโทษกรรม หรือ การยกเลิกความผิดทั้งหลายที่ได้กระทำผ่านมา ไม่เพ่งเล็งจะจับตัวบุคคลมาลงโทษให้เข็ดหลาบ เสมือนหนึ่งว่าเป็นการให้อภัยซึ่งกันและกัน เรื่องที่แล้วมาแล้วก็ให้แล้วต่อกันไป อาจสร้างบรรยากาศการความสมานฉันท์ขึ้นในสังคม เอื้อต่อการหันหน้ามาพูดคุยกัน แล้วเริ่มต้นกันใหม่อย่างสร้างสรรค์
แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมจะทำให้การกระทำที่ผ่านมาไม่เป็นความผิดโดยสมบูรณ์ ไม่สามารถกลับมาลงโทษตามความผิดที่เกิดขึ้นได้อีกเลย ไม่สามารถจะรื้อฟื้นกระบวนการหาตัวผู้กระทำความผิดและกระบวนการตามหาความจริงกลับขึ้นมาได้อีก ไม่ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
(อ้างอิง: การนิรโทษกรรมกับสังคมไทย – ilaw เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553)
แต่ในครั้งนี้นั้นแตกต่างออกไปตรงที่เป็นการนิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่มิได้เป็นผู้ชุมนุมทางการเมือง หากแต่เป็นการนิรโทษกรรมที่จงใจให้ผลประโยชน์กับตัวบุคคลที่บริหารงานบ้านเมืองในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดโรคระบาดได้อย่างล้มเหลว ทำให้พวกเขาไม่ต้องแบกรับความผิดจากผลการกระทำ เขากำลังจะทำให้ตัวเองปลอดมลทิน โดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรจากการบริหารจนระบบสาธารณสุขล้มเหลวแบบนี้
หยุดอ้างว่านี่คือการปกป้องคนทำงาน หยุดอ้างว่านี่คือการให้กำลังใจบุคลากรด่านหน้า เพราะบุคลากรด่านหน้า และอาสาสมัครต่างๆ ทำงานเต็มที่โดยอยู่บนมาตรฐานวิชาชีพอย่างสูงสุดเท่าที่สถานการณ์จะเอื้อให้ทำได้ หากท่านต้องการให้กำลังใจ จงรีบจัดสรรวัคซีน mRNA ให้พวกเขาทุกคน ไม่ใช่ต้องมากระเบียดกระเสียนเช่นนี้
และพวกท่านทั้งหลายจงหยุดอ้างว่าทั้งหมดเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่พวกท่านจงระลึกว่าเพราะการทำงานของพวกท่านนั่นเองที่นำพาประเทศและการสาธารณสุขให้ดิ่งลงเหวมาจนถึงจุดนี้ และพวกท่านนั่นแหละต้องรับผิดชอบกับการกระทำของตนเอง!
#คัดค้านพรกนิรโทษกรรมวัคซีน
ประชาชนทุกคนสามารถลงชื่อเพื่อคัดค้านพรก.ฉบับนี้ได้ที่ Change.org/AmnestyBill
ที่มา : Nurses Connect