รอยร้าวภายในบ้านเป็นปัญหาหนักใจอย่างหนึ่งของเจ้าของบ้าน ใจหนึ่งก็ด้วยความไม่ทราบว่าปัญหานั้นใหญ่โตถึงขั้นต้องรื้อแก้ใหม่ หรือเป็นเพียงการเสื่อมสภาพอันเนื่องมาจากอายุการใช้งาน เราจึงชวนคุณมาสังเกตการณ์ ตรวจสอบรอยร้าว ภายในบ้านแบบง่ายๆ ก่อนส่งถึงมือช่างผู้เชี่ยวชาญเพื่อแก้ไขให้เสร็จสิ้นต่อไป
วิธี ตรวจสอบรอยร้าว เบื้องต้นด้วยตัวเอง
1. รอยแตกลายงาบนผนัง
รอยร้าวของผนังเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ซึ่งก็มีการจำแนกทั้งการเกิดรอยร้าวจากผิววัสดุที่เสื่อมสภาพ หรือการทรุดตัวของโครงสร้างและฐานราก ซึ่งหากผนังเป็นรูปแบบรอยแตกลายงาเป็นริ้ว หรือเมื่อลองกะเทาะผิวดูแล้วรอยร้าวไม่กินเข้าไปถึงเนื้อผนัง นั่นเกิดจากพื้นผิวผนังที่เสื่อมสภาพ แต่หากเกิดรอยร้าวเป็นแนวตรงระนาบ (แนวดิ่งหรือแนวนอน) บริเวณขอบมุมเสา ใต้คาน ขอบวงกบหน้าต่างประตู หรือรอยแตกที่ขนานกันหลายรอย ควรให้ช่างทำการสำรวจคาน โครงสร้าง และฐานรากต่อไป
สำหรับรอยร้าวจากผิววัสดุที่เสื่อมอายุการใช้งาน หากเป็นเฉพาะพื้นผิวภายนอกที่ไม่ลึกมากก็สามารถใช้ซีเมนต์ซ่อมแซมหรือน้ำยาประสานปูนอุดตามรอยแนวผนังได้ แต่หากลึกลงไปถึงเนื้อซีเมนต์และแผ่ออกเป็นบริเวณกว้าง จำเป็นต้องทำการกะเทาะผิวเดิมออกแล้วฉาบปิดทับใหม่ อาจทำการเสริมการฉาบผิวใหม่ด้วยน้ำยากันซึมอีกขั้นหนึ่ง เพราะสาเหตุของรอยแตกลายงาบนผนังเกิดจากซีเมนต์ที่เกิดการสูญเสียน้ำ อาจจะเพราะตัวอิฐดูดซับน้ำไปหรือการบ่มผนังคอนกรีตทิ้งไว้ให้แห้งใช้เวลาน้อยกว่าที่ควร
2. คอนกรีตดาดฟ้าหลุดร่วง
อีกปัญหาที่พบมากกับบ้านหรืออาคารพาณิชย์ที่มีชั้นดาดฟ้า คือฝ้าเพดานชั้นบนสุด (หรือพื้นของชั้นดาดฟ้า) มีส่วนของซีเมนต์หลุดร่วงลงบนพื้นจนเผยให้เห็นเหล็กเสริมพื้น นั่นก็เพราะชั้นดาดฟ้าเป็นพื้นผิวที่ต้องเจอกับสภาพอากาศแปรปรวนตลอดทั้งวัน ทั้งแสงแดดแรงของเมืองไทย และลมฝนฟ้าคะนอง นั่นทำให้เกิดการยืดหดของซีเมนต์และการซึมของน้ำจนเกิดคอนกรีตแตกออก
วิธีการแก้ไขหากมีรอยร้าวเพียงเล็กน้อยหรือเกิดการรั่วซึมของน้ำขั้นต้น ไม่ควรปิดผิวแค่อย่างเดียว เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุตรงพื้นผิว ทางที่ดีจำเป็นต้องเสริมโครงใหม่ด้วยโครงสร้างเหล็กรูปพรรณเพื่อการรองรับการใช้งานที่ดีขึ้น แต่หากลุกลามใหญ่โตจนเกิดเป็นช่องว่างแล้ว ควรรื้อทุบทิ้งแล้วทำใหม่ทั้งหมดตั้งแต่งานโครงสร้างไปจนถึงการปิดผิว
3. รอยร้าวขนาดใหญ่กลางผนัง
หากรอยร้าวอยู่ตรงกลางผนังขนาดใหญ่ในแนวตามมุมทะแยง โดยมีช่องตรงกลางกว้างที่สุด ส่วนปลายเหมือนกำลังถูกฉีกออก หรือรอยร้าวขนาดใหญ่ที่ชิดตามแนวขอบเสาที่ช่องแตกร้าว สังเกตที่ส่วนบนกว้างกว่าส่วนล่าง นั่นแสดงว่าปัญหาเกิดขึ้นจากส่วนของฐานรากที่มีด้านใดด้านหนึ่งกำลังทรุดตัวลง และผนังสองฝั่งกำลังถูกฉีกออกจากกันตามแนวการทรุดตัว
การแก้ไขเบื้องต้นทำได้เพียงการเช็กขนาดของรอยร้าวด้วยการใช้ไม้บรรทัดทาบทับรอยร้าวแล้วขีดเส้นตรงคาดไว้ ทิ้งไว้ประมาณ 3 เดือน หากเวลาผ่านไปแล้วรอยขีดยังเสมอกัน ก็สามารถทำการซ่อมแซมปิดรอยร้าวด้วยขั้นตอนการซ่อมผนังทั่วไปได้ แต่หากรอยขีดมีการเลื่อนไถลออกจากกันไปเรื่อยๆ ควรส่งต่อถึงมือวิศวกรและช่างเพื่อวิเคราะห์ต้นตอของปัญหาที่แท้จริง แล้วดำเนินการแก้ไขในเรื่องโครงสร้างและฐานรากต่อไป
(อ้างอิงจาก คู่มือตรวจสอบรอยร้าว โดยธเนศ วีระศิริ)