หลักการออกแบบบ้านเพื่อความสุขและคุณภาพชีวิตของ ผู้สูงอายุ

แม้ว่าอีกไม่นานประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคม ผู้สูงอายุ โดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2564 และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดในปี 2574 นั้น แต่หลายๆ องค์กรในประเทศไทยล้วนใส่ใจผู้สูงอายุทั้งคุณภาพชีวิต และจิตใจ หลายๆ ภาคส่วนทั้งภาครัฐ…

Home / DECOR / หลักการออกแบบบ้านเพื่อความสุขและคุณภาพชีวิตของ ผู้สูงอายุ

แม้ว่าอีกไม่นานประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคม ผู้สูงอายุ โดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2564 และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดในปี 2574 นั้น แต่หลายๆ องค์กรในประเทศไทยล้วนใส่ใจผู้สูงอายุทั้งคุณภาพชีวิต และจิตใจ

หลายๆ ภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ฯลฯ ล้วนให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ด้านสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ได้ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุโดยสนับสนุนเรื่องการพัฒนาระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ครอบคลุมทั้งมิติด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี ลดภาระการดูแลของครอบครัว และเป็นพลังของสังคม


ส่วนหนึ่งของการใส่ใจคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุคือ เรื่องการออกแบบบ้านเพื่อคนในสังคมหรือเรียกว่า Universal Design เพราะการอยู่ดีมีสุขของสมาชิกทุกคน คือ คุณภาพความสุขของบ้าน สสส.และภาคีเครือข่ายจึงร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางและมาตรการที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้พิการ และทุกคนในสังคม เพื่อใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย และมีความสุข

ใน “คู่มือบ้านใจดี” ได้บอกหลักการออกแบบ Universal Design และการเลือกสิ่งของในห้องต่างๆ ทีมเว็บไซต์ สสส. ขอยกเพียงแค่ตัวอย่างบางส่วนมาเพื่อบอกเล่ากันค่ะ

7 หลักการของ Universal Design
1.Equitable Use : ความเท่าเทียมกันในการใช้สอยของผู้ใช้ที่ต่างวัยและต่างความสามารถ
2.Flexibility in use : ปรับเปลี่ยนการใช้งานได้
3.Simple and Intuitive Use : ใช้งานง่ายและสะดวก
4.Perceptible Information : การสื่อสารความหมายเป็นที่เข้าใจ มีสัญลักษณ์ที่ชัดเจนเข้าใจง่าย
5.Tolerance for Error : ทนทานต่อการใช้ที่ผิดพลาด
6.Low Physical Effort : ไม่ต้องออกแรงมาก
7.Size and Space for Approach and Use : มีขนาด และพื้นที่ที่เหมาะสมที่ทุกคนเข้าถึงได้

ตัวอย่างลักษะของการออกแบบห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว สำหรับผู้สูงอายุ

ห้องนอน
ห้องนอน ผู้สูงอายุจะใช้ชีวิตอยู่ห้องนี้มากที่สุด
-เตียง : สูงพอดีกับล้อรถเข็น หรือสูงประมาณ 40 ซม. ยาวไม่น้อยกว่า 180 ซม. ใต้เตียงควรเปิดว่างไว้สำหรับใส่อุปกรณ์ช่วยเหลือที่จำเป็น เช่น ยาประจำตัว
-ฟูก : ที่นอนลมแบบลอน เหมาะสำหรบผู้สูงอายุที่เดินไม่ไหว เช่น อัมพาต อัมพฤกษ์ รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รบการผ่าตัด ป้องกันแผลกดทับ ที่นอนประเภทผสม เช่น ที่นอนใยมะพร้าวผสมยางพารา จะมีความยืดหยุ่นสูง นุ่มและคงทน ที่นอนลมแบบ Bubble เหมาะสำหรับผู้ช่วนแผลกดทับ จะช่วยลดการเสียดสีระหว่างที่นอนกับผิวของผู้ป่วย
– ไฟ : สว่างพอเพียง เลือกหลอดไฟแบบคอมแพกต์ ฟลูออเรสเซนต์ชนิดที่ให้แสงเหลืองอ่อน ช่วยทำให้ห้องอบอุ่น / สะดวกแค่เอื้อม ควรเอื้อมถึงได้จากที่นอน / แสงนวลตา ทำให้ผ่อนคลาย

ห้องน้ำ

ห้องน้ำ ควรเลือกวางตำแหน่งห้องน้ำอยู่ใกล้ห้องนอน หรือมีอยู่ในห้องนอนได้ยิ่งดี
– ขนาดความกว้างที่เหมาะสมคือ 150-200 ซม. / พื้นเรียบและไม่ลื่น / โถส้วมสูงจากพื้น 45 ซม. มีพนักพิง
– กระดาษชำระควรใช้มือข้างเดียวดึงได้และติดในตำแหน่งที่หยิบใช้ง่าย
– ฝักบัวอาบน้ำ เป็นชนิดแรงดันต่ำ และปรับระดับได้
– ติดตั้งปุ่มกดกริ่งฉุกเฉินในระยะสูงจากพื้น 90-100 ซม.
– มีราวจับข้างโถส้วมสูงจากพื้น 80-90 ซม. เพื่อช่วยพยุงตัวขณะลุก
– อ่างล้างหน้าสูงจากพื้น 75 ซม. / ใช้ก๊อกน้ำชนิดก้านโยก ก้านกดหรือก้านหมุน
– ที่นั่งอาบน้ำ หรือเก้าอี้อาบน้ำ ผลิตจากวัสดุแข็งแรง พร้อมเบาะอ่อนนุ่ม
– ลูกบิดประตูห้องน้ำ เลือกแบบมีก้านจับ เพื่อมไม่ลื่นและหลุดง่าย

ห้องครัว

ห้องครัว พื้นต้องไม่ลื่น แยกพื้นทำครัวออกจากส่วนที่รับประทานอาหาร
– เคาน์เตอร์ครัวควรสูงไม่น้อยกว่า 75 ซม. เฟอร์นิเจอร์แบบบิลท์อินติดในระดับต่ำพอที่สามรถหยิบถึง
– อ่างล้างจาน ใช้อ่างแบบตื้นและเดินท่อใต้อ่างให้แนบกับผนังด้านหลัง
– ก๊อกน้ำ ใช้แบบก้านโยก หรือมีระบบปิด-เปิด ด้วยก้านบิด

การออกแบบบ้านที่ดี ควรออกแบบบ้านสำหรับคนทุกวัยในบ้านของเรา เพราะความสุขคือการได้ใช้ชีวิตอยู่กับคนที่เรารัก และวันหยุดของการใช้ชีวิตกับครอบครัว จะมีแต่ความอบอุ่นที่เกิดขึ้นภายในบ้านค่ะ

เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ Team content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจากหนังสือ คู่มือบ้านใจดี โดยสมาคมสถาปนิกสยามฯ และ สสส.