เวลาเห็นภาพหรือแบบ บ้านแนวโมเดิร์น จากต่างประเทศสวยๆ ก็จะชอบคิดว่าอยากดีไซน์เป็นหลังคาบ้านของตัวเองบ้าง แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่ทำให้หลังคาบ้านของเมืองไทยต่างจากหลังคาบ้านในประเทศอื่นๆ นั่นก็เพราะข้อจำกัดของสภาพภูมิอากาศเขตร้อน ที่หน้าร้อนแดดแรง หน้าฝนก็มีพายุ แถมหน้าหนาวก็ยังร้อนอยู่
หลังคาทรงจั่วจึงเป็นบ้านที่เหมาะสมกับอากาศแบบบ้านเรา เพราะความลาดเททำให้ระบายน้ำฝนได้อย่างรวดเร็ว และหน้าจั่วทรงสามเหลี่ยมก็ทำตัวเป็นพื้นที่ระบายอากาศร้อนผ่านช่องลม แถมยังเป็นกันสาดชั้นดีป้องกันไอร้อนและแสงแดดเข้าสู่ภายในตัวบ้านด้วย แล้วถ้าเกิดอยากจะทำหลังคาแบบอื่นบ้าง จะมีเทคนิคแบบไหนที่ทำได้กับบ้านในเมืองไทยบ้าง ไปดูกัน
4 แบบหลังคา บ้านแนวโมเดิร์น
1.ซ่อนจั่วไว้ใต้ขอบผนัง
สำหรับใครที่อยากได้บ้านแบบโมเดิร์นทรงกล่อง การยกขอบผนังรอบบ้านขึ้นมาบังทรงจั่วที่ซ่อนไว้ข้างในก็เป็นทางแก้ในเรื่องหลังคาที่ดีอย่างหนึ่ง เพราะยังคงได้คุณสมบัติแบบหลังคาหน้าจั่วเหมือนเดิมครบถ้วน แต่ต้องดูแลในเรื่องการระบายน้ำจากรางระบายรอบหลังคา ซึ่งอาจต้องทำรางกว้างกว่าเดิมหน่อย รวมทั้งการออกแบบทางขึ้น – ลงเพื่อบำรุงรักษาหลังคา จะได้ใช้งานแบบคุ้มค่าและสวยงามต่อไปได้นานๆ
2. หน้าจั่วแบบเท
พูดถึงโมเดิร์นก็นึกถึงเส้นตรง อีกทางที่ทำให้บ้านโมเดิร์นดูเท่ขึ้นได้ คือการเล่นสนุกกับหน้าตาของหลังคา ลืมหลังคาหน้าจั่วสมมาตรแบบเดิมไป แล้วเล่นสนุกกับดีไซน์ด้วยการเทหลังคาหน้าจั่วให้มีด้านหนึ่งเทลงมามากกว่าอีกด้าน แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูดีไซน์โดยรวมของทั้งตัวอาคารว่า เทไปด้านไหนถึงจะดูแล้วเท่และเข้ากับสถาปัตยกรรมโดยรวมมากกว่า
หลังคาทั้งแบบที่ 1 และแบบที่ 2 สามารถใช้วัสดุและความลาดเอียงแบบหลังคาบ้านปกติได้เลย นั่นคือความลาดเอียงประมาณ 30-45 องศา ติดตั้งรางระบายน้ำเอาไว้ที่ขอบล่างของหลังคาทั้งสองด้าน และที่สำคัญอย่าลืมว่า หลังคาคือพื้นผิวใหญ่สุดของบ้านที่รับความร้อนจากแสงแดดโดยตรงตลอดทั้งวัน ดังนั้นจึงควรติดตั้งฉนวนกันความร้อนเอาไว้ใต้หลังคา ร่วมกับการทำช่องระบายอากาศบริเวณใต้จั่ว ทั้งสองแรงแข็งขันจะช่วยกันทำให้อากาศในบ้านเย็นลง
3.บ้านทรง A-Frame
หรือบ้านแบบโรงนาในต่างประเทศ ข้อดีคือหลังคาที่ลาดลงถึงพื้นทำให้การระบายน้ำทำได้รวดเร็ว แต่หากต้องการให้เหมาะกับประเทศไทย ควรเว้นระยะระหว่างปลายหลังคากับพื้นและเจาะช่องสำหรับระบายอากาศ หรือการเว้นหลังคาส่วนล่างให้เป็นระแนงโปร่งสำหรับระบายอากาศ
อีกอย่างคือ บ้านแบบนี้อาจมีข้อเสียที่อากาศอบอ้าวขึ้นกว่าบ้านทั่วไปซึ่งมีผนัง 4 ด้านสำหรับเจาะช่องหน้าต่างได้ แต่กับบ้านทรง A-Frame จะเหลือผนังเพียง 2 ด้านเท่านั้น จึงต้องควบคุมเรื่องการระบายอากาศและการป้องกันความร้อนด้วยฉนวนใต้หลังคาให้ดี
4. ทรงลาดกลับทิศ
หลังคาแบบเพิงหมาแหงนแบบที่คุ้นเคย ลองพลิกดูจากปกติที่มักหันเพิงไปทางด้านข้าง เปลี่ยนเป็นเอียงเทลงไปด้านหลังแทน ก็จะได้หลังคาด้านหน้าที่ดูเรียบๆ แบบโมเดิร์น ส่วนเทลงด้านหลังติดตั้งรางระบายน้ำฝน ส่วนด้านหน้าที่เป็นเพิง แนะนำให้เว้นเป็นระยะของชายคาเอาไว้ เพื่อเป็นกันสาดป้องกันแดดแรง และป้องกันน้ำฝนกระเด็นกลับเข้าบ้าน
สำหรับหลังคาแบบนี้ สิ่งที่ควรให้ความสำคัญอีกเรื่องคือความลาดเอียงของหลังคา เพราะถ้าลาดเอียงไม่พอ น้ำก็จะระบายออกไม่ดี อีกทั้งยังอาจรั่วซึมเข้าไปสร้างความเสียหายให้กับภายในบ้านด้วย แนะนำให้ใช้วัสดุแผ่นหลังคารีดลอนเมทัลชีท ติดตั้งที่ความลาดชันตั้งแต่ 5 องศาขึ้นไป ที่ทำให้บ้านเข้าใกล้ทรงกล่องมากขึ้น แถมวัสดุยังขับให้บ้านดูโมเดิร์นขึ้นอีก แต่เพราะเป็นเมทัลชีทซึ่งเป็นวัสดุอมความร้อนและเสียงดังจากน้ำฝน จึงแนะนำให้ติดแผ่นฉนวนกันความร้อนไว้ใต้หลังคาอีกชั้นหนึ่ง
เพียงเท่านี้ บ้านโมเดิร์นก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเมืองไทย แถมยังได้งานดีไซน์บ้านในแบบที่เราชื่นชอบ แค่ลองพลิกเทคนิคการออกแบบและก่อสร้างอีกนิด แล้วความคิดสร้างสรรค์ก็จะสร้างความสุขให้กับผู้อยู่อาศัย