กิตติเดช ลัทธิ ข่าวสดวันนี้ ลาว วิศวกรไทย

1 ปีที่ไม่ได้กลับบ้าน ! เปิดปม ‘วิศวกรไทย’ ถูกขังในค่ายกักกันที่ลาว

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งข่าวที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง จากกรณีนายกิตติเดช ลัทธิ วัย 48 ปี พลเมืองชาวไทย ที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งประกอบอาชีพวิศวกร อยู่ที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ติด Top 5 ใน สปป.ลาว โดยทำหน้าที่ดำเนินการสร้างเขื่อนที่ปัจจุบันได้มีการเปิดใช้งานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว…

Home / NEWS / 1 ปีที่ไม่ได้กลับบ้าน ! เปิดปม ‘วิศวกรไทย’ ถูกขังในค่ายกักกันที่ลาว

ประเด็นน่าสนใจ

  • เมื่อ 1 ปีที่แล้ว นายกิตติเดช ลัทธิ วิศวกรชาวไทยที่เดินทางไปทำงานอยู่ในบริษัทรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของ สปป.ลาว แต่ถูกจับกุมที่ด่านตำรวจตรวจคนเข้าเมืองขณะเดินทางกลับมาประเทศไทย เนื่องจากทางบริษัทที่นายกิตติเดชทำงานให้ได้แจ้งความเอาผิด
  • แม้ว่า จะยังไม่มีการชี้มูลความผิดที่แน่ชัด และศาลจะยังไม่ตัดสินว่านายกิตติเดช มีความผิดจริง แต่ขณะนี้นายกิตติเดช ยังคงถูกกักขังอยู่ที่ค่ายกักกันชาวต่างชาติใน สปป.ลาวจนถึงทุกวันนี้
  • ภรรยา และที่ปรีกษาทางกฎหมาย พยายามเดินหน้ายื่นเรื่องขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานต่าง ๆ แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งข่าวที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง จากกรณีนายกิตติเดช ลัทธิ วัย 48 ปี พลเมืองชาวไทย ที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งประกอบอาชีพวิศวกร อยู่ที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ติด Top 5 ใน สปป.ลาว โดยทำหน้าที่ดำเนินการสร้างเขื่อนที่ปัจจุบันได้มีการเปิดใช้งานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หลังจาก นายกิตติเดช ทำงานในประเทศเพื่อนบ้านมาได้กว่า 5-6 ปี ชีวิตการทำงานที่ดูเหมือนจะเรียบง่ายและปกติสุขดีของนายกิตติเดช กลับเปลี่ยนแปลงไป เมื่อครั้งที่นายกิตติเดช ได้เดินทางมาเพื่อศึกษาต่อที่จังหวัดโคราชตามปกติเหมือนทุก ๆ สัปดาห์ เขากลับถูกกักตัวไว้ที่ด่านตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของฝั่งลาว และถูกเจ้าหน้าที่กักตัวไว้ ยังไม่ได้รับอิสระภาพจนถึงทุกวันนี้

นายกิตติเดช ลัทธิ

นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นระยะเวลานานกว่า 1 ปี 1 เดือนแล้ว ที่นายกิตติเดชพลเมืองชาวไทย ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใน ค่ายกักตัวโพนต้อง ซึ่งเป็นค่ายกักกันชาวต่างชาติ ที่มีสภาพแวดล้อมไม่ต่างจากเรือนจำทั่ว ๆ ไป เพื่อรอให้ฝ่ายตำรวจและอัยการของ สปป.ลาว ไปแสวงหาพยานหลักฐานมาเอาผิด จนเป็นที่คาดเดาได้ยากว่าคดีนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด

ทั้งนี้ทีมข่าว Mthai ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ทนายปีเตอร์ พีรภัทร ทองธีรสกุล ที่ปรึกษาของ นางสาวขวัญตา ลัทธิ วัย 47 ปี ภรรยาของนายกิตติเดช ซึ่งเป็นผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องความเป็นธรรมในกรณีการถูกกักตัวของนายกิตติเดชมานานกว่า 1 ปี

ทนายปีเตอร์ พีรภัทร ทองธีรสกุล

ประเด็นสำคัญ !!

สำหรับประเด็นสำคัญในกรณีนี้คือ ก่อนหน้านี้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่า ตามกฎหมายทางการ สปป.ลาว จะมีอำนาจควบคุมตัวคุณกิตติเดชได้เป็นระยะเวลา 1 ปีเพื่อหาพยานหลักฐาน หากเกินกว่านั้นจะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาเป็นอิสระ

แต่ในขณะนี้นายกิตติเดชถูกควบคุมตัวในค่ายกักกันมาเป็นเวลากว่า 1 ปี 1 เดือน 5 วัน แล้ว และขณะนี้เอง ศาลก็ยังไม่รับฟ้อง เพราะคดีนี้ ยังไม่มีหลักฐานมากเพียงพอ ที่จะเอาผิดต่อผู้ต้องหา จึงมีการตั้งคำถามว่า กรณีนี้จะเข้าข่ายละเมิดสิทธิพลเมืองไทยหรือไม่อย่างไร ?

นายกิตติเดช เป็นใคร

จากการพูดคุยกับทนายปีเตอร์ ทนายที่ปรึกษาของภรรยาของนายกิตติเดช ได้เปิดเผยว่า นายกิตติเดชประกอบอาชีพวิศวกร ได้เดินทางไปทำงานให้กับบริษัทกลุ่ม บริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ระดับประเทศแห่งหนึ่งที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ตั้งแต่ปี 2557 โดยทนายปีเตอร์เล่าด้วยว่า นายนายกิตติเดชเป็นผู้ที่ได้รับความโปรดปรานจากประธานบริษัท และได้รับค่าจ้างถึงเดือนละ 160,000 บาท ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก นอกจากนี้นายกิตติเดชยังได้รับรถยนต์ BMW ประจำตำแหน่งไว้ใช้งานอีก 1 คัน

ต่อมาในเดือน ต.ค. 2561 นายกิตติเดชถูกทางบริษัทแจ้งความกล่าวหาว่าฉ้อโกงเนื่องจากทำงานผิดพลาด เมื่อทาง นางสาวขวัญตา ลัทธิ ภรรยาของผู้ต้องหา เดินเรื่องตามกระบวนการขั้นตอน ทั้งสอบถามตำรวจฝั่งลาวไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าสามีกระทำความผิดข้อหาอะไร แต่กลับถูกกักตัวไว้ที่ค่ายกักตัวโพนต้อง ค่ายกักกันสำหรับชาวต่างชาติที่ตั้งอยู่ทางฝั่งลาว เป็นเวลานานกว่า 1 ปีแล้ว

นายกิตติเดช ลัทธิ

ก่อนหน้านี้ ทางฝ่ายที่มีการดำเนินคดีกับนายกิตติเดช เคยมีการแจ้งค่าเสียหายจำนวน 1,750,000 บาท ซึ่งทางครอบครัว ได้ขอยื่นคำร้องขอประกันตัวตามจำนวนเงินดังกล่าว แต่ไม่ได้รับการพิจารณา

สำหรับเรื่องราวในกรณีของนายกิตติเดชนั้น มีทนายชาวไทยคนหนึ่งคอยให้ความช่วยเหลือ และได้เผยแพร่เรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ไว้ดังนี้

  • 20 ตุลาคม 2561

นายกิตติเดช ลัทธิ  ถูกจับกุมตัวโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา และถูกนำตัวไปกักไว้ที่ ตม. ลาว โดยในช่วงบ่ายของวันเดียวกันทนายความของนายกิตติเดชจึงได้รับแจ้งทางวาจาว่า นายกิตติเดช ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานฉ้อโกงพลเมือง

  • 22 ตุลาคม 2561

ผู้ร้องฯไปร้องขอความช่วยเหลือที่สถานกงสุลไทย ณ เวียงจันทน์ ร้องขอให้ออกไปช่วยเหลือ แต่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่กงสุลไทย แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ

 

  • 26 ตุลาคม 2561 – 24 กุมภาพันธ์ 2562

นายกิตติเดช ถูกกักขังด้วยคำสั่งกักขังย้อนหลัง อันเป็นการออกคำสั่งกักขังย้อนหลังจนถึงปัจจุบัน

  • 19 กันยายน 2562

หลังจากไม่สามารถเอาผิดนายกิตติเดชในข้อหาเดิมได้ จึงมีการเปลี่ยนข้อกล่าวหาและสั่งฟ้องอย่างเร่งรีบภายในระยะเวลาเพียง 3 วัน โดยกล่าวอ้างเอาสำนวนเดิมในข้อหาเดิมมาใช้กับข้อหาใหม่เป็นข้อกล่าวหาใหม่ ฐานเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหาย และศาลได้รับเรื่องข้างต้นแล้วเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2562 โดยไม่มีการสอบสวนถึงพฤติการณ์และองค์ประกอบความผิดในคดีและความเสียหายที่เกี่ยวข้อง

จากนั้น ผู้ร้องฯและทนายความได้ร้องขอความช่วยเหลือต่อสถานฑูตไทย ประจำ สปป. ลาว ต่อท่านอธิบดีกรมการกงสุล และต่อฯพณฯท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งพบด้วยตนเองและยื่นหนังสือร้องขอความช่วยเหลือจำนวนหลายครั้ง

  • กันยายน 2562

ภายหลังที่มีการร้องขอความช่วยผ่านสื่อเมื่อ 1 ก.ย. 2562  เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยใน สปป.ลาว ได้เข้าพบอัยการสูงสุด สปป.ลาว เพื่อย้ำข้อห่วงกังวลกรณีที่นายกิตติเดช ถูกควบคุมตัวเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี 1 เดือน โดยอัยการยังไม่ได้ส่งเรื่องฟ้องศาล ซึ่งอัยการสูงสุดของ สปป.ลาว ชี้แจงว่า ทางการลาวมีอำนาจควบคุมตัวนายกิตติเดช ตามกฎหมายได้เป็นระยะเวลา 1 ปี

โดยหากไม่พบว่ากระทำความผิดก็จะปล่อยตัว แต่หากพบว่ากระทำความผิดและมีหลักฐานเพียงพอ อัยการก็จะส่งเรื่องฟ้องศาลตามกระบวนการยุติธรรมของ สปป.ลาวต่อไป

  • 13 กันยายน 2562

ผู้ร้องฯ ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังฯพณฯท่านนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ผ่านกระทรวงการต่างประเทศของไทย และเดินทางไปยื่นด้วยตนเองอีก 1 ฉบับ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2562

  • ตุลาคม 2562

มีการเดินเรื่องเพื่อให้มีการเร่งรีบพิจารณาให้ความช่วยเหลือนายกิตติเดช ด้วยวิธีการเจรจาทางการทูตชั้งสูงสุดระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล และร้องขอให้พิจารณานำทีมทนายความของนายกิตติเดชที่ สปป. ลาว เข้าร่วมการเจรจาเพื่ออธิบายในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • 5 พฤศจิกายน 2562

ผู้ร้องฯเข้าพบ ฯพณฯท่าน เอกอัครราชทูตไทย ประจำ สปป. ลาว เพื่อยื่นหนังสือสอบถามถึงการร้องขอความช่วยเหลือ

  • 6 พฤศจิกายน 2562

ศาลประชาชนเขตนครหลวงเวียงจันทน์ได้มีคำสั่งส่งสำนวนกลับคืน เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะรับฟ้องได้

  • 12 พฤศจิกายน 2562

ผู้ร้องฯได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ฯพณฯท่านชวน หลีกภัย ผ่านเลขานุการฯคุณแทนคุณ จิตต์อิสระ

ทนายปีเตอร์เผย ผู้ร้องฯได้ร้องขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ดังต่อไปนี้

  1. สถานทูตไทย ประจำ สปป.ลาว จำนวน 18 ฉบับ
  2. กระทรวงการต่างประเทศ จำนวน 13 ฉบับ
  3. นายกรัฐมนตรี จำนวน 11 ฉบับ
  4. ผู้ตรวจการแผ่นดิน จำนวน 14 ฉบับ
  5. สำนักงานอัยการสูงสุด จำนวน 4 ฉบับ
  6. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จำนวน 2 ฉบับ
  7. องค์การสหประชาชาติ จำนวน 4 ฉบับ
  8. สำนักพระราชวัง จำนวน 1 ฉบับ

บริษัทคู่กรณีเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ไม่ธรรมดา !

สำหรับบุคคลที่เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีต่อนายกิตติเดช ลัทธิ เป็นบุคคลระดับสูงในบริษัทรับเหมาก่อสร้างใน สปป.ลาว ที่นายกิตติเดชทำงานให้  ซึ่งบริษัทนี้ถือว่าเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ติด Top 5 ในสปป.ลาว ครั้งหนึ่ง บริษัทนี้ยังเคยปรากฏชื่อผ่านสื่อว่าเป็นบริษัทต่างประเทศ ที่ทางการไทยรับซื้อไฟฟ้า ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากต่างประเทศอีกด้วย

ทนายตั้งข้อสังเกตปมความขัดแย้งที่นำไปสู่การดำเนินคดี

ทนายปีเตอร์ ทนายที่ปรึกษาภรรยาของนายกิตติเดช ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีในการทำงานที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ในลาวแห่งนี้ ของนายกิตติเดช นั้นไม่มีความขัดแย้งใด ๆ กับใคร และยังมีความสัมพันธ์อันดีต่อประธานบริษัทคนเก่าอย่างมาก นอกจากจะได้รับเงินเดือนที่สูงลิ่ว นอกจากนี้บริษัทยังมีการยกรถ BMW ให้นายกิตติเดชใช้อีก 1 คัน

ซึ่งนางสาวขวัญตา ลัทธิ ภรรยาของนายกิตติเดช ได้ตั้งข้อสงสัยว่า จากกรณีที่นายกิตติเดชได้รับความเอ็นดูจากทางบริษัท อาจทำให้มีบุคคลไม่พอใจ จนกระทั่งคิดหาวิธีที่จะกลั่นแกล้ง

 

ท้ายที่สุดนี้ ในคดีดังกล่าว ยังมีปริศนาอยู่หลายประการ ทั้งยังเป็นประเด็นที่ชาวไทยเริ่มหันมาให้ความสนใจ เนื่องจากผู้ที่ถูกกักกันตัวอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านรายนี้  ก็ถือเป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่ง แต่ก็เป็นการยากที่สังคมจะรับรู้ได้ว่า ผู้ที่ไร้อิสรภาพรายนี้ทำผิดจริงหรือไม่ เพราะเจ้าตัวเองก็ไม่อาจที่จะเปิดปากชี้แจงถึงความจริงหรือออกมาหาหลักฐานในการสู้คดีใด ๆ ได้ นอกจากนี้ยังไม่มีการชี้มูลถึงความผิดที่แน่ชัดจากทางฝั่งผู้ดำเนินคดี ทำให้สังคมยังคงได้แต่สงสัยว่าบทสรุปในคดีนี้จะจบลงเช่นใด.