ประเด็นน่าสนใจ
- เกิดข่าวสาวพริตตี้วัย 30 ปี ถูกเสี่ยท็อปชายที่อ้างตัวเป็นนักธรุกิจหลอกให้แต่งงาน แต่หลังจากสิ้นสุดงานแต่งงานกลับบ่ายเบี่ยงที่จะชำระเงินค่าจัดงานแต่ง โดยทิ้งหนี้ให้ฝ่ายหญิงรับผิดชอบมากกว่า 3.5 ล้านบาท
- มีการค้นประวัติเสี่ยท็อปพบว่าเคยเป็นพ่อค้าขายเห็ดทอดอยู่ในตลาดนัดที่จังหวัดปทุมธานี
- เสี่ยท็อปมักโพสต์ภาพแสดงให้เห็นถึงการใช้ชีวิตอันหรูหรา ทั้งการนั่งเครื่องบินส่วนตัว ขับรถหรู และโพสต์ภาพธนบัตรกองโตผ่านอินสตาแกรม
หลังจากเกิดกรณีโด่งดัง ที่มีหญิงวัย 30 ปีรายหนึ่งเดินทางเข้าพบ ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม เพื่อขอความเป็นธรรมและปรึกษาทางด้านคดี เนื่องจากถูกชายที่อ้างว่าเป็นนักธุรกิจด้านการเงิน หลอกให้แต่งงานและจดทะเบียนสมรส
โดยทั้งคู่ มีการจัดงานแต่งใหญ่โตที่โรงแรมหรูใน จ.บุรีรัมย์ แต่หลังจากงานแต่งงานเสร็จสิ้นไปแล้วนั้นฝ่ายชายได้บ่ายเบี่ยงที่จะชำระค่าใช้จ่ายในการจัดงานแต่งงาน และโยนให้ฝ่ายหญิงจ่ายเงินค่าจัดงานไปก่อน ซึ่งฝ่ายหญิงต้องมาใช้หนี้ค่าจัดงานกว่า 3.5 ล้านบาท
ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ ว่าแท้จริงแล้วนั้น เสี่ยท็อป เจ้าบ่าวที่ได้มีการอ้าวตัวว่าเป็นนักธุรกิจใหญ่ที่มีทรัพย์สินระดับหมื่นล้านนั้นคือใคร เหตุใดจริงมีการแชร์ภาพการใช้ชีวิตหรูหราผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทั้งภาพเงินกองโต การเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัว ไปจนถึงภาพขณะขับเครื่องบินและรถหรู ตามที่ปรากฎภาพผ่านสื่อมากมายไปก่อนหน้านี้
-
คนขายเห็ด – เสี่ยหมื่นล้าน ?
ก่อนหน้านี้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบบ้านของ ‘เสี่ยท็อป’ ที่ตั้งอยู่ภายในซอยสุขุมวิท 74 แต่พบเพียงเพื่อนบ้านซึ่งเป็นแม่ค้าวัย 45 ปี ซึ่งรู้จักกับแม่ของเสี่ยท็อปเพียงผิวเผิน แต่ทุกครั้งที่พบเสี่ยท็อปนั้น แหล่งข่าวเผยว่าเจ้าตัวมักจะแต่งตัวด้วยของแบรนด์เนมและขับรถหรู มาจอดข้างบ้าน รวมถึงยังมักจะพาผู้หญิงมากหน้าหลายตามาด้วย ทั้งนี้จะมีตำรวจ หรือชายชุดดำมาถามหาเสี่ยท็อปอยู่บ่อย ๆ
นอกจากนี้ จากการสอบถามไปยังแม่ค้าในย่านชุมชนคราม จังหวัดปทุมธานี ได้ระบุว่า เสี่ยท็อป กับแฟนสาว เคยเป็นพ่อค้าขายเห็ดชุบแป้งทอดตามตลาดนัดบริเวณนี้ โดยมีการเข็นรถเข็นมาขายได้ประมาณ 5 เดือน โดยเจ้าตัวเคยกล่าวอ้างกับพ่อค้าในย่านนี้ว่าเป็นเจ้าของฟาล์มเห็ด ที่เห็นล่าสุดพบว่าเสี่ยท็อปแต่งตัวดี และบอกว่าจะไปต่างประเทศจากนั้นก็ไม่ได้พบเจอกันอีก
-
พบภาพเซลฟี่คู่กับเงินกองโต แท้จริงแล้วเป็นภาพจาก ?
ก่อนหน้านี้เพจ ‘หมอแล็บแพนด้า’ จับพิรุธภาพที่เสี่ยท็อปโพสต์ลงบน ‘อินสตาแกรม’ ซึ่งภาพดังกล่าว เป็นภาพเซลฟี่ใบหน้าของผู้อ้างตัวเป็นเสี่ยหมื่นล้าน โดยด้านหลังเป็นกองธนบัตรกองโต ซึ่งถ้านับเป็นจำนวนเงินก็น่าจะเป็นเงินจำนวนมากมายมหาศาล
หลังจากทางเพจฯ ได้ลองค้นคำว่า “แบงค์พันเป็นปึก” ผ่าน google จึงได้พบว่าภาพดังกล่าว เป็นภาพประกอบข่าวกรณีที่กระทรวงการคลัง จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา มาตรการสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย โดยมีงบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ข่าวเว็บไซต์หนึ่ง ที่ซึ่งข่าวนี้ถูกเผยแพร่มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2561
ทั้งนี้จากการตรวจสอบภาพที่ถูกเผยแพร่ผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวของ ‘เสี่ยท็อป’ ที่ขณะนี้มีการปิดบัญชีไปแล้วนั้น พบว่าเจ้าตัวมักลงภาพธนบัตรมูลค่า 1,000 บาท ที่ถูกมัดรวมกันเป็นกองโต จำนวนมากมายมหาศาลอยู่บ่อยครั้ง
ทั้งนี้เมื่อนำภาพหนึ่งที่เสี่ยท็อปเคยโพสต์ไว้ ไปหาที่มาที่ไปของภาพผ่านโปรแกรม Google Image Search ก็พบว่าเป็นภาพของเจ้าของบ่อนในเขมร (มีการตั้งข้อสังเกตต่อมาว่า ชายคนนี้น่าจะเป็นชาวไทย ที่ผันตัวไปทำธุรกิจการพนันที่ประเทศกัมพูชา) โดยในภาพมีการนำเงินสกุลไทยจำนวนมาก มาวางกองไว้บนโต๊ะ
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบ พบว่าภาพที่ถูกเผยแพร่ผ่านอินสตาแกรมของ ‘เสี่ยท็อป’ เป็นภาพเดียวกับภาพของบุคคลที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นเจ้าของบ่อนรายดังกล่าว แต่มีการตัดเฉพาะส่วนที่เป็นกองเงินไว้มาโพสต์ และตัดภาพในส่วนของตัวบุคคลที่นั่งอยู่บนเตียงไม้ออกไป
-
ทำอย่างไรจะทราบว่าภาพที่ถูกเผยแพร่เป็นภาพจริงหรือภาพที่นำมาแอบอ้าง
ในปัจจุบัน เป็นการยากที่เราจะทราบว่าภาพที่มีการโพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นภาพที่เจ้าของบัญชีจริง ๆ หรือเป็นภาพที่ไปก็อปปี้มาจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งหากต้องการจะทราบถึงที่มาของภาพ ที่ถูกโพสต์อยู่บนสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ มีวิธีการสังเกตในเบื้องต้นได้ง่าย ๆ คือการสังเกตความคมชัดของภาพ เนื่องจากปัจจุบันแม้ว่าภาพที่ถ่ายและโพสต์ลงบนสื่อสังคมออนไลน์จะมาจากกล้องของมือถือ แต่ก็มีความคมชัดในระดับนึง แต่หากเป็นภาพที่มีบันทึกมาจากแหล่งต่าง ๆ และนำมาโพสต์ใหม่ อาจจะทำให้คุณภาพของภาพนั้น ๆ ลดลง
นอกจากนี้ หากต้องการหาที่มาของภาพที่แน่นอนจริง ๆ ก็สามารถทำได้ผ่านบริการ Google Image Search ซึ่งเป็นค้นหาภาพบนเว็บไซต์ Google โดยผลลัพธ์จะแสดงภาพที่มีความคล้ายคลึงกัน ไปจนถึงเว็บไซต์ที่มีภาพที่เราต้องการค้นหา หรืออาจค้นภาพต้นฉบับ ในกรณีที่มีการตัดเฉพาะบางส่วนของภาพมาลงเพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง
ขั้นตอนการใช้ Google Image Search
1.บันทึกภาพที่ต้องการค้นหาที่มาลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือคัดลอก URL ของรูปภาพเพื่อใช้ในการค้นหา
2.เข้าไปที่เว็บไซต์ https://images.google.com
3.คลิกที่รูปกล้องถ่ายรูป เพื่อเลือกอัพโหลดรูปที่ต้องการใช้เพื่อค้นหา
4.คลิกที่ปุ่มค้นหา หรือกด Enter Google Image Search จะแสดงผลการค้นหาให้เราโดยอัตโนมัติ
-
ดูข้อกฎหมาย
การที่ ‘เสี่ยท็อป’ นำภาพผู้อื่นไปโพสต์ถือว่า ผิด พรบ.คอม หรือไม่ ?
แม้ว่าตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 16 ระบุไว้ว่า ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏ เป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด
แต่กระนั้น การนำภาพของผู้อื่นไปใช้นั้นมีการระบุว่า จะมีความผิดก็ต่อเมื่อทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย โดยมีการกำหนดบทลงโทษทางกฎหมายไว้ว่า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพราะฉะนั้นการโพสต์รูปภาพของเสี่ยท็อปแม้จะมีการนำภาพผู้อื่นไปโพสต์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เจ้าของภาพเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังแต่อย่างใด จึงถือว่าไม่ผิด พรบ.คอม
ผิด พ.ร.บ ลิขสิทธิ์ไหม ?
การบันทึกภาพ วิดีโอ เนื้อหา บทความ กราฟิก ฯลฯ จากเว็บไซต์หรือแหล่งอื่นๆ มาโพสต์บนช่องทางของของตนเอง อาทิ เฟซบุ๊ก ไอจี หรือทวิตเตอร์ ไปจนถึงชาแนลบนเว็บไซต์ youtube ของตนเองนั้นถือว่า “ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์”
ทั้งนี้แม้ว่าภาพที่นำมาจากแหล่งที่มาอื่น ๆ มาโพสต์ลงบนบัญชีผู้ใช้งานทั่วไปที่เป็นคนธรรมดา โดยไม่ได้หาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ หรือเกี่ยวข้องกับการขาย หรือโฆษณาใด ๆ ก็ถือว่ายัง ‘ผิดลิขสิทธิ์’ เว้นแต่จะระบุชื่อเจ้าของผลงาน แหล่งที่มา หรือ ให้ข้อมูลระบุลิงก์ที่มา” ถึงจะไม่ถือว่าผิดลิขสิทธิ์