มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูกที่เราจะแต่งตัวแบบเดิมๆ ซื้อเสื้อผ้าแบบเดิมๆ แพทเทิร์นเดิมๆ สีซ้ำๆ ไม่ว่าจะด้วยรสนิยม ความชอบ ความสะดวกสบายตอบโจทย์ต่อไลฟ์สไตล์ส่วนตัว หรืออยากเพลย์เซฟให้กับตัวเอง ไม่ต้องเสียเวลาไปลองเสื้อ ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องเกรงใจพนักงานจนต้องซื้อชิ้นที่ไม่ชอบ ไม่อยากได้ ใส่แล้วไม่สวย ไม่หล่อ ไม่มั่นใจกลับมา แล้วรู้สึกผิดกับตัวเองแถมยังรู้สึกล้มเหลวด้านการใช้เงิน แอดเชื่อว่ามีหลายคนที่ก็รู้สึกแบบนี้ ซึ่งแอดเองก็เคย แต่ผู้หญิงคนนี้ไม่เป็นอย่างนั้น เธอสนุกกับการลองเสื้อหลากหลายแบบ หลายสไตล์ หลากหลายสถานที่ และกิจกรรมการลองเสื้อนี่ล่ะที่พาเธอมาไกล จนถึงขั้นมีลูกเพจมียอดฟอลโลเวอร์มากมาย มีหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คเป็นของตัวเองชื่อเดียวกับเพจของเธอ เพจน้องนอนในห้องลองเสื้อ ที่มากกว่าแค่ความสนุก ความชอบส่วนตัว และไม่ได้ตั้งใจทำเพื่อหาสะตุ้งสตางค์แต่อย่างใด ย้วย นภษร ศรีวิลาศ เจ้าของเพจ น้องนอนในห้องลองเสื้อ บอกกับเราว่า นอกจากเดินทางแล้ว….การลองเสื้อ มันคือการ ค้นหาตัวเอง อย่างหนึ่ง
จุดเริ่มต้นของ น้องนอนในห้องลองเสื้อ
” จุดเริ่มต้น คือ เริ่มจากเป็นเพจเล็กๆ เริ่มจากเฟซบุ๊คตัวเอง แล้วเราก็ชอบลองเสื้อถ่ายรูป เก็บเป็นอัลบั้มส่วนตัว พอสักพักก็รู้สึกเกรงใจเพื่อนๆ ก็เลย ย้ายจากอัลบั้มภาพส่วนตัวให้มากลายเป็นเพจเฟซบุ๊คแล้วก็ทยอยๆ อัพเรื่อยมาจนวันหนึ่งก็มีคนมาตามเต็มไปหมดเลยก็งง ก็เลยกลายมาเป็นเพจ น้องนอนในห้องลองเสื้อ”
ห้องลองเสื้อที่ประทับใจที่สุด
” จริงๆ ชอบห้องที่มีกระจกรอบๆ ด้าน เพราะรู้สึกเราได้มองหลายๆ มุม ด้วยความเป็นคนที่ชอบถ่ายกับกระจก ถ้าแบรนด์ที่ชอบก็จะเป็น COS เพราะกระจกเค้าจะปรับได้ตามที่เราอยากจะปรับ และก็ร้านที่มีพื้นที่กางแขนได้ มีกลิ่น มีเพลงดีดี มีสี มีการจัดไฟที่ดีอะไรแบบนี้ ก็แล้วแต่เจอหลายๆ ร้าน บางร้านก็ห้องดี กลิ่นดี บางร้านก็เพลงดี จะชอบอะไรแบบนั้น “
เคยคิดจะนำประสบการณ์ที่เจอในห้องลองเสื้อต่างๆ มาต่อยอดทำอะไรเป็นของตัวเองไหมคะ
” ชอบมาก (เสียงหวาน ยิ้มทั้งแววตาและปากอย่างมีความสุข ) จริงๆ เวลาเราไปลองเสื้อแล้วเจอ บรรยากาศสิ่งแวดล้อมอย่าง พื้นที่ สี การจัดแสง และเพลงเนี่ย เคยคิดอยากเขียนเรื่องนี้อย่างจริงจังเหมือนกัน ทำหนังสือเรื่องนี้เลย Anatomy ของห้องลองเสื้ออะไรอย่างนี้ ถ้าได้ทำภาคต่อของซีรี่ย์ลองเสื้อเนอะ และก็เหมือนทุกคนน่ะ ใฝ่ฝันอยากมีร้าน ทุกครั้งที่ลองเสื้อก็จะคิดเลยว่า เฟอร์นิเจอร์ของร้านนี้สวยอยากจะเอาไปแมทช์กับพรมที่อยู่ในร้านนั้น อยากจะมีเพลงเพลย์ลิสต์แบบนี้ที่เราชอบ อยากให้มีกลิ่นแบบนี้ จัดแสงประมาณนี้ กระจกประมาณไหน เพราะจะชอบดูกระจก ตามร้านเฟอร์นิเจอร์อยู่ ถามว่าอยากต่อยอดอะไรก็มีแอบคิด แต่ก็ยังเป็นเรื่องของอนาคต “
ลองเสื้อกับใครสนุกที่สุด
” ลองเสื้อกับเพื่อนๆ นะ จะมีแก๊งเพื่อนๆ ที่ถ้าเลิกงานก็จะไปลองกันบำบัดความเครียดต่างๆ แต่ส่วนใหญ่ก็จะไปเองคนเดียวเพราะว่า เวลาไปหลายคนก็คือเกรงใจเพื่อนจะรอเราที่ถ่ายรูปนานหรือเปล่า แต่ถ้าไปกับเพื่อนหลายๆ คนก็จะมีธีม มีโจทย์ให้เช่น อาทิตย์นี้เรา stranger things กันไหม ก็จะแยกย้ายกันไปหาเสื้อผ้า แล้วจับเวลา หน้ากระจกที่ไม่ใช่ห้องลองเสื้อ แต่เป็นข้างนอก อันนี้คือความท้าทายอย่างหนึ่ง คือต้องไม่ให้พนักงานรู้ว่าเรากำลังเล่นเสื้อผ้าเขาอยู่ “
เคยโดนจับได้ไหมคะ
” ประจำเลย มันจะมีร้านที่แบบ เดินเข้ามาแล้วบอก ” คุณลูกค้าคะ ห้ามถ่ายรูปนะคะ ” แต่หลังๆ ใช้วิธีแบบไม่สบตาใคร คือบางทีเพื่อนที่รู้จักกัน เดินสวนกันยังไม่กล้าทักเลย เพราะกลัวว่าเรากำลังตั้งใจกับการถ่ายรูปอยู่หรือเปล่า “
ประสบการณ์ลองเสื้อที่ประทับใจและไม่มีวันลืม
” คือจริงๆ ที่มาของชื่อ น้องนอนในห้องลองเสื้อเนี่ย มันเกิดมาจากเราไปลองแบรนด์ Marimekko ช่วงแรกๆ แล้วเราชอบมากเดรสลายดอก อูนิโกะ เลยหยิบไปลอง จริงๆ ตามธรรมชาติของคน เดรสตัวเดียวมันลองไม่นาน แต่เราเข้าไปนานมาก พนักงานเค้าก็เรียกข้างหน้าห้องลองว่า ” คุณลูกค้าคะใส่ได้หรือเปล่า ” แล้วเราก็เพิ่งจะใส่เอง เพิ่งจะหมุนตัว ยังไม่ทันจะได้หยิบมาถ่ายรูปเลยอ่ะ ทำไมต้องเรียกแล้ว ก็จะมีความตื่นเต้นว่า ทุกครั้งที่ไปร้าน Marimekko เราจะหยิบแค่ชิ้นเดียวเพราะว่าถ้าหยิบหลายชิ้นจะรู้สึกเกรงใจเขา ซึ่งพอหยิบไปแล้วก็จะเป็นเหมือนพิธีกรรม คือ จ้องมันก่อน ชื่นชม ใส่แล้วก็หมุนตัวไปมา กว่าจะได้ถ่ายรูป จังหวะเนี่ยก็จะได้ดูก่อนว่าเค้าเรียกตอนไหน ซึ่งเค้าก็จะเรียกจริงๆ สำหรับ Marimekko”
ซึ่งก็ยังไปอยู่ ?
“ยังไปอยู่ ชอบเพราะว่ามันจะหาเดรสที่มันจับแพทเทิร์นของสี ของดอกแบบเต็มๆ อย่างนี้ยังยาก แบรนด์ที่เอาเข้ามาในไทยยังไม่ค่อยเยอะค่ะ แต่ถ้าเป็นต่างประเทศจะอู้ฟู่มาก”
เทคนิคในห้องลองเสื้อที่อยากแชร์
“เรารู้สึกว่าอยากให้เขาถนอมเสื้อผ้านิดนึง อันนี้แยกส่วนเนอะ ส่วนแรกคือ ทุกครั้งที่เราลอง เราก็ต้องคิดว่ามันเป็นเสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ซื้อ คือจะมีคนอื่นลองต่อจากเรา ก็ดูแลอย่าให้มันเลอะเครื่องสำอางเรา หรือว่าอย่าไปดึงทึ้ง ฉีกขาดมัน ถนอมน้องไว้ก่อน แต่ถ้าเกิดลองแล้วเราชอบ ก็ลองคิดให้ดีว่า ใส่แล้วมันจะโอเคไหม หลายครั้งเราจะถูกหลอกด้วยกระจกและไฟ แต่ว่าลองดูให้ดีว่าใส่แล้วมั่นใจหรือเปล่า ส่วนเทคนิคการถ่ายรูปในห้องลองเสื้อ ก็จะพยายามหาองศาอย่าให้ไฟมันตกหน้าจนเกินไป แต่ถ้าเกิดไฟตกทำยังไงก็หลบไม่ได้แล้วก็ลองใช้มือในการบังถ่ายรูปอาร์ทๆ ไป แต่ว่าไม่ค่อยมีเทคนิคจริงจังเรื่องการถ่ายรูป อยากให้ดูแลเสื้อผ้าของเขามากกว่าค่ะ อย่าทำให้เสื้อผ้าเขาเลอะ”
ถ้าคุณย้วย ไม่นอนในห้องลองเสื้อจะนอนที่ไหนคะ
” มีสองที่ คือ ไปนอนหน้าเคาน์เตอร์เครื่องสำอาง ชอบลิปสติกมาก ชอบสวอทช์สีใส่มือ จริงๆ มีอัลบั้มชื่อว่า ลิปสติก ไม่ทันได้ทำเพจนะ คือเป็นภาพลิปสติกคือลองเพื่อเลือก แต่สุดท้ายก็จิ้มสีที่มีอยู่แล้ว อีกที่คือ ร้านเครื่องเขียน จะชอบลองปากกา จะไปจดคำว่าสวัสดีไว้เต็มหน้ากระดาษแล้วถ่ายรูปเก็บเป็นคอลเลกชั่นไว้จะชอบลองอะไรแบบนี้ จริงๆ นิสัยไม่ค่อยดี (หัวเราะเขินๆ ) อย่าทำตาม”
ทำไมผู้หญิงเราเลือกซื้อสีลิปสติกเดิมๆ ซ้ำๆ ทุกครั้งเลยที่เราซื้อลิปมา
” หนึ่งคือ มันเหมือนเรามั่นใจกับการทาสีนี้ด้วย สองคือรู้สึกว่าสีมันเป็นเรา บางคนจะเป็นส้ม แดงเข้ม หรือแดงตุ่น แดงชมพูมันจะมีเฉดที่เราชอบอยู่แล้วมั่นใจ เป็นเซฟโซนของตัวเอง หลายครั้งที่เราอยากซื้อสีที่มันแตกต่างไปเลยเพราะว่าเราอยากจะเปลี่ยนลุค แต่สุดท้ายเราก็จะกลับมาที่สีที่เรามั่นใจแล้วว่าทาแล้วรอด เราไม่ได้อยากจะเปลี่ยนลิปบ่อยๆ หรอกแต่ว่าเราอยากจะลองเนื้อหลายๆ แบบ 555 ข้ออ้างใช่ไหม ? กลิตเตอร์หลายๆ แบบ สุดท้ายก็จะลงเอยที่สีเดิมทุกที “
สิ่งที่ได้จากการนอนในห้องลองเสื้อคืออะไรบ้างคะ
” ทำมา 2 ปีกว่า ไม่คิดเลยว่าจะมาถึงจุดนี้ มีคนมาสัมภาษณ์ ได้ออกหนังสือใดใด มันเริ่มจากที่เราลองเสื้อผ้าแล้วมีความสุข แล้วเราก็ชอบถ่ายรูป ชอบมิกซ์แอนด์แมทช์แค่นั้นเอง แต่ว่า สิ่งที่ตามมามันคือทั้งหมด มันเยอะมากไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คือลูกเพจใครก็ไม่รู้ ไม่รู้จักเรา มาตามเรา ทักมาในอินบ็อกซ์ว่าช่วยเลือกกางเกงให้หน่อย มีโจทย์ให้เรา อย่างเช่นว่า ต้องไปงานแต่ง แต่งตัวยังไงดี หรือแม้กระทั่งว่า ซื้อเสื้อตัวนี้ดีไหม ซื้อมาแล้วใส่กับอะไร ชวนเราคุย ทักทายกันตามร้านเสื้อ หรือแม้กระทั่งได้ออกหนังสือ ได้มีโอกาสไปโน่นมานี่ ที่เขาชวน เขาเชิญให้เราได้ลองไปทำอะไรใหม่ๆ มันเป็นอะไรที่พาเราไปไกล อันนี้เรื่องหนึ่ง ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่มันกลับมาเป็นเรา คือเรื่องงานประจำ ด้วยเราเป็นคอนเทนต์ด้วย มันช่วยในการคิดอีกแบบหนึ่ง ลืมโลกที่เราทำงานกันไป ให้ทำในสิ่งที่ไม่มีใครบังคับแล้วเราก็เลือกได้ รู้สึกว่าโอเคนะ มันอยู่ที่มุมมองของเราด้วยมั้งคะ บางคนอาจจะมองการทำสิ่งนี้ให้เป็นตัวเงิน คือหลายคนทำเพจแล้วแปรเป็นตัวเงินเนอะ ซึ่งจริงๆ เพจน้องนอนในห้องลองเสื้อมีหลายคนมาทักว่ามันทำเงินได้ อาจจะเช่น แปะโลโก้ร้านไปเลย บอกไปเลยคอลเลกชั่นไหนราคาเท่าไหร่ แล้วให้คนมาตามซื้อ แต่เรารู้สึกว่าการทำสิ่งนั้นมันไม่ใช่ธงของเราตั้งแต่แรก เราก็เลยทำเหมือนเพื่อนแนะนำเพื่อนมากกว่า กลายเป็นว่ารักษากลุ่มเพื่อนนั้นไว้ มากกว่าจะไปตั้งใจขายของเขา แต่เวลามีสปอนเซอร์มาลง ก็จะมีบรรดาลูกเพจมาแสดงความยินดีด้วยว่าแบบขายของได้แล้ว 555 อะไรอย่างนั้น รู้สึกว่ามันก็พาเรามาไกลมากเลย “
ถ้าขอบคุณอะไรได้สักอย่าง ที่พาคุณย้วยมาถึงจุดนี้ อยากจะขอบคุณใคร
“ถ้าตอบสวยๆ คือ อยากขอบคุณตัวเองที่ยังทำต่อ คือจริงๆ มันทำแล้วมันไม่ได้อะไรนะ มันเสียเงินมากมหาศาลเหมือนกัน ไปลองเสื้อทีบางทีเราก็รู้สึกเกรงใจร้าน เราก็จะซื้อกลับมา มันไม่เชิงว่าเราจะลุกมาเป็นกูรู หรือเป็นไอดอล หรือเป็นอินฟลูเอนเซอร์หรอก คือทำเพจแล้วมันทำให้เรารู้สึกว่ามีเพื่อนที่คิดเหมือนกันกับเราอยู่เยอะมาก คนที่ชอบเสื้อผ้าสไตล์นี้ คนที่เขาไม่มั่นใจเลย คนที่เขาไม่เคยลองเสื้อแต่ซื้อตลอด เขาได้รู้สึกว่าการจะหยิบซื้อสักครั้ง ลองหรือยังว่ามันเข้ากับตัวเองไหม หรือบางแบบบางสไตล์ที่มันแขวนอยู่ที่ราวแล้วเรารู้สึกว่าให้ตายฉันก็ไม่ใส่ แต่สักครั้งที่ได้ลองแล้วรู้สึกว่า เอ้า มันก็ดีนี่นา สีแบบนี้ฉันไม่ใส่แน่นอน แต่อ้าว เขาลองสีขาวก็สวยดี เราลองดูบ้างไหม มันได้เปิดโอกาสให้คนอื่นได้ทำ ได้ค้นหา แล้วรู้สึกว่าการลองมันคือการได้สำรวจตัวเอง เหมือนเราไม่ต้องเดินทางก็ได้ การค้นหาตัวเองมันทำได้หลายทาง กินกาแฟเมนูเดิมๆ ลองกินกาแฟเมนูใหม่จนได้เมนูที่ชอบ ลองเสื้อผ้าจนได้สไตล์ที่ชอบ ออกเดินทางจนรู้ว่าตัวเองเป็นคนยังไง ไปไกลแล้วเนอะคำถาม (ยิ้มเขินๆ ) ก็นี่ล่ะค่ะ ขอบคุณตัวเองแล้วก็ขอบคุณทุกคนที่เห็นดีเห็นงามว่ามันไปได้ คือเวลาที่มีคนมาชื่นชมว่า สิ่งที่ทำมันเจ๋งมาก เราก็งงว่าอะไรพี่มันก็แค่ลองเสื้อเอง แต่คือเวลาถามเขากลับว่ามันดียังไง เขาก็จะตอบกลับมาว่า มันคือการที่เขาไม่กล้าใส่แล้วเขาก็ได้ลอง เขากลัวอ้วน เขาไม่มั่นใจ เขารู้สึกว่า ย้วยก็ไม่ได้เป็นนางแบบ มุมหนึ่งคือ ย้วยไม่ใช่นางแบบหุ่นดี ตัวสูง ขายาว ย้วยก็ยังใส่แล้วก็ยังมีความสุขกับเสื้อผ้าแบบนี้ เพราะงั้นเขาก็น่าจะมีความสุขได้เหมือนกัน รู้สึกว่าการเป็นเพื่อนแบบนั้นมันโอเค “
เศรษฐศาสตร์กับห้องลองเสื้อเกี่ยวข้องกันยังไงคะ
“คือเราเรียนเศรษฐศาสตร์มา คนก็จะเข้าใจว่ามันเป็นเรื่อง ขาดทุน กำไรเนอะ แต่อยากจะบอกมุมหนึ่งว่ามันคือเรื่องของการบริหารจัดการ สิ่งที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด อันนี้คือนิยามของเศรษฐศาสตร์แต่ถ้าเอามาใช้กับการลองเสื้อของเราคือ การซื้อเสื้อหนึ่งตัวนั้นมันคุ้มกับการที่เราจ่ายเงินไปหรือเปล่า แปลว่า ซื้อเสื้อ 1 ตัว มันไม่ควรจะใส่เป็นเสื้อยืดตัวเดียว แต่เราลองมิกซ์แอนด์แมทช์ได้ไหม สมมติซื้อแจ็กเก็ต แจ็กเก็ตอาจจะแพงตัวหนึ่งราคาหลายพัน แต่ว่าแจ็กเก็ตหนึ่งตัวนั้นทำให้เราใส่คอเต่าไว้ข้างในก็ได้ ใส่เสื้อเชิ้ตไว้ข้างในก็ได้ ใส่เสื้อยืดก็ได้แล้วมันได้หลายลุค มากกว่า 3 – 4 ลุค อะไรอย่างนี้รู้สึกว่า ถ้ามันคุ้มก็ควรจะซื้อแต่ไม่ได้หมายความจะซื้อทุกแบบ ลองก่อนว่าชอบไหม ผ้ามันโอเคไหม การลองมันทำให้เห็นว่า สามารถหาแบบนี้คล้ายๆ กันที่ไหนได้หรือเปล่า คือไม่จำเป็นว่าเราชอบแบรนด์นี้แล้วต้องซื้อเลย ย้วยไม่ได้สนับสนุนให้ทุกคนซื้อทุกอย่างที่อยากได้ขนาดนั้น แต่ว่าอยากให้เขาได้ลองแล้วรู้ว่ามันเหมาะกับเราจริงๆ เราเหมาะกับผ้าประมาณนี้ อย่างย้วยจะไม่เหมาะกับกระเป๋าหนังเท่าไหร่ แต่มันจะมีแค่บางทรงเท่านั้นที่ถือแล้วโอเค ดังนั้นก็จะมีกระเป๋าผ้าเยอะกว่ามันคือการลอง เศรษฐศาสตร์มันคือการลองผิด ลองถูก หาปัจจัย หาสิ่งที่เป็นองค์ประกอบตัวเรา อันนี้ก็เหมือนกันคือการลองเสื้อผ้า ก็ควรจะคิดพิจารณาให้ดี อย่าเพิ่งซื้อทุกอันที่อยากได้ เพราะว่ามันไม่ได้เป็นสินค้าที่เพิ่มกำไร มันไม่ได้ลงทุนได้ มันมีแต่เสื่อมถอยลง แต่ว่าสิ่งที่เราลงทุนไปกับเสื้อผ้ามันเสริมความมั่นใจเราไหม ช่วยทำให้เราทำงานได้ดีขึ้นหรือเปล่า อย่างเช่น จะต้องไปงานที่เป็นทางการมาก แต่การมีแจ็กเก็ตหนึ่งตัวมันก็ถือว่าตอบโจทย์ เรียกว่าเป็นการใช้เงินอย่างคุ้มค่า”
แชร์เคล็ดลับในการใช้เงินช้อปปิ้งหน่อยค่ะ
” ( หัวเราะก่อนเลย ) อย่างตัวเองยังทำได้ยากเลย หลักๆ ก็คือถ้ามีบัตรเครดิตก็เก็บไว้ก่อน ใช้ในยามจำเป็นจริงๆ เพราะว่า
แม่มักจะสอนเสมอ และมันก็เป็นอย่างที่แม่สอนจริงๆ ว่า สิ่งที่เราเจออันนี้ จะไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่เราเจอหรอก เราจะเจอของที่เราชอบมากกว่านี้ได้อีก
ดังนั้นยกเว้นว่า เรารู้สึกว่ามันคือแรร์ไอเท็มจริงๆ แล้วเรารู้สึกว่าเราไม่สามารถหาสิ่งนี้ได้ที่ไหน เราค่อยตัดใจซื้อ
แต่ว่าถ้ามันรอได้ เราลองถามตัวเองว่า เราอยากได้มันจริงๆ ใช่ไหม มันให้ประโยชน์อะไรเราบ้าง มันใส่ได้มากกว่า 3 ลุค มันเหมาะกับเราจริงๆ เราจะใช้ใส่ไปงานนี้งานนั้น ตอบคำถามตัวเองให้ได้ อย่าเพิ่งตัดสินใจทันที การใช้เงินสำหรับย้วยยังยากอยู่เลย ทุกวันนี้แม่ยังโทรมาถามตลอด ล่าสุดไปญี่ปุ่นมา เหมือนแม่จะรู้ แม่โทรมาถามทุกชั่วโมงว่า อย่าเพิ่งซื้อนะ เธอยังอยู่อีกตั้ง 9 วัน เดี๋ยวจะหมดเงิน มันคือการบริหารเงิน เราอาจจะหามันได้ง่าย หรือ อาจจะไม่ง่าย แต่เราก็ควรจะรู้คุณค่าของมัน คือเสื้อตัวนี้มันอาจจะสวยในวันนี้
คืออย่างที่เรารู้ว่า แฟชั่นมันไม่ได้ยั่งยืน อีก 2 สัปดาห์มันอาจจะไม่ได้ฮิตแล้วก็ได้ หรือ ทรงแบบนี้ สีนี้มีแล้ว คราวหน้าอาจจะหาสีนี้แต่ว่าเป็นทรงอื่นไหม จะได้เปลี่ยนอารมณ์หลายๆ แบบ ถ้าหลักการใช้เงินไม่มี ย้วยจะมีทริคนิดเดียวคือถ้าชอบก็จะภาวนาให้มันราคาแพงไปเลย แบบไม่มีใครจะซื้อมันได้อีก แบบอย่ามีคนซื้อนะ หลายๆ ครั้งการช้อปปิ้งก็อาจจะเป็นเป้าหมาย เป็นธงเล็กๆ สำหรับบางคนด้วยว่าเราอยากจะตั้งใจทำงานเพื่อได้กระเป๋าใบนี้ ก็เป็นเรื่องที่ดี ก็ลองคิดดูว่า สิ่งที่เราใช้ มีหรือยัง เหมาะสมหรือเปล่า แล้วเราสามารถจะครอบครองมันได้ไหม เหมาะที่จะครอบครองมันหรือเปล่า หลักการง่ายๆ ค่ะ “
ไม่ใช่แค่เพียงการลองเสื้อ หรือ การเดินทางเท่านั้นที่จะทำให้เราค้นพบอะไรใหม่ๆ จริงๆ แล้วยังมีกิจกรรมง่ายๆ ใกล้ตัวอีกตั้งมากมายที่สามารถจะพาเราไปค้นพบ เปิดโลกอีกหลายๆ ใบ หลายๆ มุมมองให้กับเรา ขอเพียงแค่เราได้ลองลงมือทำมันแล้วหรือยัง ? ไม่จำเป็นต้องเป็น New year Resolution ก็ได้ ลงมือทำเลย ไม่ต้องรอ แค่เริ่มจากสิ่งที่ตัวเราเองชอบ สนใจ และไปสนุกกับมัน อย่ากลัวที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ แล้วคุณอาจจะได้พบ ได้เห็นอะไรๆ ที่แตกต่างจากโลกใบเดิมที่คุณเคยมองก็เป็นได้เหมือนอย่างที่คุณย้วยค้นพบนี่ล่ะค่ะ
ขอขอบคุณ
สถานที่ถ่ายทำ ร้าน Gloc อารีย์ ซอย 2
ภาพประกอบจาก เพจน้องนอนในห้องลองเสื้อ