รายได้อุทยาน

อธิบดีกรมอุทยานฯ แจงประชาชน ไม่ต้องกลัวนำเงินไปใช้ในทางไม่เหมาะสม

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ แจงประชาชนไม่ต้องกลัวการนำเงินรายได้ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ไปใช้ในทางไม่เหมาะสม ปีงบประมาณ 2561 เงินรายได้จากอุทยานต่างๆ ทั่วประเทศรวมแล้วมียอดเงินสูงขึ้นอีก คือ 2.7 พันล้านบาท ถือเป็นการทำสถิติการเก็บรายได้สูงสุด นับแต่ตั้งกรมอุทยานแห่งชาติขึ้นมา นายธัญญา เนติธรรมกุล…

Home / NEWS / อธิบดีกรมอุทยานฯ แจงประชาชน ไม่ต้องกลัวนำเงินไปใช้ในทางไม่เหมาะสม

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ แจงประชาชนไม่ต้องกลัวการนำเงินรายได้ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ไปใช้ในทางไม่เหมาะสม

ปีงบประมาณ 2561 เงินรายได้จากอุทยานต่างๆ ทั่วประเทศรวมแล้วมียอดเงินสูงขึ้นอีก คือ 2.7 พันล้านบาท ถือเป็นการทำสถิติการเก็บรายได้สูงสุด นับแต่ตั้งกรมอุทยานแห่งชาติขึ้นมา

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า เมื่อมีความจริงจัง ไม่มีนอก ไม่มีใน ใดๆ สำหรับการจัดเก็บเงินรายได้ เริ่มตั้งแต่ การให้บุคคลระดับหัวหน้าอุทยานไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของตัวเอง

สำคัญที่สุด คือ หากมีความโปร่งใสในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย เมื่อหัวหน้าอุทยานคนนั้นเข้าไปทำหน้าที่โดยไม่มีต้นทุนอะไร เขาก็จะสามารถบริหารจัดการเงินรายได้ที่เข้ามาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย “ขนาดปีนี้เราปิดอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ได้รับความนิยมมาก อย่างอ่าวมาหยา เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัว แต่เรายังเก็บเงินรายได้ตั้ง 2,700 ล้าน”

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ อธิบายเพิ่มว่า สำหรับเงินรายได้อุทยาน ฯ ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ จัดเก็บมาได้ทั้งหมดนั้น เมื่อมีการสรุปในแต่ละรอบปีแล้ว ตามหลักเกณฑ์ต้องแบ่งรายได้ที่อุทยานแห่งชาตินั้นๆตั้งอยู่ ให้กับท้องถิ่น จำนวน 5% ของเงินรายได้ทั้งหมด เช่น ตลอดทั้งปีเก็บเงินรายได้ 100 บาท ต้องแบ่งให้ ท้องถิ่น 5 บาท เก็บได้ 100 ล้านบาท ก็ต้องให้ท้องถิ่น 5 ล้านบาท เป็นต้น

หลังจากนั้น เงินก็จะถูกโอนเข้าทางคลังจังหวัด ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติโดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 1 – 16 และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์สาขาทุกสาขา เป็นผู้ดูแลทั่วประเทศ

“การนำเงินรายได้อุทยานไปใช้นั้น เมื่อพื้นที่ไหน อุทยานใด ต้องการใช้เงิน ก็ต้องทำเรื่องเสนอแผนเข้ามา หลักการใช้เงินรายได้ของกรมอุทยานแห่งชาติที่กำหนดเอาไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 คือ ต้องใช้เพื่อทำนุบำรุงอุทยานแห่งชาติเท่านั้น

ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวอาจจะเป็นอุปสรรคสำหรับการนำเงินส่วนนี้มาใช้สำหรับดูแลสวัสดิการแก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เช่น ก่อนหน้านี้ กรมอุทยานฯจะนำเอาเงินส่วนนี้มาเพื่อดูแลสวัสดิการ ซื้อประกันชีวิตแก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า

แต่มีการตีความทางกฎหมายว่า เอามาใช้เพื่อดูแลสวัสดิการเจ้าหน้าที่ไม่ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อพระราชบัญญัติฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ในปลายปีนี้จะเกิดความคล่องตัวสำหรับการดูแลสวัสดิการของเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามากยิ่งขึ้น”

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ประชาชนไม่ต้องกลัวว่า หาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ผ่านการพิจารณาแล้ว จะมีการเอาเงินรายได้ส่วนนี้มาใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เพราะขั้นตอนการพิจารณานำเงินรายได้มาใช้นั้นต้องพิจารณากลั่นกรองกันหลายขั้น

ตั้งแต่การเขียนโครงการในพื้นที่ ผ่านการพิจารณาของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ของพื้นที่นั้น หลังจากนั้นก็จะถูกส่งเข้ามาที่สำนักอุทยานแห่งชาติ แล้วจะถูกส่งเข้าพิจารณาในคณะกรรมการพิจารณาเงินรายได้อุทยานแห่งชาติ

ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีทั้งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย และองค์กรพัฒนาเอกชนร่วมอยู่ด้วย หลังจากทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว อธิบดีจะเป็นผู้ลงนามอนุมัติ

“อย่างไรก็ตาม เงินรายได้ ไม่ใช่สิ่งสำคัญของกรมอุทยานแห่งชาติฯ เป้าหมายของเรา คือ การรักษาทรัพยากรธรรมชาติของพี่น้องประชาชนให้อยู่คู่กับคนไทยตลอดไปต่างหาก”

อันดับ 10 อุทยานยอดนิยมเก็บเงินรายได้สูงสุด

1. หาดนพรัตน์ธารา – หมู่เกาะพีพี 669,150,880.68 บาท
2. อ่าวพังงา 391,441,149.91 บาท 
3. หมู่เกาะสิมิลัน 308,001,294.49 บาท
4. เขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด 116,897,900.00 บาท
5. เอราวัณ 108,912,560.80 บาท
6. เขาใหญ่ 108,227,137.09 บาท
7. ดอยอินทนนท์ 72,674,788.00 บาท
8. เขาสก 63,029,460.00 บาท
9. หมู่เกาะลันตา 59,225,421.88 บาท
10. หมู่เกาะอ่างทอง 38,440,233.40 บาท

ปีงบประมาณ 2561 ยอดเงินถึง 2.7 พันล้านบาท