Crafts Bangkok 2019 รวมงานคราฟต์ ฝีมือคนไทยจากหลากหลายจังหวัดในประเทศ ปักหมุดรวมความสุดยอด และคุณค่าแห่งการสร้างงาน ผ่าน สตอรี่ เรื่องราวดีๆจากผลงานและ ถ่ายทอดแรงบันดาลใจที่คนเสพงานศิลป์อย่างเรา คาดไม่ถึง ว่าผลงานและความตั้งใจผลิตชิ้นงานแต่ละชิ้น ล้วนมีเรื่องราวมากมาย และมีคุณค่าในตัวของมันเอง ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ลองมาค้นหาเรื่องราวพิเศษ เหล่านั้นด้วยตัวของคุณเอง ผ่านการ “เล่าเรื่อง ของ เรื่องเล่า” จากงาน Craft Bangkok 2019 งานที่รวมสุดยอดงานหัตถศิลป์ยุค 4.0 ต่อยอดนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เปิดโลกดีไซน์ใหม่ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้าสู่วิถีชีวิตประจำวัน ถ่ายทอดงานหัตถศิลป์ไทยให้เข้าสู่ หัวใจของเราทุกคน แล้วเพื่อนๆ จะได้รู้ว่า งานหัตถศิลป์ไทยสร้างคุณค่าทางจิตใจให้กับทั้ง ผู้สร้างงาน และผู้ที่เสพผลงานได้อย่างแท้จริง
เมื่อทุกสิ่ง ล้วนมีเรื่องราวในตัวของตัวเอง
รวม 5 เรื่องราวดีๆ จากสตอรี่คนสร้างงาน
รวม 5 เรื่องราวดีๆ จากสตอรี่คนสร้างงาน จากแบรนด์ต่างๆ ที่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของงานที่เรานำมาถ่ายทอดเรื่องราวเล่าสู่กันฟัง ที่จะทำให้หัวใจของคุณพองโตไปกับการเสพงานศิลป์
1. นุ่น ศิรพันธ์ แม่บ้าน Eco หัวใจรักษ์สิ่งแวดล้อม
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวดีๆ เกิดจาก “ความรัก”
เคยสงสัยว่าทำไม พี่นุ่น ศิรพันธ์ เธอถึงมีสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นในเรื่องของแฟชั่นการแต่งตัว ทั้งออกงานและทั้งสไตล์ในชีวิตประจำวัน ที่เธอนิยมส่วมใส่งานผ้าไทย เสื้อผ้าพื้นเมือง ใช้ถุงผ้า หรือแม้กระทั่งงานแต่งงานธีมรักษ์โลก ที่ไม่เหมือนใครเรียบง่ายแต่มีสเน่ห์ รวมความ Eco ต่างๆ เข้าไว้ในตัวตนของเธอ ซึ่งเรื่องราวความชอบทั้งหมดเกิดขึ้นมาจาก ผู้ชายคนนี้ ท็อป–พิพัฒน์อภิรักษ์ธนากร สามีสุดที่รักคนนี้นี่เอง จัดว่าผู้ชายคนนี้คือ Eco Designer ตัวจริง เพราะพี่ท็อปมีความชอบและสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาโท จบการออกแบบผลิตภัณฑ์และสนใจปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด จนวันนึงที่พี่นุ่นมีโอกาสได้มารู้จักกับผู้ชายคนนี้ ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา เธอได้ซึมซับความรู้สึก เรื่องราวดีๆ จากมุมมองด้านการรักษ์โลกจากพี่ท็อป จนทุกวันนี้เรื่องสิ่งแวดล้อมได้เข้ามากลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเธอไปแล้ว
ทั้งคู่ได้เปิดร้าน ชื่อว่า The Eco Shop เป็นร้านขายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแห่งแรกในประเทศไทย รวมงานฝีมือจากคนไทย เป็นเซนเตอร์เล็กๆ ที่ช่วยสร้างคุณค่าและความภูมิใจให้กับหลายๆ แบรนด์ ที่ได้มีโอกาสเอาชิ้นงานมาวางขายในร้าน เป็นแหล่งรวมความ Eco จากหลากหลายที่ เข้าไว้ด้วยกัน
โปรเจคล่าสุดที่พี่นุ่นตั้งใจไว้ คือ การสร้างกิจกรรมวิสาหกิจชุมชน ไปเป็นชาวสวนอยู่ที่เชียงใหม่ ชวนชาวบ้านอบสมุนไพร ปลูกผักออแกนิก มีที่ให้คนเข้ามาเยี่ยมชมงาน ให้ความรู้แชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องของการใช้ชีวิต ที่เป็นทั้งในด้านของธุรกิจ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมไปควบคู่กันนั้นทำอย่างไร
2. Inthai (อินไทย)
เด็กรุ่นใหม่ ไฟแรง มาพร้อมแรงบันดาลใจ ต่อยอดแบรนด์ จากงานศิลปนิพนธ์
เด็กรุ่นใหม่ ไฟแรง มาพร้อมแรงบันดาลใจ ต่อยอดจากงานออกแบบแบรนด์ งานศิลปนิพนธ์ผ้าพันคอของตัวเอง นำมาต่อยอดเป็นเครื่องประดับ ใช้ความรู้พื้นฐานด้านศิลปะการออกแบบนิเทศศิลป์ ที่ตัวเองถนัดให้เป็นธุรกิจส่วนตัว เมื่อจบออกมาก็พัฒนาแบรนด์เป็นของตัวเอง
แรงบันดาลใจมาจาก : เห็นงานหัตถกรรมไทยหลายอย่างที่เป็น ข้าวของเครื่องใช้ แพทเทิร์นสวย รายละเอียดประณีต รู้สึกได้ว่ามันเป็นได้มากกว่าจานชามหรือเป็นที่ใส่ของ เราสามารถหยิบลวดลายเอกลักษณ์มันมาเป็นสินค้าแฟชั่นได้ อาจจะลดท่อนบางอย่างลงแล้วก็ดัดแปลงใหม่ให้สามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น
สินค้าของทางแบรนด์ : เป็นพวกลายผ้าพันคอ เครื่องประดับที่มาจากเซรามิก ลายจักรสาน มีการถ่ายทอดลายเซรามิก อย่างลายคราม ลายชามตราไก่ เครื่องเบญจรงค์มาประกอบถ่ายทอดความสวยงามลงสู่เครื่องประดับที่โดดเด่น ออกแบบดีไซน์และส่งงานให้ช่างที่มีความชำนาญในแต่ละด้านที่ต่างกันออกไปทำชิ้นงาน แล้วเรานำมาประกอบหลอมรวมเข้าด้วยกันกลายเป็นแบรนด์ Inthai
ต่อยอดแบรนด์เพิ่มเติม : คือพยายามส่งแบรนด์สินค้าให้ไปสู่สากลมากยิ่งขึ้น อยากได้ฟีดแบคกลับมาเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับชุมชนที่มีผลิตภัณฑ์ดีๆและอย่างต่อยอดมากขึ้น
3. KANITA
งานเครื่องหนัง จาก “ขนมไทย” จากงานอดิเรก สู่การสร้างแบรนด์
งานเครื่องหนัง คอลเลคชั่น จาก “ขนมไทย” จากผู้ที่แค่ชื่นชอบเป็นงานอดิเรก ใช้เวลาว่างจากงานประจำ ต่อยอดมาสู่แบรนด์ที่เป็นของตัวเอง
แรงบันดาลใจ : ที่เลือกทำเครื่องหนัง เพราะเป็นคนชอบงานหนัง และระแวกของที่ทำงานประจำ จะมีพวกร้านขายเครื่องหนังและอุปกรณ์ต่างๆอยู่แล้ว เลยซื้อมาทำเล่นๆ เป็นงานอดิเรกเสาร์อาทิตย์ ทำแจกเป็นของขวัญบ้าง โดยใช้พื้นฐานความรู้ที่เรียนมาซึ่งอาจจะไม่ได้เรียนเครื่องหนังมาโดยตรงและแต่ใช้พื้นฐานทางด้านสาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ ของตัวเองเอาความรู้ที่มีมาประยุกต์ใช้ในการสร้างผลงาน
พอดีมีช่วงนึงได้มีโอกาสส่งผลงานเข้าประกวดกับทาง TCDC ได้ค้นหาแรงบันดาลใจว่าอยากจะออกแบบชิ้นงาน ให้มีความเป็นไทย ใช้งานได้จริงและผสมผสานกับงานเครื่องหนังที่ชื่นชอบ จนได้ออกมาเป็นคอลเลคชั่น ขนมไทย และได้รับรางวัลปี 2011 ตัวที่ได้รับรางวัลคือ ตัวขนมใส่ไส้ จากจุกเริ่มต้นเล็กๆ ได้เริ่มมีการวางจำหน่ายใน Shop ต่างๆตั้งแต่ตอนนั้นมา จนตัวเองรู้สึกว่าอยากจะออกมาศึกษาและลงมือทำอย่างจริงจังจึงได้ลาออกจากงานประจำ มาต่อยอดงานอดิเรกสู่งานประจำใช้เอกลักษณ์ ขนมไทยพื้นบ้าน เป็นแรงบันดาลใจจนถึงทุกวันนี้
4. KATTARA
กระเป๋าผ้า มุมมองจากสิ่งใกล้ตัว ถ่ายทอดงานฝีมือลงสู่ผืนผ้า สร้างเอกลักษณ์ด้วยจุดเด่นจากลายเส้น
งานกระเป๋าผ้าแคนวาส จากมุมมองสิ่งใกล้ตัว ผสานรวมกับจุดเด่นตัวเอง ถ่ายทอดงานฝีมือลงสู่ผืนผ้า สร้างเอกลักษณ์ด้วยจุดเด่นจากลายเส้นของตัวเอง
เอกลักษณ์ของร้าน : กระเป๋าผ้าแคนวาส ไม่ฟอกสี พยายามอิงกับธรรมชาติให้มากที่สุด มีแรงบันดาลใจมาจากลวดลายของ ถาดสังกะสีลายดอกขอบแดง ลายปิ่นโตเก่า นำเอามาเล่าเรื่องใหม่ในแบบลายเส้นของตัวเอง วาดลายเส้นเองและพยายามให้มีการสอดคล้องในด้านของความเชื่อ เข้ามามีส่วนประกอบในงานดีไซน์กระเป๋าผ้าของแบรนด์ตัวเอง ซึ่งลายคิดขึ้นมาเองประยุกต์ต่อยอดจากลายเดิมที่มีอยู่แล้ว แล้วนำมาพัฒนาให้มันใช้ได้และสอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยอยากให้ลวดลายจากถาด เอกลักษณ์ความสวยของลาย ไม่เลือนหายไปสามารถ นำมาใส่ไว้ในงานแฟชั่น ให้เข้าใกล้กับวิถีการดำเนินชีวิตได้มากขึ้น เพิ่มคำอวยพร คำมงคลต่างๆ นิยมซื้อใช้เองหรือซื้อเป็นของฝากก็เก๋
5. Muttothai Anatta (มุตโตทัย อนัตตา )
ใช้พื้นฐานธุรกิจห้องเสื้อดั่งเดิมของครอบครัว กับจุดพลิกผันความคิด ที่มีคุณค่า มากกว่า เงินทอง
มุตโตทัย อนัตตา ( Muttothai Anatta ) ชื่อแบรนด์แปลก น่าค้นหา ในความหมายของเจ้าของแบรนด์ แปลว่า ความเป็นอิสระ ความไม่ยึดติดกับอะไร สื่อถึงผลิตภัณฑ์ของที่ร้าน ก็คือ การใช้เส้นใยธรรมชาติและสีจากธรรมชาติ เป็นความงามที่อิสระจากธรรมชาติ
เรื่องเล่า : จากเรื่องราวของเจ้าของแบรนด์
ด้วยความที่เราได้เปลี่ยนตรงที่ทางบ้านมีธุรกิจห้องเสื้อดั่งเดิมของตัวเองอยู่แล้ว ประสบการณ์จาก 40 ปี ที่เราทำเสื้อผ้า คัตติ้งระดับห้องเสื้อ เราเลยนำความรู้ความสามารถตรงนี้เข้ามาจับงานของชุมชน ในจังหวัดสกลนคร จังหวัดบ้านเกิดของเราให้คนผู้เฒ่าผู้แก่ เด็กสมัยใหม่ได้มีโอกาสสร้างงาน สร้างรายได้กระจายเข้าสู่ชุมชนท้องถิ่น ใช้ความเป็นกันเองกับทุกคนเข้าไปคลุกคลีเข้าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละกลุ่มชุมชน ต้องใช้เวลาและการเอาใจใส่รายละเอียดในการทำงาน ปัญหาที่เกิดขึ้นที่สัมผัสได้บ่อยๆ คือ บางครั้งการมาว่าจ้างให้ทอผ้าต่างๆ พอถึงเวลาแล้วไม่มารับงาน ปล่อยทิ้งเขาให้รอ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก จึงได้มีการเข้ามาช่วยเหลือในด้านการรับซื้อผ้า เพื่อนำมาสร้างงานดีไซน์ ถือเป็นการช่วยเหลือชุมชนอย่างหนึ่ง
เริ่มต้นเลยคือ : เราทำเพราะชอบ ทำเพราะสนุก แต่พอเราทำแล้วมีลูกค้าที่ชอบชิ้นงาน แล้วเขาตอบรับ แล้วเมื่อเราเอาฟีดแบคงานของเรากลับไปให้ คนที่เขาทำผ้า คนที่เขาย้อมผ้าดู พวกเขารู้สึกภูมิใจในงานของตัวเอง โดยทั่วไปอย่างที่เรารู้กันก็คือ คนรุ่นใหม่ ละถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเองเข้ามาหางานทำในเมือง คนที่ทอผ้า คนที่ทำสีนั้นก็จะมีแต่รุ่นคุณย่าคุณยาย แต่การที่เราเข้าไปเติมตรงนี้ ทำให้เด็กๆในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมและเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมๆกับคนสมัยก่อน เข้ามาช่วยสานต่อการมัดหมี่ การทอการย้อม ปรากฎว่าการที่เราทำเพราะชอบ พอเรากลับไปย้อนดู มันเกิดการจ้างงานเกิดขึ้น จากการทำงานของเรา ค่อนข้างเยอะมาก และทุกคนที่มีส่วนร่วมในงานภูมิใจ เพราะพวกเขาไม่เคยคิดว่าการสร้างงานเล็กๆน้อยๆจากฝีมือของพวกเขา จะออกมาแล้วมีคนชื่นชอบในชิ้นงานได้มากขนาดนี้
การต่อยอดจากแบรนด์ห้องเสื้อดั่งเดิม คือ แก้โจทย์ความเชยที่มีอยู่ในงานผ้าไทยให้ทันสมัย สวมใส่สบาย ใส่ได้ในทุกโอกาส เข้าถึงชีวิตประจำวัน ทางแบรนด์นิยมใช้ผ้าฝ้ายในการผลิต เนื่องจากไม่นิยมใช้ผ้าจากสิ่งที่มีชีวิต เป็นการที่ไม่อยากเบียดเบียนสัตว์ จะไม่มีการใช้ไหม จะเป็นผ้าฝ้ายทั้งหมด
โดยส่วนตัวแล้วเราแอบชอบประโยคนึง ของพี่เค้าที่ว่า…
“เราจะทำยังไง ให้คนรุ่นใหม่มองเห็นงานท้องถิ่น แล้วเคารพงานเค้า เข้าใจถึงความยากลำบาก การเอาใจใส่ในชิ้นงานของชาวบ้าน ไม่ใช่บอกว่าพอมันเป็นงานชาวบ้านแล้วมันต้องราคาถูก ซึ่งตรงนั้นมันยากมากในการอธิบายให้หลายคนเข้าใจ แต่เราต้องทำมันไปด้วยกัน เพราะเราตั้งใจให้มันออกมาเป็นแบบนี้จริงๆ”
ซึ่งนี่เป็นประโยคที่ทำให้เราเข้าใจถือกระบวนการสร้างงานที่มีคุณค่า ผ่านระยะเวลา และความเอาใจใส่ในชิ้นงานทุกชิ้นจากหัตถศิลป์ไทย ซึ่งมันมีคุณค่าต่อจิตใจมากกว่าเงินทอง
การส่งเสริมงานจากฝีมือคนไทย ได้อะไรมากกว่าที่คิด!
- เป็นกำลังใจให้คนสร้างงาน เป็นแรงผลักดันให้มีการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้น
- ส่งเสริมงานฝีมือคนไทย กระจายรายได้สู่ชุมชน
- สร้างคุณค่าให้กับ ผู้สูงอายุในชนบทที่มีหัวใจและมีไฟในการสร้างงานหัตถศิลป์
- สืบสาน ต่อยอดวัฒนธรรมอันสง่างามของไทย สืบสานภูมิปัญญาความรู้ดั่งเดิมที่มีคุณค่า ถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง
- แสดงศักยภาพให้ต่างชาติได้เห็นถึงฝีมือและความสามารถของคนไทย
เราเองได้มีโอกาสไปสัมผัสกับบรรยากาศในงานแล้วรู้สึกรับรู้ได้ถึงสายตาแห่งความอบอุ่น ความสุข ความหวัง จากเจ้าของแบรนด์ทุกคนว่าเขา มีความรักในการสร้างผลงานทุกชิ้น ผ่านความปราณีตเอาใจใส่ในรายละเอียดทุกขั้นตอน รับรู้ผ่านการ เล่าเรื่อง จากเรื่องราวต่างๆ ความเป็นมาของผลงานแต่ละชิ้น และรู้สึกได้ถึงความรักในการสานต่อความเป็นไทย สืบสานองค์ความรู้ดั่งเดิมและนำมาพัฒนาต่อยอดต่อไป และส่งคุณค่าดีๆ จากตัวเองสู่ผู้อื่น จากตัวคนสร้างแบรนด์เองไปสู่ผู้คนในชนบท มีความภูมิใจว่าเขาได้สร้างโอกาส สร้างรายได้ และสร้างงานให้กับคนในชุมชนเล็กๆในภูมิภาคต่างๆ ในบ้านเกิดของตัวเองได้มีส่วนร่วมในความภูมิใจจากชิ้นงานไปพร้อมๆกัน ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นคุณค่าทางจิตใจ ที่เงินก็ไม่สามารถหาซื้อได้ เพราะฉะนั้น เราอยากให้คนไทยทุกคน เห็นคุณค่าแห่งการช่วยสนับสนุนผลงานจากฝีมือคนไทย เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังใจ ส่งไปสู่ผู้คนอีกมากมายในชุมชน ผู้คนที่อยู่เบื้องหลัง ภาพแห่งความสำเร็จของผลงาน ซึ่งต้องยอมรับเลยว่าเรื่องราวดีๆเหล่านี้ ทำให้เราเองมองเห็นคุณค่าของการสนับสนุนงานจากคนไทย ได้ลึกซึ้งมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนจริงๆ
อยากเชิญชวน ให้ผู้ที่สนใจมาเดินช้อปในงานทุกคน ใช้เวลาอยู่กับผลงานตรงหน้า ที่คุณชื่นชอบ และลองพูดคุยสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับผลงานนั้นๆ กับเจ้าของแบรนด์ แล้วคุณจะรู้ว่า สิ่งที่คุณได้มากกว่า การมาเดินซื้อของที่คุณชื่นชอบแล้ว ยังมีสิ่งอื่นที่จะทำให้คุณต้องหลงใหล ไปกับสเน่ห์ของเรื่องราวในแต่ละแบรนด์ต่างๆ ได้อีกมากมาย
รวมภาพบรรยากาศงาน Crafts Bangkok 2019
Crafts Bangkok 2019 ระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน 2562 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณฮอลล์ EH 101-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้ที่www.facebook.com/sacict หรือ Call Center 1289
เสพงานคราฟต์ ฝีมือคนไทย แฟชั่นร่วมสมัยยุค 4.0 ใน Crafts Bangkok 2019