กระทรวงดีอีเอส ย้ายประเทศ

รมว.ดีอีเอส ตั้งทีมจับตากลุ่มย้ายประเทศฯ หลังมีร้องเรียนสร้างความแตกแยก

ก่อนหน้านี้มีการตั้งกรุ๊ปเฟซบุ๊ก “ย้ายประเทศกันเถอะ” โดยส่วนใหญ่พูดคุยแลกเปลี่ยนแนวทางในการใช้ชีวิตในต่างประเทศ

Home / NEWS / รมว.ดีอีเอส ตั้งทีมจับตากลุ่มย้ายประเทศฯ หลังมีร้องเรียนสร้างความแตกแยก

ประเด็นน่าสนใจ

  • ก่อนหน้านี้มีการตั้งกรุ๊ปเฟซบุ๊ก “ย้ายประเทศกันเถอะ” โดยส่วนใหญ่พูดคุยแลกเปลี่ยนแนวทางในการใช้ชีวิตในต่างประเทศ
  • ซึ่งคนส่วนใหญ่ในกรุ๊ปให้เหตุผลว่ามาจาก การบริหารจัดการและผลกระทบจากมาตรการโควิด-19 ของทางรัฐบาล
  • ล่าสุด รมว.ดีอีเอส เผยขณะนี้มีผู้ร้องเรียนว่ากรุ๊ปดังกล่าว มีเนื้อหาสร้างความแตกแยกสร้างความเกลียดชัง และการหมิ่นสถาบันฯ
  • เบื้องต้นกระทรวงดีอีเอส เร่งตรวจสอบดูว่ามีเนื้อหาที่ผิดกฎหมายหรือไม่ หากพบก็จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงกรุ๊ปเฟซบุ๊ก “ย้ายประเทศกันเถอะ” ที่กำลังเป็นกระแสในสังคมออนไลน์ขณะนี้ว่า กระทรวงดีอีเอสได้รับการร้องเรียนถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าวมาเช่นกัน โดยผู้ร้องเรียนระบุว่า มีเนื้อหาสร้างความแตกแยกสร้างความเกลียดชัง และยังมีการแสดงความคิดเห็นเข้าข่ายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

อย่างไรก็ตามเท่าที่ติดตามเบื้องต้นพบว่า เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงแนะแนวการศึกษา และแนะนำแนวทางประกอบอาชีพในต่างประเทศ ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นเรื่องที่ดี และหน่วยงานภาครัฐเองก็มีการให้ข้อมูล และให้การสนับสนุนผู้ที่มีความพร้อมมาโดยตลอดอยู่แล้ว ทั้งในแง่การไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงการต่างประเทศ เช่นเดียวกับการประกอบอาชีพที่มี กระทรวงแรงงาน เป็นผู้กำกับดูแล

“เท่าที่ติดตามหลาย ๆ โพสต์ก็เป็นเรื่องแนะแนวการศึกษา และการใช้ชีวิตในต่างประเทศ ที่แฝงด้วยประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะสมาชิกกลุ่มบางคนที่หลบหนีอยู่ในต่างประเทศก็มีพฤติกรรมชังชาติอยู่แล้ว ก็มีวัตถุประสงค์แอบแฝงเพื่อสร้างความแตกแยก และหมิ่นสถาบันเบื้องสูง กระทรวงดีอีเอสมีคณะทำงานเพื่อตรวจสอบและติดตามการกระทำความผิดในสังคมออนไลน์อยู่แล้ว ก็ได้กำชับไปให้ตรวจสอบดูว่ามีเนื้อหาที่ผิดกฎหมายหรือไม่ หากพบก็จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด” นายชัยวุฒิ กล่าว

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า หากเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการศึกษาหรืออาชีพในต่างประเทศ รัฐบาลคงไม่ปิดกั้น เพราะถือเป็นสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีความเป็นห่วงในบางข้อความที่ไม่เหมาะสม อาทิ การแนะนำวิธีลักลอบเข้าเมือง หรือการอาศัยอยู่เกินกำหนดอย่างผิดกฎหมายหรือที่เรียกว่าโดดวีซ่า ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสม และอาจจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

รวมถึงการพิจารณาให้วีซ่าคนไทยของประเทศปลายทางในอนาคตด้วย ที่สำคัญยังเป็นห่วงว่า กลุ่มดังกล่าวอาจเป็นช่องทางของขบวนการมิจฉาชีพที่ใช้สังคมออนไลน์หลอกลวงให้มีการไปทำงานต่างประเทศที่ระบาดอย่างหนักในระยะหลัง โดยทราบจากสถิติของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ว่าช่วงปี 2561-2563 ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับการหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศแล้วมากกว่า 1,500 เรื่อง ดังนั้นผู้ที่สนใจควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน ไม่หลงเชื่อขบวนการเหล่านี้