ประเด็นน่าสนใจ
- มาตรการนี้หวังเป็นช่องทางในการผลิตอาวุธในเชิงพาณิชย์ได้
- อุตสาหกรรมนี้นอกจากสร้างความมั่งคงของประเทศแล้ว ยังสามารถทำรายได้มหาศาลให้แก่เศรษฐกิจของประเทศได้ด้วย
พลโท คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหม ได้ออกมาเปิดเผยถึงผลการประชุมสภากลาโหม ครั้งแรกของปีงบประมาณ 2563 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม เป็น ประธานการประชุมครั้งนี้ ว่า
ในช่วงหนึ่งนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำในเรื่องนโยบายการวิจัยพัฒนาและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อการผลิตยุทโธปกรณ์สำหรับการใช้เองภายในกองทัพ โดยขอให้หน่วยขึ้นตรงกลาโหม (นขต.กห.) และเหล่าทัพ ประสานการทำงานร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.-DTi)
ผลักดันการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐและภาคเอกชน มีส่วนร่วมในการวิจัยพัฒนา จนนำไปสู่การตั้งโรงงานผลิตอาวุธขึ้นในประเทศ โดยอาศัย พรบ. อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเปิดช่องให้ผลิตในเชิงพาณิชย์
![](https://img-ha.mthcdn.com/OHsUmy3BYP1Orvnm20vm1PwgWdc=/news.mthai.com/app/uploads/2019/10/PAPIMG_4177-1024x683.jpg)
โดยเป็นการนำต้นแบบการผลิตปืนใหญ่และเครื่องยิงลูกระเบิดของศูนย์อุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหารที่ส่งมอบให้กับกองทัพบกที่ผ่านมาเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา
ซึ่งมาตรการนี้จะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ นำไปสู่การผลิตอาวุธขึ้นมาใช้เองในกองทัพมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังให้มีการจัดงานนิทรรศการอุปกรณ์ป้องกันประเทศ (Defense & Security) ระหว่างวันที่ 18-21 พ.ย. ด้วย
เพื่อให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันนำเสนอการวิจัยที่พัฒนาไปสู่การผลิตเครื่องมือและยุทโธปกรณ์เพื่อการปฏิบัติการทางทหาร การสนับสนุนภารกิจที่ไม่ใช่สงครามให้สามารถผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้เองได้ในกองทัพ เช่น การบรรเทาสาธารณภัยการช่วยเหลือประชาชน เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ นอกจากจะเป็นหลักประกันทางด้านความมั่นคงของประเทศและความพร้อมรบของกองทัพแล้วยังเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สามารถทำรายได้อันมหาศาลให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ
ซึ่งในหลายประเทศประสบความสำเร็จในการพึ่งพาตนเองและพัฒนาจนก้าวไปสู่การเป็นผู้ส่งออกได้ ดังนั้นการค้นหาแนวทางในการพัฒนา กิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องกระทำ อีกทั้งหลายชาติในอาเซียนเองก็ได้ให้ความสำคัญต่อการวางแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของตนมาอย่างยาวนานด้วย