บอกลามะเร็งปากมดลูก ด้วย Primary HPV-DNA Screening การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเบื้องต้นด้วย เอชพีวี ดีเอ็นเอ
“เพราะผู้หญิงทุกคนบนโลกนี้ ไม่ควรต้องเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก”
การตรวจพบเชื้อ HPV ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น…สามารถช่วยรักษาชีวิตของผู้ป่วยได้
สาวๆ รู้หรือไม่ว่า HPV หรือ Human papillomavirus คือเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ที่สามารถอยู่ในร่างกายได้นานถึง 10 ปี โดยไม่แสดงอาการ หากร่างกายเราอ่อนแอ เชื้อ HPV จะพัฒนากลายเป็นมะเร็ง และหากคุณผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว จะยิ่งเสี่ยงติดเชื้อ HPV มากกว่าผู้หญิงที่ยังบริสุทธิ์ ไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิงที่มีคู่นอนเพียงคนเดียว หรือใช้ถุงยางอนามัย หรือไม่มีเพศสัมพันธ์มาเป็นเวลานาน ก็เสี่ยงติดเชื้อนี้ได้ ซึ่งจากสถิติพบว่าผู้หญิง 4 ใน 5 คน จะติดเชื้อไวรัส HPV ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต!
เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าติดเชื้อ HPV แล้ว
เราจะไม่มีโอกาสรู้ได้เลย ถ้าไม่ไปตรวจคัดกรอง และเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายเราอ่อนแอ เจ้าเชื้อ HPV จะค่อยๆ พัฒนากลายเป็นมะเร็งปากมดลูก ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA จะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงว่า เราจะมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกในอนาคตหรือไม่
แพทย์หญิงวิภาดา บิณฑวิหค สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช เผยว่า
สาเหตุสำคัญที่ทำให้หญิงไทยเป็นโรคนี้คือ ความอายที่จะไปตรวจคัดกรอง หรือความละเลยที่จะไปตรวจ ปัจจุบัน การตรวจคัดกรองเป็นวิธีหลีกเลี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูกได้ดีที่สุด ซึ่งโดยทั่วไปจะมีอยู่ 3 ประเภท
1.Pap Smear (แพปสเมียร์) ความไวหรือความสามารถในการพบรอยโรค เพียง 53%
2.Liquid base Cytology ความไวหรือความสามารถในการพบรอยโรค 74%
3.การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV (HPV DNA) ความไวหรือความสามารถในการพบรอยโรค เกือบ 100% โดยนำเซลล์ปากมดลูกมาตรวจแบบเจาะลึกถึงระดับ DNA ของเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกสูง สามารถเว้นช่วงตรวจได้ 3-5 ปี ช่วยให้แพทย์คาดการณ์ความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
“ปัจจุบัน การตรวจ HPV DNA ได้รับการแนะนำให้ใช้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเบื้องต้นเพียงอย่างเดียว (Primary Screening) ได้ และนับเป็นการตรวจหาดีเอ็นเอของไวรัสเอชพีวี (หารอยโรค) ก่อนการเป็นมะเร็งของปากมดลูก สามารถตรวจพบแม้ยังไม่พัฒนาเป็นมะเร็ง และยังเป็นวิธีการตรวจคัดกรองที่ได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้วิธีการเก็บเซลล์บริเวณปากมดลูกในการตรวจหา DNA ของเชื้อ HPV จำนวน 14 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง โดยสามารถระบุเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ได้อย่างเฉพาะเจาะจง และยังสามารถตรวจหาเชื้อ HPV สายพันธุ์เสี่ยงสูงอีก 12 สายพันธุ์ได้ในการตรวจเพียงครั้งเดียว
ทั้งนี้ โรคมะเร็งปากมดลูกเกือบทุกกรณีมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ HPV โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกถึงร้อยละ 70 ” แพทย์หญิงวิภาดา บิณฑวิหค กล่าวเสริม
“สาวๆ โดยเฉพาะสาวไทย มักจะไม่กล้าไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกกัน อย่าอาย อย่ากลัว อย่าคิดว่า ไม่มีอาการอะไรไม่ต้องตรวจก็ได้ หรือคิดว่าเราไม่ได้มีเพศสัมพันธ์มานานแล้ว เพราะคุณคิดผิด มะเร็งปากมดลูกเกิดได้กับผู้หญิงทุกคน แต่ปัจจุบันเราหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดโรคนี้ได้ด้วยการตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีน เพราะผู้หญิงทุกคนบนโลกนี้ ไม่ควรต้องเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก” แพทย์หญิงวิภาดา บิณฑวิหค กล่าวสรุป
Q. ถ้าฉันมีเชื้อ HPV แสดงว่าคู่ครองของฉันนอกใจฉันใช่ไหม?
A. แม้ว่าคุณจะมีความสัมพันธ์กับคู่ครองเพียงคนเดียวเป็นเวลานาน แต่คุณก็อาจมีเชื้อนี้ได้ เพราะเชื้อไวรัสชนิดนี้อาจไม่แสดงอาการเป็นเวลาหลายปีกว่าจะตรวจพบการติดเชื้อ ดังนั้น การตรวจพบเชื้อ HPV ไม่ได้บ่งบอกตัวตนของคุณ คู่ของคุณหรือสะท้อนถึงรูปแบบการใช้ชีวิตของคุณ
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับPrimary HPV-DNA, ไวรัส HPV และโรคมะเร็งปากมดลูกได้ที่เว็บไซต์ www.hpvactnow.com