ประเด็นน่าสนใจ
- สัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยข้อมูลจากการศึกษาวิจัยพบสัตว์ทะเลหลายชนิดมีไมโครพลาสติกอยู่ในระบบทางเดินอาหาร
- ส่วนข้อกังวลต่อสุขภาพของมนุษย์หากรับประทานเข้าไป ขณะนี้ยังไม่มีผลวิจัยชัดเจนว่า ต้องสะสมอยู่ในร่างกายปริมาณเท่าใด จึงจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย
- ผู้ซื้อส่วนใหญ่ไม่ได้วิตกกังวลมากนัก แต่ก็ยอมรับว่าปัจจุบันมีขยะหลายขนิดถูกทิ้งลงทะเล
รศ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผย ถึงการพบไมโครพลาสติกในปลาทูเป็นจำนวนมากโดย จากการศึกษายังพบว่าสัตว์ทะเลในอ่าวไทย เช่น ปลาประเภทต่างๆ และหอย ก็พบ ไมโครพลาสติกอยู่ในระบบทางเดินอาหาร ในปะการังก็พบว่ามีการเจือปนอยู่เช่นกัน ส่วนจะมากหรือน้อยก็แตกต่างกันไป
ส่วนข้อกังวลต่อสุขภาพของมนุษย์หากรับประทานเข้าไป ขณะนี้ยังไม่มีผลวิจัยชัดเจนว่า ต้องสะสมอยู่ในร่างกายปริมาณเท่าใด จึงจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย มีเพียงข้อมูลผลกระทบในสัตว์ทดลอง แต่ก็ยังเป็นข้อถกเถียงว่าแท้จริงแล้วเกิดจากไมโครพลาสติก หรือสารพิษ และเชื้อโรคที่เกาะติดไปกับพลาสติกกันแน่
แต่ที่สำคัญ ภาครัฐควรเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง และควร หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุประเภท พีอี และ พีวีซี อาทิ ท่อ รางน้ำ ในกิจกรรมทางทะเลและใต้ท้องทะเล
สำหรับจุดเริ่มต้นของการศึกษาวิจัยพลาสติกในตัวปลาทูครั้งนี้ นางสาวเสาวลักษณ์ ขาวแสง ผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัย ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางศูนย์ฯ มีการเก็บขยะทุกวัน ก่อนจะนำมาคัดแยก แล้วชั่งน้ำหนัก เพื่อจดบันทึกปริมาณขยะในแต่ละชนิดในรอบเดือนและรอบปี
กระทั่งเจอปัญหาในระบบห่วงโซ่อาหาร โดยเฉพาะในบริเวณหาดเจ้าไหม ซึ่งมีปลาเศรษฐกิจทั่วไปที่ทุกคนสามารถบริโภคได้ ซึ่งนี่เองถือว่าเป็นการส่งสัญญาณความวิกฤตของปัญหาขยะทางทะเลแล้ว
ขณะที่บรรยากาศ การจำหน่ายอาหารทะเล ที่ตลาดสดเทศบาลนครตรัง โดยเฉพาะปลาชนิดต่าง และปลาทู พบว่ายังคึกคัก โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่ไม่ได้วิตกกังวลมากนัก แต่ก็ยอมรับว่าปัจจุบันมีขยะหลายขนิดถูกทิ้งลงทะเล ซึ่งเกิดจากความมักง่ายของคน