ข่าวต่างประเทศ อินโดนีเซีย โควิด-19

ภาวะ ‘โควิดระยะยาว’ และกลุ่มช่วยเหลือ ‘ผู้รอดจากโควิด-19’ ในอินโดฯ

ผู้ที่หายป่วยโควิด-19 ในอินโดฯ บางส่วนยังคงมีอาการป่วยหลังจากที่หายแล้ว ทำให้ประสบปัญหาหลายอย่างตามมา

Home / NEWS / ภาวะ ‘โควิดระยะยาว’ และกลุ่มช่วยเหลือ ‘ผู้รอดจากโควิด-19’ ในอินโดฯ

ประเด็นน่าสนใจ

  • กลุ่มผู้หายป่วยจากโควิด-19 ในอินโดฯ บางส่วนยังเจอภาวะโควิดระยะยาว
  • โดยยังคงมีอาการคล้ายกับเมื่อช่วงที่ยังคงป่วยอยู่
  • ผู้หายป่วยบางรายยังโดนตั้งแง่ เลือกปฏิบัติ ไล่ออกจากงานจากอาการบางอย่างที่ยังคงมีอยู่
  • มีการตั้งกลุ่ม “ผู้รอดชีวิตจากโควิดในอินโดนีเซีย” (CSI) เพื่อแบ่งปันข้อมูลและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

จูโน สิโมรังกีร์ ผู้รอดชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในอินโดนีเซีย รู้สึกสับสนอย่างมากเมื่อเขาเผชิญภาวะ “โควิดระยะยาว” (long COVID)

แม้จะหายดีและมีผลตรวจโรคเป็นลบในเดือนเมษายน 2020 แต่สิโมรังกีร์ยังมีอาการป่วยของโรคโควิด-19 อยู่ เช่น เส้นผมหลุดร่วง อ่อนเพลีย ไอ ความดันโลหิตสูง และเจ็บหน้าอกด้านซ้าย โดยเขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า “ผมมีอาการป่วยมากถึง 40 อาการ”

สิโมรังกีร์ปรึกษากับแพทย์หลายคน ทั้งแพทย์โรคปอด แพทย์โรคหัวใจ และอายุรแพทย์ แต่กลับไม่มีใครพบความผิดปกติในร่างกายของเขา ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจก็ปกติดี

ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2020 สิโมรังกีร์เริ่มพูดคุยกับผู้หายดีจากโรคโควิด-19 รายอื่นๆ จากหลายประเทศผ่านอินเทอร์เน็ต และพบว่าพวกเขาเผชิญผลกระทบหลังโรคโควิด-19 เหมือนกัน

สิโมรังกีร์เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศของกลุ่มผู้รอดชีวิตจากโรคโควิด-19 ร่วมกับดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ทางออนไลน์ในเดือนสิงหาคม 2020 ซึ่งผลักดันให้สิโมรังกีร์สร้างกลุ่ม “ผู้รอดชีวิตจากโควิดในอินโดนีเซีย” (CSI) เพื่อแบ่งปันข้อมูลและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

“ผมหวังว่ากลุ่มนี้จะทำให้ไม่มีคนต้องรู้สึกสับสน เหงา หรือเศร้าจากอาการ ‘โควิดระยะยาว’ อีก” สิโมรังกีร์กล่าว

กลุ่ม CSI ช่วยเหลือกลุ่มผู้หายป่วยจากโควิด-19

ช่วงแรกกลุ่มซีเอสไอเป็นเพียงกลุ่มบนเฟซบุ๊ก ก่อนจะขยายไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่างอินสตาแกรมที่ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 7,400 คน โดยนอกจากผู้รอดชีวิตแล้ว กลุ่มนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากแพทย์ นักระบาดวิทยา และนักจิตวิทยา

ซีเอสไอจัดการหารือทางออนไลน์เป็นครั้งคราว และมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาบรรยาย โดยการหารือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนต่อผู้รอดชีวิต ส่วนเมื่อต้นเดือนมีนาคมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตหลังหายจากโรคโควิด-19

นอกจากนี้กลุ่มซีเอสไอยังจัดโครงการ #บีตเดอะสติกมา (#BeatTheStigma) เพื่อต่อสู้กับการตราหน้าผู้รอดชีวิตจากโรคโควิด-19 เนื่องจากมีผู้รอดชีวิตจำนวนมากเผชิญการเลือกปฏิบัติในหลายรูปแบบเพราะพวกเขาถูกมองเป็นขยะชุมชนหรือต้นตอการติดเชื้อ ทั้งยังถูกไล่ออกจากงานเพราะพวกเขาแสดงอาการป่วยบ่อยครั้งและถูกมองว่าไม่สามารถทำงานได้

อาลิดา ซูซันติ สมาชิกกลุ่มซีเอสไอ วัย 40 ปี ในเมืองเดปกของจังหวัดชวาตะวันตก ซึ่งสูญเสียพ่อจากโรคโควิด-19 และยังคงเผชิญอาการ “โควิดระยะยาว” จนถึงปัจจุบัน รู้จักกลุ่มซีเอสไอในเดือนธันวาคม 2020 และคิดว่ากลุ่มนี้มีประโยชน์อย่างมาก ท่ามกลางความสับสนที่ต้องเผชิญสารพัดอาการป่วย

ซูซันติเล่าว่ากลุ่มซีเอสไอช่วยคลายข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับอาการป่วยของผู้รอดชีวิต และจัดการข่าวหลอกลวงที่แพร่กระจายบนสังคมออนไลน์ โดยหลังจากเข้าร่วมกลุ่มแล้วซูซันติกลายเป็นอาสาสมัครกระจายข้อมูลเกี่ยวกับ “โควิดระยะยาว”

ด้านดร. ทีโดรส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวระหว่างงานแถลงข่าวที่เมืองเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ว่า “โควิดระยะยาว” ส่งผลต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทั้งที่อาการหนักและอาการเบา วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันภาวะเหล่านี้คือไม่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 ตั้งแต่แรก

ดร. เจเน็ต ดิอาซ ผู้เชี่ยวชาญประจำทีมการเตรียมความพร้อมดูแลสุขภาพ (Health Care Readiness) ขององค์การฯ ระบุว่าภาวะหลังโรคโควิด-19 (post-COVID-19) เป็นกลุ่มอาการป่วยที่แยกออกจากกันและอาจเกิดขึ้นหลังหายป่วยนานถึง 6 เดือน

ดิอาซอ้างอิงรายงานซึ่งระบุว่าอาการป่วยที่พบบ่อยที่สุดคืออ่อนเพลีย เมื่อยล้าหลังออกแรง และความผิดปกติในกระบวนการรับรู้หรือที่บางครั้งเรียกว่า “ภาวะสมองล้า” นอกจากนี้ยังพบอาการหายใจไม่อิ่ม ไอ และอาการทางจิตหรือระบบประสาท

ดร. ดิอาซ อธิบายว่าผู้ป่วยที่แสดงอาการป่วยเหล่านี้อาจเป็น “ผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล” หรือผู้ป่วยที่มีอาการป่วยเล็กน้อยและเคยรักษาตัวอยู่ในสถานพยาบาลขนาดเล็ก

“เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจอาการป่วยเหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าคนกลุ่มใดมีความเสี่ยงสูงสุด และอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร”


ที่มา – ซินหัว