มะเร็งปากมดลูก วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก วัคซีนมะเร็งปากมดลูก

สรุปความเสี่ยงฉีดหรือไม่ฉีด วัคซีนมะเร็งปากมดลูก อันไหนเสี่ยงกว่า

มะเร็งปากมดลูก จัดเป็นโรคมะเร็งที่พบมากในกลุ่มผู้หญิงเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม

Home / แฟชั่น / สรุปความเสี่ยงฉีดหรือไม่ฉีด วัคซีนมะเร็งปากมดลูก อันไหนเสี่ยงกว่า

จากที่มีข่าวกรณีเด็กหญิงวัย 11 ปี ได้รับการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกแล้วเสียชีวิต โดยในรายละเอียดได้กล่าวว่า เด็กหญิงมีไข้ก่อนที่จะรับวัคซีนและเคยรับวัคซีนมาแล้ว 1 เข็ม ซึ่งหลังจากได้รับเข็มแรกไม่พบปัญหาใดๆ แต่เมื่อรับเข็มที่2 กลับมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก นำไปสู่การเสียชีวิตตามรายงานข่าวนั้น สร้างความกังวลใจให้กับผู้ที่กำลังตัดสินใจจะให้บุตรหลานเข้ารับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกเป็นอย่างมาก Women Mthai รวบรวมข้อเท็จจริงและ สรุปข้อมูลสำคัญของการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกให้พิจารณาถึงความจำเป็นและความสำคัญไว้แล้ว

มะเร็งปากมดลูก จัดเป็นโรคมะเร็งที่พบมากในกลุ่มผู้หญิงเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม โดยข้อมูลทางสถิติจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในปี 2553-2555 มีหญิงไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกกว่า 6,000 รายต่อปี และมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยมะเร็งปากมดลูกมากกว่า 2,000 รายต่อปี ผู้หญิงไทยอายุ 45-70 ปี เป็นกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด และสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกนั้นในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยเข้ารักษาในระยะที่อาการลุกลามแล้ว ด้วยอาการมีเลือดออกกะปริบกะปรอยจากช่องคลอด มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ มีตกขาวปนเลือด เป็นต้น

สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก เกิดจากหลายปัจจัย เช่น การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย มีบุตรมาก มีประวัติเป็นกามโรค แต่ปัจจัยที่สำคัญเป็นอันดับหนึ่งของการป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก คือ การติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Human Papillomavirus หรือเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ที่เนื้อเยื่อบุผิวปากมดลูก ทำให้เซลล์บริเวณปากมดลูกเจริญผิดปกติ และเปลี่ยนเป็นมะเร็งปากมดลูกในที่สุด แต่ในปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดโอกาสและป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ควรฉีดเมื่อไหร่
วัคซีนมะเร็งปากมดลูก แนะนำให้ในเด็กอายุ 11-12 ขวบ หรือสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบขึ้นไป โดยควรได้รับวัคซีน 2 เข็ม ในระยะห่างกัน 6 เดือน การฉีดวัคซีนปากมดลูกที่ให้ผลได้ดีที่สุดคือควรฉีดในหญิงที่อายุยังน้อยและยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงเด็กชายก็สามารถฉีดได้ แต่สำหรับในหญิงที่อายุเกิน 26 ปี ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการฉีด เพราะจัดอยู่ในกลุ่มที่วัคซีนอาจไม่ได้รับผลดีเท่าที่ควร แต่ก็สามารถฉีดได้

วัคซีนมะเร็งปากมดลูก มีผลข้างเคียงหรืออันตรายหรือไม่

โดยทั่วไปการฉีด วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง มักไม่ค่อยพบอาการข้างเคียงชนิดรุนแรง แต่ก็เคยพบอาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นบ้างได้แก่
– อาการข้างเคียงบริเวณที่ฉีดวัคซีน เช่น ปวด บวม แดง และคัน ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เป็นอยู่ชั่วคราวและหายไปเอง
– อาการทั่วไป เช่น ไข้ พบประมาณร้อยละ 10 ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและหายไปได้เอง อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย และผื่นคันตามตัว อาการเหล่านี้ไม่รุนแรงและหายไปได้เอง
– อาการแพ้ยามากแบบ anaphylaxis ซึ่งส่งผลให้อันตรายถึงชีวิต มีโอกาสเกิดขึ้น 3 ใน 1,000,000 (ref CDC) ซึ่งนับเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำมาก โดยหากมีอาการ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ใจสั่น หมดสติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อประเมินอาการทันที

กล่าวโดยสรุปคือ วัคซีนมะเร็งปากมดลูก ควรได้รับวัคซีนตั้งแต่ 9-26 ปี แต่วัคซีนจะให้ผลดีที่สุดหากเริ่มฉีดตั้งแต่อายุยังน้อยและยังไม่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์ หรือไม่เคยได้รับเชื้อ HPV ซึ่งวัคซีนมะเร็งปากมดลูก จัดเป็นวัคซีนกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำมาก แต่ให้ผลในการป้องกันได้สูงในกรณีที่ได้รับวัคซีนตามระยะเวลาที่กำหนด

และนอกจากนั้นยังมีคำแนะนำในการดูแลตนเองจากกระทรวงสาธารณสุข สำหรับในหญิงที่อายุ 30 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำปีละครั้ง หรืออย่างน้อยภายใน5ปี ควรได้รับการตรวจอย่างน้อย 1ครั้ง รวมทั้งในหญิงที่เคยได้รับวัคซีนก็ควรเข้ารับการตรวจด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะทำให้สามารถตรวจวินิจฉัยหากพบโรคได้ตั้งแต่ระยะแรกๆและทำการรักษาได้ทันท่วงที

อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักงานกระทรวงสาธารณสุข
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา w1.med.cmu.ac.th