พญ. พรนิภา ศรีประเสริฐ กุมารแพทย์จากเพจเรื่องเด็กๆ by หมอแอม ได้มีคำแนะนำในเรื่องของการดูแลเลี้ยงลูก ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่สร้างความสุขและความท้าทายไปพร้อมๆกันสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เด็กในแต่ละช่วงอายุจะมีพัฒนาการที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสามปัจจัยหลัก คือ การเลี้ยงดู พันธุกรรม และสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะช่วงอายุตั้งแต่ ช่วงวัยแรกเกิด ถึง 12 เดือน เป็นช่วงที่ปัจจัยดังกล่าวจะมีอิทธิพลต่อการพัฒนาการทางร่างกาย สมองและอารมณ์เป็นอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่จึงต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ
ทารกแรกเกิด : ในวัยทารกแรกเกิดเป็นช่วงที่ทารกต้องปรับตัวอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่ควรกระตุ้นระบบประสาทต่างๆ ให้ทารกได้คุ้นเคยกับโลกใบใหม่ การนวด ใช้นิ้วไต่ตามแขนและขา และโอบกอดทารกอย่างนุ่มนวลเป็นประจำจะเป็นการกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสและช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ที่มั่นคงระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อย เนื่องจากทุกครั้งที่มีการโอบกอดสัมผัส ร่างกายจะหลั่งสาร Oxytocin (ฮอร์โมนแห่งความรัก) ที่ช่วยให้ผ่อนคลาย และยังช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำนมของคุณแม่ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ วัยทารกแรกเกิดเป็นวัยที่สายตายังมองเห็นได้ไม่เต็มที่ สามารถมองเห็นเพียงแค่ในระยะ 1 ฟุต คุณพ่อคุณแม่จึงควรกระตุ้นการมองเห็นของลูกด้วยการจ้องมองตาอยู่เป็นประจำ หรือหาของเล่นสีสดอย่างเช่นลูกบอลเล็กๆ สีแดง ให้ลูกฝึกมอง จะเป็นการช่วยกระตุ้นระบบประสาทและการมองเห็นของลูกได้ดี
1 – 4 เดือน : ทารกช่วง 1-4 เดือน เป็นช่วงที่เริ่มมีการพัฒนาของระบบประสาทและการมองเห็น การได้ยิน มีปฏิกิริยาโต้ตอบ อย่างเช่นการชันคอและหลัง ยิ้ม หัวเราะ มองหาเมื่อเวลาคุณพ่อคุณแม่ไม่อยู่ รวมถึงเริ่มมีการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมซึ่งจะเห็นได้จากการนอนหลับและการรับประทานอาหารที่เริ่มเป็นเวลามากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นพูดคุย ฝึกการได้ยินและชันคอ โดยการให้ลูกนอนคว่ำ หาของเล่นที่มีเสียงกรุ๋งกริ๋งมาชูเหนือศีรษะให้ลูกพยายามชันคอขึ้น หรืออุ้มลูกหันหน้าเพื่อมองสบตากัน พร้อมเอียงหน้าไปมาช้าๆ เพื่อให้ลูกมองตาม
5 – 8 เดือน : ในวัย 5-8 เดือน เจ้าตัวน้อยจะมีพัฒนาการเรื่องการนั่งและการกิน เนื่องจากเป็นวัยที่กล้ามเนื้อหลังเริ่มแข็งแรง คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญในการฝึกให้ลูกนั่งกินข้าวร่วมกับครอบครัว นั่งทำกิจกรรม เล่นของเล่น โดยให้ลูกได้ลองจับของเล่นที่มีพื้นผิวสัมผัสแตกต่างกัน อาทิ น้ำ บล๊อกไม้ ของเล่นยางนิ่มๆ สีสันสดใส ก้อนไหมพรม เป็นต้น
สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษในวัยนี้คือเจ้าตัวน้อยบางรายอาจมีพฤติกรรมโยนขว้างสิ่งของ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดุหรือห้าม แต่ควรหาพื้นที่ที่ปลอดภัยหรืออุปกรณ์เสริมให้ลูกเล่น อย่างเช่น การขว้างของเล่นให้ลงตะกร้า เพราะนอกจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวแล้ว ลูกๆ ยังได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่
9 – 12 เดือน : ลูกน้อยจะเริ่มทรงตัวเพื่อหัดยืน เดิน และเป็นนักสำรวจตัวน้อย พัฒนาการของวัยนี้จะเรียนรู้จากการได้ลองทำด้วยตัวเอง ดังนั้นสิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมคือพื้นที่ที่ปลอดภัยให้ลูกได้เล่นสำรวจอย่างเต็มที่และควรระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษ อย่างเช่น ปิดรูปลั๊กและครอบพัดลมป้องกันไม่ให้ลูกเอานิ้วแหย่ ปิดสันขอบโต๊ะเพื่อป้องกันไม่ให้หัวลูกกระแทก เก็บสายระโยงระยาง รวมถึงทำรั้วกั้นบันไดเพื่อป้องกันลูกตกบันไดและอุบัติเหตุอื่นๆ
เมื่อมีพื้นที่ที่ปลอดภัยให้ลูกได้เล่นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรหากิจกรรมเล่นกับลูก โดยเน้นการเคลื่อนไหวของแขนขา อย่างเช่น การฝึกให้ลูกเกาะคอกเดิน เกมคลานเก็บของเล่น หรือการเล่นน้ำในสระยางเพื่อให้ลูกเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ
ที่มาเรื่องจาก พญ. พรนิภา ศรีประเสริฐ กุมารแพทย์จากเพจเรื่องเด็กๆ by หมอแอม