ตลอดหลายวันที่ผ่านมา ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 ในบ้านเรามีระดับเตือนภัย-ไม่ปลอดภัยต่อเนื่องกันมาหลายวันแล้ว และยังไม่มีที่ท่าว่าจะลดลงแต่อย่างใด โดยจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในตอนนี้คาดว่า คนไทยต้องเผชิญหน้ากับปัญหานี้ต่อเนื่องไปอีกพักใหญ่ ดังนั้น MThai จึงขอรวบรวมทุกข้อสงสัยไว้ให้อีกครั้งหนึ่ง และแนวทางแก้ไขที่หลายฝ่ายต้องการคำตอบ
ต้นตอแห่งปัญหา-ทางแก้ไข
ปัญหาของที่มาในส่วนของ PM 2.5 ในที่เราประสบกันอยู่ในขณะนี้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุด้วยกัน แนวทางแก้ไขในส่วนต่างๆ จึงมีความหลากหลายของการแก้ไขที่ทำได้ไม่ง่าย และต้องมีการวางแผนระยะเฉพาะหน้า – ระยะยาวร่วมกันไป
1. ควันพิษจากการจราจร ~ 60 % ของปัญหา
ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ เขตกรุงเทพ-ปริมณฑลสาเหตุจากควันที่เกิดจากท่อไอเสียรถยนต์เป็นสาเหตุหลักๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากสภาพการจราจรส่วนใหญ่ของกรุงเทพที่ชาวเมืองต้องเจอส่วนใหญ่จะติด และติดหนักมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จากสถิติจากกรมการขนส่งทางบก พบว่า มีรถยนต์ที่จดทะเบียน “กรุงเทพ” ในปัจจุบันรวมแล้วกว่า 10 ล้านคัน ในจำนวนนี้เป็นรถจักรยานยนต์ 3.67 ล้านคัน รถบัสขนส่งราว 4 หมื่นกว่าคัน
- ปี 2532 จำนวนรถที่จดทะเบียนในกรุงเทพ 1.72 ล้านคัน
- ปี 2542 จำนวนรถที่จดทะเบียนในกรุงเทพ 4.16 ล้านคัน
- ปี 2552 จำนวนรถที่จดทะเบียนในกรุงเทพ 6.10 ล้านคัน
- ปี 2561 จำนวนรถที่จดทะเบียนในกรุงเทพ 10.24 ล้านคัน
จากสาเหตุนี้ จะเห็นได้ว่า การแก้ไขคงจะไม่ง่ายนัก ในการลดปริมาณรถในเขตกรุงเทพ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา จำนวนรถยนต์ในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวทุกปี ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา
ทางแก้ไขปัญหาในภาครัฐ –
แน่นอนว่า การแก้ไขปัญหานี้ โดยการเพิ่มช่องทางการขนส่งสาธารณะเช่น รถไฟฟ้า ที่จะลดการเกิดหมอกควันดูจะเป็นทางออกหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่ง ณ เวลานี้ก็กำลังมีการก่อสร้างในหลายๆ เส้นทางเพิ่มขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพ-ปริมณฑล เพียงแต่ในแง่ขอราคาค่าบริการน่าจะยังคงเป็นปัญหาในการตัดสินใจใช้บริการของประชาชนนั่นเอง
รถเมล์-ขนส่งสาธารณะอื่นๆ นั้น คงต้องมีการเข้มงวด กวดขันตรวจจับควันดำกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นครั้งคราว นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังคงอยากให้มีการ “กำหนดอายุ” การใช้งานของรถ ที่เราจะยังคงเห็นรถเมล์ที่มีอายุอานามเข้าสู่หลักสิบปี เข้ามาวิ่งให้บริการกันอยู่
แนวทางแก้ไขอื่นๆ ที่ยังไม่มีใครกล้าฟันธง หรือสั่งแก้ไขอย่างจริงจัง เช่น
- การกำหนดให้รถทะเบียนเลขคู่ วิ่งได้เฉพาะในวันคู่ รถทะเบียนเลขคี่วิ่งได้เฉพาะวันคี่
- การกำหนดอายุรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในเขตเมือง เช่นเดียวกับรถแท็กซี่-รถยนต์สาธารณะ
- การสั่งห้าม หรือกำหนดเวลาการวิ่งของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล
ซึ่งในประเด็นของน้ำมันดีเซลนั้น กำลังมีการเสนอให้ปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก เพื่อลดมลพิษที่จะเกิดขึ้น แต่ก็แน่นอนว่า นั่นจะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นการสนับสนุน-ลดภาษี-ส่งเสริมให้มีการผลิตรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าน่าจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่ประชาชนหลายคนสนใจดูจะเป็นทางเลือกที่ส่งเสริมกันในด้านนี้มากที่สุดอีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ยังมีในหลายประเทศที่ผลักดันการใช้จักรยาน ในเขตเมืองมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันแม้ว่าจะมีการรณรงค์กัน แต่หากความเข้มข้น ความสะดวก ความปลอดภัยในการใช้งาน ยังไม่ได้จริงจังมากนัก ทำให้คนไม่ได้หันมาสนใจทางเลือกนี้นั่นเอง
แนวทางการแก้ไขปัญหาภาคประชาชน –
สำหรับภาคประชาชนอย่างเราๆ นั้นคงต้องหันมาช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังโดย
- ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว
- ใช้ขนส่งสาธารณะกันมากขึ้น
- ใช้จักรยานหรือรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า หรือระบบไฮบริด
- เคารพ-ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพราะสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหารถติดไม่น้อยเลยทีเดียว
2. ควันและฝุ่นละอองจากการเผาต่างๆ ~ 35%
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ในกรุงเทพนั้น ไม่ได้มีพื้นที่เกษตร แต่ได้รับผลกระทบได้อย่างไร? ในส่วนนี้เกิดจากหมอกควันที่เผาทั้งในและนอกประเทศไทย ซึ่งกระแสลมพัดเอาควันเหล่านั้นเข้ามา และปริมาณที่พัดพาเข้ามานั้นมีจำนวนไม่น้อยทีเดียว
จากภาพด้านบนจะเป็นปัญหาอย่างชัดเจนว่า กระแสลมพัดพาเอาควันที่เกิดจากการเผาโดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านเข้ามายังบ้านเรา ซึ่งหากเราเปิดเช็คสภาพปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกอย่าง จันทบุรี จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผลกระทบในเรื่องนี้ไม่น้อยเลยทีเดียว
จังหวัดทางภาคตะวันออกของไทยอย่าง ระยอง – จันทบุรี ไม่ได้มีปัญหารถติด การก่อสร้างต่างๆ ดังเช่นกรุงเทพและปริมณฑล มีต้นไม้เยอะแยะมากมาย แต่กลับได้รับผลกระทบจากปัญหา PM2.5 ด้วยเช่นกัน
ทางแก้ไขปัญหาภาครัฐ –
ในปัญหานี้ คงต้องพึ่งพาหน่วยงานของรัฐเป็นหลักในการดำเนินการประสานงานเพื่อร่วมแก้ไขปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีข้อมูลต่างๆ ที่ค่อนข้างชัดเจนว่า บ้านเราได้รับผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ ในประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ส่วนในประเทศไทยเองนั้น ก็จะต้องมีการกำหนด การควบคุมการเผา เข้มงวด และดำเนินการอย่างจริงจัง ในการบังคับใช้กฎหมายในการแก้ปัญหาเหล่านี้
การทำฝนเทียม พ่นน้ำต่างๆ ดูเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และเมื่อลงไปดูข้อมูลปริมาณการลดลงของ PM 2.5 แล้วก็จะพบว่า ไม่ได้ลดลงมากนัก แต่ก็ยังถือว่า เป็นแนวทางแก้ไขปัญหา ดีกว่าไม่ทำอะไรนั่นเอง
ทางแก้ไขปัญหาภาคประชาชน –
ในปัญหานี้ คงแก้ที่ประชาชนได้ไม่ยากนัก เพียงแค่งด-ลด-เลิก การเผาวัสดุทางการเกษตร-ขยะต่างๆ ซึ่งในขณะที่กำลังเป็นปัญหาอยู่นี้ ก็ยังคงพบการเผาสิ่งของเหลือใช้ต่างๆ อยู่ แม้ว่าเป็นจุดเล็กๆ แต่นั่นแสดงให้เห็นว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อย มิได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นต่างๆ เหล่านี้เลย
ดังนั้นคงต้องเริ่มต้นที่ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ก่อนเป็นอันดับแรกด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด
3. ฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง-ภาคอุตสาหกรรม ~5%
ปัจจุบันตามแนวเส้นทางหลัก มีการเร่งการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้า เพื่อแก้ปัญหารถติด ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นเป็นการช่วยแก้ปัญหาควันพิษจากรถยนต์อีกทางหนึ่งด้วย แต่การก่อสร้างเหล่านี้ก็ต้องแลกมาด้วยส่วนของการเกิดฝุ่นละอองในอากาศจำนวนหนึ่ง ในพื้นที่ต่างๆ โดยรอบกรุงเทพ
จากข้อมูลของรฟม. ในส่วนของความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าหลายๆ สายที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ ถือว่ามีความคืบหน้าเป็นระยะๆ เช่น สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางเเค เเละช่วงเตาปูน-ท่าพระ ในส่วนของงานก่อสร้างก็เรียบร้อยแล้วเหลือเพียงการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าที่ยังไม่เสร็จ
ส่วนอีก 3 สายที่เหลือนั้น ก็เป็นโครงการที่เพิ่งเริ่มก่อสร้างกันไปเมื่อช่วง1-2ปีที่ผ่านมา ยังคงเหลือระยะเวลาอีกพอสมควร ซึ่งในระหว่างนี้ก็คงต้องอดทนรอกันต่อไป
นอกจากรถไฟฟ้าแล้ว การก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะภาคเอกชน เช่น การก่อสร้างที่อยู่อาศัยต่างๆ เช่นคอนโดมิเนียม ที่ในปัจจุบันมีจำนวนมากที่โตขึ้นตามสภาพความต้องการของคนเมือง ที่ประสบปัญหาการจราจร และเลือกที่จะหาที่อยู่ใกล้ๆ ที่ทำงาน หรือรถไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ในปัญหานี้ด้วย ไม่ต่างจากผลกระทบที่เกิดจากพื้นที่โรงงานต่างๆ โดยรอบกรุงเทพฯ ที่ถึงแม้จะมีการควบคุม ตรวจสอบต่างๆ อยู่เป็นระยะๆ ก็ตาม
แนวทางแก้ไขในภาครัฐ –
ในหลายๆ ประเทศที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับบ้านเรา มีการบังคับใช้กฎหมายห้าม-ลดชั่วโมงการทำงานในกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลภาวะเหล่านี้ ซึ่งประเทศไทยเองยังคงถือว่าเป็นเรื่องใหม่ และยังคงต้องพิจารณาให้มีมาตรการที่ชัดเจนในระยะยาวควบคู่ไปด้วย เพราะดูจากสถานการณ์ PM 2.5 ของไทยในช่วง2-3 ปีหลัง จะมีปัญหานี้เกิดขึนเรื่อยๆ ดังนั้นในปีหน้า 2563 เอง ก็คาดว่า ปัญหา PM 2.5 ก็จะกลับมา รัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรมีการเตรียมมาตรการรองรับ-แก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยนั่นเอง เช่น
- การสั่งหยุดทำงาน-กิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดฝุ่นละออง
- การสั่งลดชั่วโมงทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าและสร้างฝุ่นละอองเป็นต้น
- ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์อย่างจริงจัง เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากถ่านหิน
- การเข้มงวด-กวดขันในการก่อสร้างเพื่อป้องกันไม่ให้ก่อให้เกิดฝุ่นละออง
นอกจากนี้ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพ-ปริมณฑลอย่างจริงจังนั้น คงต้องกลับมาทบทวนกันว่า เราจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อใช้ต้นไม้มาช่วยดูดซับ กรองฝุ่นละอองต่างๆ เหล่านี้
แนวทางการแก้ไขในภาคประชาชน –
สำหรับประชาชนทั่วไป คงต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบว่ามีการปล่อยควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง ให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าตรวจสอบ-กวดขันเพิ่มขึ้น รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการเลือกใช้พลังงานสะอาดอย่างการติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลง เป็นต้น
4. สภาพอากาศที่เปลี่ยนไป
หากย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี 2561 เราจะพบว่า กรุงเทพ-ปริมณฑลก็ประสบปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 สูงเช่นเดียวกันกับปีนี้ ซึ่งหากดูข้อมูลเพิ่มเติมจะพบว่า สภาพอากาศเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่กระตุ้นให้หมอกควันเหล่านี้ ไม่กระจายออกไปเหมือนเช่นในช่วงฤดูร้อน ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุมากจากสิ่งที่เรียกว่า ชั้นผกผัน หรือ Inversion layer
Inversion layer เป็นสภาวะชั้นอากาศร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว ซึ่งตามปรกติแล้วในฤดูร้อนหรือฝน ที่อากาศที่พื้นผิวดินจะมีอากาศที่ร้อน นั่นทำให้อากาศลอยขึ้นด้านบน ก่อนจะเย็นลงเมื่อลอยตัวสูงขึ้น ตามปรกติที่เรารู้จักกันคือ “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” แต่ในช่วงของฤดูหนาวนั้นต่างออกไป
ในช่วงหน้าหนาวเช่นนี้ พื้นดินจะได้รับความร้อนต่างๆ ตามปรกติ ซึ่งอากาศร้อนก็จะลอยตัวขึ้นไป แต่เมื่อตกเข้าสู่ช่วงกลางคืน อากาศกลับเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วกว่าเดิม ทำให้เกิดสภาวะชั้นอากาศร้อนแทรกอยู่ตรงกลาง ทำให้มีสภาพคล้ายโดมอากาศร้อน ครอบเมืองอยู่นั่นเอง
การเกิด ชั้นผกผันหรือ Inversion Layer นี้เอง ที่ทำให้ควันพิษและฝุ่นละอองต่างๆ ถูกกักไว้ที่พื้นผิวภายใต้โดมอากาศที่เกิดขึ้น ซึ่งเจ้าสิ่งนี้เองที่ทำให้หลายเมืองใหญ่ๆ เกิดปัญหาฝุ่นละออง หมอกควันพิษต่างๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น ปัญหาของการเกิดชั้นผกผัน หรือ Inversion Layer นี้ ดูเป็นปัญหาที่จะแก้ได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นในภาคประชาชนหรือภาครัฐเอง
นอกสภาพอากาศที่ก่อให้เกิดชั้นผกผันนี้แล้ว ยังมีกระแสลมที่เปลี่ยนไป ทำให้ในช่วงที่ผ่านมากระแสลมพัดเข้ามาอยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลอีกด้วย นั่นยิ่งทำให้ฝุ่นละออง ควันพิษต่างๆ ไม่ได้ถูกพัดพาออกไปไหน หากแต่ถูกพัดเข้ามาร่วมอยู่ในโดมภายใต้ชั้นอากาศร้อนของกรุงเทพนั่นเอง
การป้องกันตัวเอง
หลายฝ่ายต่างออกมากล่าวถึงการป้องกันตนเองในเบื้องต้น ทำให้หลายคนมองหาซื้อหน้ากาก N95 มาสวมใส่กัน เพื่อป้องกันตัวเองจากสภาพแวดล้อม แต่ก็ยังคงมีคำถามหลายคำถามที่ค้างคาใจหลายๆ ท่าน ทาง MThai จึงรวบรวมคำถาม-คำตอบที่หลายคนสงสัยมา
Q :จำเป็นต้องใส่หน้ากาก N95 หรือไม่?
A : สำหรับในการออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้งในสภาวะเช่นนี้ การใส่หน้ากากจะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น ควรใส่ไว้ หากอยู่ในอาคาร ควรพิจารณาจากอาคารนั้นปิดทึบไว้มากน้อยเพียงใด มีเครื่องกรองหรือระบบกรองอากาศร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าเป็นอาคารเปิดโล่งควรสวมใส่เช่นกัน
Q : ช่วงเวลานอนหลับควรใส่หรือไม่?
A : สำหรับใครที่นอนในห้องแอร์ หรืออยู่ในห้องปิด ปริมาณ PM 2.5 นั้นจะน้อยกว่า การนอนเปิดหน้าต่างอยู่พอสมควร ดังนั้นสำหรับใครที่นอนในห้องแอร์ หากไม่สะดวกก็ไม่ต้องก็ได้ หรือถ้าภายในห้องมีเครื่องฟอกอากาศ-เครื่องกรองอากาศอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นแต่อย่างใด ส่วนใครที่นอนเปิดหน้าต่าง เปิดพัดลม หากสามารถสวมได้ ก็ควรสวมเช่นกัน
Q : หน้ากาก N95 ใช้ซ้ำๆ ได้ไหม?
A : โดยปรกติแล้วหน้ากากเหล่านี้ จะมีอายุการใช้งานระบุเช่น พวกที่ใช้วันเดียวทิ้ง มักจะเป็นกลุ่มที่นับอายุการใช้งานคือ 24 ชม. หากไม่สามารถเปลี่ยนได้ทุกวัน ก็พอจะประเมินชั่วโมงของการใช้งานที่สวมใส่ ยืดเวลาการทิ้งไปได้บ้าง ซึ่งหากไม่มีการเสื่อมสภาพเช่น เปื่อย ขาด เปียกเหงื่อหรือความชื้น ก็ยังสามารถใช้ต่อได้ 5-7 วัน แต่ถ้าสามารถเปลี่ยนได้บ่อยๆ แนะนำว่าเปลี่ยนจะดีที่สุด
Q : ใส่หน้ากากอะไรดี?
A : สำหรับใครมีมองหาหน้ากากเพื่อใช้ป้องกันตัวเอง สามารถเลือกได้ตามความสะดวกในช่วงนี้ โดยมีทางเลือกคือ
- หน้ากาก N95 สามารถป้องกันได้ ~99%
- หน้ากากอนามัยตามปรกติซ้อนทิชชู่ 2 ชั้น ป้องกันได้ ~90%
- หน้ากากอนามัยทั่วไป ซ้อน 2 ขั้น ป้องกันได้ ~80%
- หน้ากากอนามัยทั่วไป ป้องกันได้ ~40%
- ผ้าขาวม้าพับ 4ชั้น
- ผ้าเช็ดหน้าพับ 2ชั้น
- ผ้าชุบน้ำหมาดๆ
Q : ที่คอนโดฯ นอนอยู่ชั้น 14 ของตึก อากาศดีกว่าไหม?
A : เคยมาการทดลองแบบง่ายๆ ในประเทศจีนเมื่อปี 2017 พบว่า ระดับของ PM 2.5 ที่ชั้น 1 และ ชั้น 22 ของตึกไม่ได้มีความแตกต่างกันมานัก ซึ่งนั่นหมายถึงว่า การอยู่ตึกสูงไม่ได้มีหลุดรอด PM 2.5 ไปได้ ทั้งนี้คาดว่า น่าจะขึ้นอยู่กับระดับความสูงของชั้น Inversion Layer ที่กล่าวมาก่อนหน้านี้นั่นเองว่า สูงแค่ไหน
Q: หาซื้อหน้ากาก N95 ไม่ได้ทำอย่างไร?
A: คงต้องเป็นทางเลือกชั่วคราว ใช้หน้ากากอนามัย+ทิชชู่ ไปพลางก่อน
Q: เพื่อนแชร์มาให้ ใช้วาสลีนทาจมูกป้องกันได้ จริงไหม?
A: ไม่จริงแน่นอน เนื่องจาก PM2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กมาๆ ลอยมากับอากาศ ดังนั้นการทาวาสลีนในจมูก จึงไม่ได้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกรองฝุ่นแต่อย่างใด
Q: เช็คข้อมูล PM 2.5 ได้จากที่ไหนบ้าง?
A: มีเว็บที่เช็คอยู่ได้เช่น aqicn.org , ในแอพ Air4Thai, หรือ airvisual.com เป็นต้น
Q: เช็คในเว็บ-แอปแล้ว ไม่มีจุดแดงขึ้นเตือน ปลอดภัยใช่ไหม?
A: การที่ในเว็บหรือแอปไม่มีจุดแสดงข้อมูล ไม่เกี่ยวข้องกับการไม่มี PM 2.5 แต่เนื่องจากไม่มีจุดตรวจวัดนั่นเอง ดังนั้น ให้ดูจุดตรวจวัดที่ใกล้ที่สุดว่า มีค่าเป็นเท่าใด แทน
Q: ฉีดหน้าบ้าน ป้องกันฝุ่นละอองเข้าบ้านได้ไหม?
A: ถ้าปล่อย หรือพ่นหมอกในส่วนหน้าบ้าน ตลอดทั้งวันก็จะพอลดได้บ้าง แต่พอไม่ได้พ่นหรือฉีด ก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ เนื่องจากฝุ่นละอองฟุ้งปะปนอยู่กับอากาศนั่นเอง อากาศใหม่ไหลเข้ามาก็พาชุดใหม่เข้ามาบ้านอยู่ดี
Q: อยู่ในรถปลอดภัยไหม?
A: โดยปรกติแล้ว รถยนต์มีฟิลเตอร์กรองอากาศให้อยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่ดีนักแต่ก็พอช่วยได้บ้าง แต่ถ้ารถมีการเปิด-ปิดประตูบ่อยครั้งก็ไม่ต่างจากการยืนริมถนนเช่นกัน
Q: ปีหน้าจะมีอีกไหม?
A: โดยข้อมูลเท่าที่ได้รวบรวมไว้ ปีหน้า มีอีกแน่นอน ซึ่งหากยังไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ปัญหานี้จะไม่ต่างจากลมหนาวที่พัดมาทุกปีอย่างแน่นอน
หากมีคำถามเพิ่มเติม ส่งคำถามได้ที่ ทวีตข้อความถึง @mthai หรือ ส่งข้อความทางเฟซบุ๊กถึง MThai