จากรายงานข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพีที่ระบุว่า ทางการรัสเซียได้ออกมาประกาศเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมาว่า รัสเซียได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาสำหรับสัตว์เป็นครั้งแรกในโลกในชื่อ “Carnivac-Cov” โดยหน่วยงานเฝ้าระวังด้านการเกษตร Rosselkhoznadzor ของรัสเซียกล่าวในแถลงการณ์ว่า วัคซีน Carnivac-Cov ได้รับการทดสอบตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาในสัตว์ ผลปรากฎว่า ไม่เป็นอันตรายและมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันสูง โดยล่าสุดสื่อรัสเซียรายงานว่า ประเทศไทยมีแผนนำเข้าวัคซีน Carnivac-Cov ครั้งแรกเป็นจำนวน 10,000 โดส
ไทยเตรียมเจรจาขอนำเข้า วัคซีนต้านโควิด-19 ในสัตว์
ตามที่ นายคอนสแตนติส ซาเวนคอฟ รองหัวหน้าหน่วยงาน Rosselkhoznadzor ระบุว่า ได้มีการทดลองวัคซีนกับสุนัข สุนัขจิ้งจอกขั้วโลก ตัวมิงค์ สุนัขจิ้งจอก และสัตว์ประเภทอื่น โดยผลการทดลองของวัคซีน Carnivac-Cov สามารถสรุปได้ว่า “วัคซีนไม่เป็นอันตรายและมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันสูง” เนื่องจากสัตว์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมด มีการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายเพื่อต้านทานโควิด-19 และภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นจะคงอยู่นานถึง 6 เดือน ซึ่งทางผู้พัฒนายังคงเดินหน้าการวิเคราะห์ผลทดลองอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ การผลิตวัคซีน Carnivac-Cov จำนวนมากได้เริ่มต้นผลิตแล้ว ซึ่งความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 สำหรับสัตว์นี้ จะช่วยป้องกันการกลายพันธุ์ของไวรัสในสัตว์ได้ พร้อมทั้งยกตัวอย่างกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในฟาร์มมิงค์ที่เดนมาร์กเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ต้องกำจัดตัวมิงค์ไปกว่า 15 ล้านตัว โดยพบว่าบางตัวนั้นมีเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ โดยล่าสุด TASS สำนักข่าวของรัสเซียรายงานว่า สำนักงานกลางเพื่อสุขภาพสัตว์ของทางการรัสเซีย พร้อมจัดวัคซีนชุดทดลองจำนวน 10,000 โดส
นางยูเรีย เมลาโน (Yulia Melano) ที่ปรึกษาหัวหน้าหน่วยงานเฝ้าระวัง โรคระบาดสัตว์และศัตรูพืชแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (Rosselkhoznadzor) กล่าวกับผู้สื่อข่าว โดยระบุว่า
“Rosselkhoznadzor ได้มีร่วมกับหน่วยงานย่อยของศูนย์สหพันธรัฐด้านสุขภาพสัตว์ (Federal Center for Animal Health) ได้จัดการเจรจากับตัวแทนของผู้ผลิตยารายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ผ่านการประชุมที่ริเริ่มโดยตัวแทนจากประเทศไทยทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยฝ่ายไทยได้แสดงความสนใจนำเข้าวัคซีนดังกล่าว โดยซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดจากไวรัสโควิด-19 ทั้งในสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า
นาง Melano ระบุว่า ได้มีการพูดคุยกับตัวแทนของบริษัท สุพรีม ฟาร์มาเทค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตนาโนโภชนาการสำหรับมนุษย์และสัตว์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเสริมว่าในระหว่างการเจรจา ตัวแทนของศูนย์สหพันธรัฐด้านสุขภาพสัตว์รัสเซียกล่าวว่า พวกเขาพร้อมที่จะจัดหาวัคซีนชุดทดลองจำนวน 10,000 โดสสำหรับประเทศไทย
ในส่วนของบริษัทผู้ผลิตยาของไทยได้ให้คำมั่นว่า จะพยายามอย่างเต็มที่ในการเจรจากับหน่วยงานที่มีอำนาจของรัฐบาลไทย เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการขึ้นทะเบียนยา รวมถึงการอนุญาตให้มีการนำส่งวัคซีนเข้ามาในประเทศไทยเพื่อการพาณิชย์ได้โดยเร็ว” นางเมลาโน กล่าว
นอกจากนี้หน่วยงาน Rosselkhoznadzor ยังระบุว่า เวลานี้มีหลายประเทศ เช่น กรีซ โปแลนด์ ออสเตรีย สหรัฐฯ แคนาดา และสิงคโปร์ ที่แสดงความสนใจในวัคซีน Carnivac-Cov
เกี่ยวกับวัคซีน “Carnivac-Cov” :
- เมื่อวันที่ 30 เมษายน นางเมลาโนได้ประกาศว่า สถาบันวิจัยของหน่วยงานเฝ้าระวังด้านการเกษตรของรัสเซียได้ออกแถลงการณ์เปิดตัว การผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสำหรับสัตว์ชื่อ “Carnivac-Cov”
- โดยระบุว่า ปริมาณการผลิตสูงสุดอาจอยู่ที่ 3 ล้านโดสต่อเดือน ชุดวัคซีนที่ผลิตได้ถูกส่งไปยังมอสโก ภูมิภาคมอสโก สาธารณรัฐไครเมีย เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก วลาดิเมียร์ คิรอฟ อิเชฟสค์ อีร์คุตสค์ แมกนิโทกอร์สค์ โนโวซีบีร์สค์ ไรอาซาน เชเลียบินสค์ ตเวียร์ Togliatti
- นอกจากนี้ยังกล่าวว่า หน่วยงานฯ กำลังเตรียมการขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโควิด -19 สำหรับสัตว์ในสหภาพยุโรปด้วย