ไขควงลองไฟ หรือ ไขควงวัดไฟ เป็นสิ่งที่ควรมีไว้ประจำบ้าน เพราะเป็นอุปกรณ์สำคัญในการตรวจสอบสภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าว่ามีไฟรั่วหรือไม่ โดยการนำไขควงลองไฟ ไปแตะที่ตัวเครื่องใช้ไฟฟ้า ถ้ามีแสงไฟสว่างปรากฏขึ้นมา แสดงว่าเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นมีไฟรั่ว จำเป็นต้องถอด ปลั๊กทิ้ง แล้วรีบนำไปให้ช่างดูทันที ซึ่งการทดสอบด้วยการใช้ไขควงลองไฟฟ้านั้น ต้องไม่ใส่รองเท้าหรือฉนวนใดๆ เนื่องจากแสงไฟจะไม่ติด และทำให้เราเข้าใจว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนั้นอยู่ในสภาพปกติ
ไขควงลองไฟ
ไขควงวัดไฟมีอยู่ 2 แบบ คือ ไขควงวัดไฟ แบบธรรมดา จะมีหลอดไฟอยู่ที่ด้ามจับ และไขควงวัดไฟ แบบตัวเลขดิจิตอล
วิธีใช้ไขควงวัดไฟ
1. ไขควงลองไฟนั้นเป็นเครื่องมืออย่างง่ายสำหรับใช้ตรวจสอบวัตถุหรือตัวนำว่า มีไฟฟ้าหรือมีแรงดันไฟฟ้าอยู่หรือไม่ และยังใช้ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าว่ามีไฟรั่วหรือไม่อีกด้วย
2. การทำงานของไขควงลองไฟแบบธรรมดา ภายในจะประกอบด้วยหลอดนีออนต่ออยู่กับความต้านทานค่าสูง โดยความต้านทานมีหน้าที่ จำกัดปริมาณกระแสไฟที่ จะไหลผ่านหลอดนีออนและร่างกายไม่ให้มีอันตราย หากมีการนำไปแตะสัมผัสกับส่วนที่มีไฟ ซึ่งจะเป็นการต่อไฟครบวงจร โดยไฟฟ้าจะไหลจากปลายไขควงผ่านหลอดนีออน ตัวต้านทาน นิ้ว แขน ร่างกาย ลงสู่พื้นที่ยืนอยู่ โดยหลอดนีออนจะสว่างก็ต่อเมื่อแรงดันที่หลอดสูงถึงระดับพิกัดที่หลอดนีออนจะสว่าง
3. การเลือกไขควงลองไฟควรเลือกให้เหมาะกับไฟฟ้าที่ จะใช้ ทั้งชนิดของไฟฟ้าและขนาดแรงดัน
3.1 ชนิดของไฟฟ้า เช่น ไฟฟ้ากระแสตรง DC (ใช้ในรถยนต์) ไฟฟ้ากระแสสลับ AC (ใช้กับไฟที่มาจากการไฟฟ้าฯ)
3.2 ขนาดแรงดันไฟฟ้าต้องพอเหมาะ ไม่ สูงหรือต่ำเกินไปหากเลือกไขควงมีค่าแรงดันต่ำอาจไวดี แต่ไม่ปลอดภัยนัก คือ จะรู้สึกว่ามีไฟรั่วผ่านไขควงมากเวลาแตะสัมผัส เช่น ไฟฟ้าตามบ้านใช้ไฟ 200-250 โวลต์ แต่ใช้ไขควงสำหรับแรงดัน 80-125 โวลต์ เป็นต้น
4. ระวังอย่าให้นิ้วแตะสัมผัสไขควงส่วนที่เปลือย ควรใช้ไขควงที่มีการหุ้มฉนวนให้เหลือเฉพาะปลายที่ จะใช้สัมผัส หากไม่มีอาจต้องใช้วิธีพันให้รอบด้วยเทปพันสายไฟก็ได้ ซึ่งจะช่วยลดหรือป้องกันอุบัติเหตุการเกิดลัดวงจรจากการใช้ไขควงที่ไม่ระมัดระวังด้วย
5. ไขควงลองไฟทั่วไปที่ใช้ตามบ้าน มักจะมีปุ่มด้านบน หรือเป็นแบบคลิปหนีบปากกา ไว้สำหรับให้ใช้นิ้วแตะเพื่อให้ไฟไหลครบวงจรผ่านร่างกาย ไฟนีออนจึงจะติดแดงขึ้นมาได้
6. การใช้ไขควงลองไฟที่ถูกวิธีนั้นให้เอาปลายแตะวัตถุที่จะทดสอบก่อน แล้วจึงใช้นิ้วแตะปุ่มด้านบนหรือตรงคลิปหนีบให้ครบวงจร และต้องไม่ยืนอยู่บนพื้นฉนวนหรือใส่รองเท้า เพราะไฟอาจจะไม่ติดทำให้แปลความหมายผิดว่าไม่มีไฟรั่วก็ได้
7. ทุกครั้งที่จะใช้ ให้ระมัดระวังและระลึกไว้เสมอว่าอาจมีอันตราย เช่น ไขควงลองไฟฟ้าอาจชำรุดหรือลัดวงจรภายในได้จึงต้องแตะเพียงเล็กน้อย เท่านั้น
8. ไขควงลองไฟ ที่ ไม่ ได้ใช้งานมานาน ไฟนีออนหรือตัวต้านทานภายในอาจชำรุดใช้งานไม่ได้ (ไฟไม่ติด) หรือ หากเป็นแบบดิจิตอลไฟแสดงผลอาจไม่ทำงาน ดังนั้นก่อนใช้งาน ควรทดสอบไขควงลองไฟฟ้านั้นว่ายังใช้ได้อยู่ โดยทดสอบกับส่วนที่รู้แน่ว่ามีไฟเสียก่อน เช่น ไขควงลองไฟชนิดใช้ไฟบ้านให้ใช้ทดสอบโดยแหย่ เข้าไปในรูเต้ารับที่ ผนัง จะมีรูหนึ่งเท่านั้นที่มีไฟ เป็นต้น
9. เวลาแหย่ ไขควงลองไฟ ต้องระมัดระวังอย่าให้ไขควงไปแตะส่วนอื่นที่เป็นขั้วไฟคนละขั้วพร้อมกัน เช่น ขั้วไฟต่างเฟส หรือ ขั้วมีไฟแตะกับขั้วดินหรือนิวทรัล เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่แคบๆ เพราะนั่นหมายถึงการทำให้เกิดลัดวงจรและจะมีประกายไฟที่รุนแรงพุ่งเข้าสู่ใบหน้าและดวงตาจนอาจเสียโฉมหรือพิการได้ ดังนั้น ในสถานการณ์ที่มีขั้วไฟฟ้าเปิดโล่งหรือเปลือย เช่น ตู้แผงสวิตช์ หรือเต้ารับที่เปิดฝาออก ไม่แนะนำให้ผู้ที่ไม่ใช่ช่างไฟฟ้าทำงานโดยเด็ดขาด
10. ห้ามซ่อมหรือดัดแปลงไขควงลองไฟที่ชำรุดเป็นอันขาด เช่น การเปลี่ยนค่าความต้านทาน หรือต่อตรงความต้านทาน เป็นต้น
11. ห้ามนำไขควงลองไฟไปใช้ทดสอบกับไฟฟ้าที่ไม่รู้ค่าแรงดัน หรือไฟฟ้าแรงดันสูง