พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร

ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่ ตรวจสอบภาครัฐได้ ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เสียหายต่อสถาบันฯ

ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ปรับให้ทันสมัยกับสังคมปัจจุบัน ประชาชนสามารถตรวจสอบภาครัฐ และคุ้มครองข้อมูลความมั่นคง

Home / NEWS / ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่ ตรวจสอบภาครัฐได้ ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เสียหายต่อสถาบันฯ

ประเด็นน่าสนใจ

  • เมื่อ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ฉบับใหม่
  • เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อให้การบังคับใช้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถตรวจสอบภาครัฐได้ / ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเปิดเผยข้อมูลความมั่นคงของรัฐ

ภายหลังเมื่อ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว จึงส่งไปยังคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา และเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป

โดยร่างฉบับดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อให้การบังคับใช้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กำหนดให้เป็นกฎหมายกลางในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะของราชการ

รวมทั้งกำหนดมาตรการคุ้มครองข้อมูลความมั่นคงของรัฐ และข้อมูลอันเป็นความลับของราชการ กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล รวมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ และคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

มีสาระสำคัญร่างฉบับแก้ไข ประกอบด้วย

1️.หน่วยงานรัฐมีหน้าที่ส่งข้อมูลข่าวสารสาธารณะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเผยแพร่หรือเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะผ่านระบบดิจิทัล

2.กรณีหน่วยงานรัฐไม่ประกาศข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนตรวจดู ไม่จัดหาข้อมูลข่าวสาร ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ ประชาชนสามารถใช้สิทธิ์ร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการได้

3.กำหนดข้อมูลข่าวสารที่ห้ามเปิดเผย เช่น

  • ข้อมูลที่อาจเกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และข้อมูลการถวายความปลอดภัย

ข้อมูลความมั่นคงของรัฐ เช่น

  • ด้านการทหารและการป้องกันประเทศ
  • ด้านข่าวกรอง
  • ด้านการป้องกันและปราบรามการก่อการร้าย
  • ด้านการต่างประเทศที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ
  • ด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคล
  • ข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านอื่นตามที่กำหนด

4.ข้อมูลข่าวสารที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลพินิจในการเปิดเผย เช่น ข้อมูลที่อาจเกิดความเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือการเงินการคลังของประเทศ โดยเจ้าหน้าที่รัฐอาจมีคำสั่งไม่ให้เปิดเผยข้อมูลก็ได้

5.กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐมีคำสั่งไม่ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารใด หรือมีคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้าน ผู้ร้องสามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยเปิดข้อมูลข่าวสารได้ ภายใน 15 วัน

6.กำหนดให้มีคณะกรรมการ 2 ชุดคือ

  • คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล ให้คำแนะนำ และคำปรึกษา แก่เจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานรัฐ
  • คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร คำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้าน คำสั่งไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล

หากผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยฯ สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ ภายใน 30 วัน

เมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ จะเป็นการส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ มีส่วนร่วมตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้หน่วยงานรัฐทำงานอย่างโปร่งใส เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล สร้างความมั่นใจต่อประชาชน


ข้อมูล : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์