คำสอน อย่าตำหนิกรรม

สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอนอย่าตำหนิ กรรม นี้ไว้ ทาง Horoscope.Mthai.com เห็นว่ามีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่อ่าน แล้วนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้จริง

Home / ดูดวง / คำสอน อย่าตำหนิกรรม

สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาสอนอย่าตำหนิ กรรม นี้ไว้เมื่อ ๒๗ กันยายน ๒๕๓๕ ทาง Horoscope.Mthai.com เห็นว่ามีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่อ่าน แล้วนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้จริง

กรรม

ในวันนี้ข้าพเจ้าและเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรม มองเห็นชายคนหนึ่งที่แพเลี้ยงปลาของวัด จับปลาสวายตัวใหญ่ (ปลาของวัดเชื่องมาก) ขึ้นมาจากน้ำ ปลาก็ดิ้นจนหลุดจากมือตกน้ำไป เขาก็จับปลาขึ้นมาใหม่ด้วยความสนุกสนาน ในครั้งนี้ปลาดิ้นแล้วตกลงที่พื้นกระดานของแพปลา แล้วจึงตกลงไปในน้ำเมื่อพวกเราเห็นการกระทำ (กรรม) ของเขา ก็เกิดอารมณ์ปฏิฆะ (ไม่พอใจ) พูดขึ้นว่า ”บ้า” อีกท่านหนึ่งพูดว่า “ทะลึ่ง” ซึ่งเป็นการคิดชั่ว พูดชั่ว (สอบตกในมโนกรรมและวจีกรรมทั้งคู่)

สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาตรัสสอนว่า (เพื่อสะดวกในการจดจำ แล้วนำไปปฏิบัติต่อ ขอเขียนเป็นข้อๆ) ดังนี้

๑. เหตุที่จิตมีอุปาทาน ยึดเอา กรรม ของผู้อื่นมาใส่จิตของเรา  จึงกล่าวเป็นวจีกรรมหลุดออกไป เพราะเหตุไม่รู้เท่าทันอารมณ์ของจิต ที่ยึดเอาอุปาทานนั้นๆ(บุรุษผู้สร้างกรรมกับปลา) ถ้าไม่ใช่อดีตกรรมส่งผลให้เขาทำกับปลา กล่าวคือ ถ้าไม่ใช่ปลาเคยเป็นคนมาแล้ว จับคนที่เป็นปลาอยู่อย่างนี้แล้ว กรรมนี้ก็เป็น กรรม ปัจจุบัน คือ มีอารมณ์ฟุ้งซ่านเหลวไหล เห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ มีอารมณ์สนุกไปกับการเบียดเบียนปลา จึงสร้าง กรรม นี้ให้เกิดขึ้น ซึ่งกรรมนี้เมื่อลุล่วงไปแล้ว ก็เป็นกายกรรมอันส่งผลให้เกิด กรรม ในอนาคตได้ กล่าวคือจะต้องมีชาติหนึ่งในต่อไปข้างหน้า บุรุษนี้ก็จะเกิดมาเป็นปลาสวาย และปลานั้นกลับชาติมาเกิดเป็นคนจับเงี่ยงปลาชูให้ดิ้นรน จนกระทั่งตกลงกระแทกแพอีก นี่คือ กรรม ภายนอก แต่เจ้าทั้งสองเอามาเป็น กรรม ภายใน สร้างวจีกรรมให้เกิด เท่ากับเห็นคนผิด เห็นปลาถูก จึงไปตำหนิ กรรม อยู่อย่างนั้น วจีกรรมคือนินทากับสรรเสริญนั่นเอง”

๒. ถ้าจิตยังละการตำหนิกรรมไม่ได้  ไม่ว่าจะเป็นมโนกรรมหรือวจีกรรม ก็เท่ากับสร้างผล กรรม ให้ต่อเนื่องกันไป ในการตำหนิ กรรม ไม่รู้จักสิ้นสุด ในเมื่อโลกนี้มันเป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้ ผิดถูกในโลกนี้ไม่มี มันมีแต่กรรมล้วนๆ”

๓. ในเมื่อเจ้าทั้งสองตำหนิกรรมอย่างนี้แล้ว  พอไปชาติหน้าก็ประสบมาเป็นคน จากคนที่เป็นปลาก็ต้องมาตำหนิกรรมอีก เมื่อมัวแต่ตำหนิธรรมหรือ กรรม ของผู้อื่น อันสืบเนื่องเป็นสันตติประดุจกงกำกงเกวียน หมุนเวียนต่อเนื่องกันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แล้วพวกเจ้าจะเอาชาติไหนมาตัดสินว่าใครผิด-ใครถูก โลกทั้งโลกมันเป็นอยู่อย่างนี้ เพราะกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน-อกุศลกรรมเป็นเหตุ ทำให้จิตของคนกระทำ กรรม ให้เกิดแก่มโน-วจีและกายได้อยู่เป็นอาจิณ”

๔. เจ้าต้องการพ้นกรรม ก็จงหมั่นปล่อยวาง  มองเห็นเหตุแห่ง กรรม อะไรจักเกิดก็ต้องคิดว่า กรรม ใคร กรรม มัน รู้สันตติของกฎแห่ง กรรม ว่ามันเป็นอย่างนี้ ถ้าเขาไม่ทำ กรรม กันมาก่อน กรรมนี้ก็จักไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นมาได้ ตถาคตจึงได้ตรัสยืนยันว่า กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เมื่อเรารู้เหตุก็จงดับที่เหตุแห่ง กรรม นั้น จงอย่ามองว่าใครผิดใครถูก กรรม ถ้าไม่ใช่เขาก่อขึ้นเอง มันก็เกิดขึ้นไม่ได้เองหรอก”

๕. เมื่อพวกเจ้าเข้าใจดีแล้ว  ก็จงหมั่นทำจิตให้พ้นจากการตำหนิ ธรรม เถิด ค่อยๆวางค่อยๆทำ กายกรรม-วจีกรรม-มโนกรรม ก็จะละเอียดขึ้นตามลำดับ กำหนดจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในวิมุติธรรม ทำอารมณ์สังขารุเบกขาญาณ ยอมรับนับถือกฎของ กรรม ให้เกิดขึ้นในจิต ทำบ่อยๆเข้ามรรคผลก็จะปรากฏขึ้นเอง อย่าละความเพียรเสีย กระทบเท่าไหร่-เมื่อไหร่-ที่ไหนก็ต้องรู้ อย่าตำหนิธรรมให้เกิดขึ้นกับจิต เห็น กรรม ที่เป็นสภาวะอย่างนี้อยู่ให้ชัดเจนอยู่ตลอดเวลาอยู่กับจิต ผู้ไม่รู้ย่อมกอปร กรรม ให้เกิดด้วยจิตอุปาทานใน กรรม นั้น ๆ กรรม ใคร กรรม มัน พวกเจ้าอย่าไปเกาะยึดเอา กรรม นั้นๆมาตำหนิดีเลว เพราะเท่ากับว่ามีอุปาทานเห็น กรรม นั้น ๆ ว่าดี-เลว เมื่อจิตมีอุปาทานตำหนิดี-เลวจนเป็นมโนกรรม แล้วยับยั้งไม่อยู่ ก็ออกปากตำหนิดี-เลว จนเป็นวจีกรรมอีก”

๖. ถ้าบุคคลไม่รู้อุปาทานนี้  ทำกรรมโดยลงแพไปต่อว่าต่อขานคนที่จับปลาเข้า ถ้ายังอารมณ์ปฏิฆะให้เกิด ก็จะทะเลาะกัน ดีไม่ดีก็จักทำร้ายร่างกายกัน จนเป็นกาย กรรม สืบเนื่องต่อกันไปได้ ดังมีตัวอย่างมามากมาย คนอื่นเขาทะเลาะกัน สร้างกรรมกัน คนนอกเข้าไปสอดแทรก เป็นกรรมการห้ามปราม คู่กรณีไม่ยอมฟังเกิดอารมณ์โทสะขึ้นหน้า ลงมือทำร้าย กรรม การเสียจนตายไปด้วยความหมั่นไส้ เพราะฉะนั้น เมื่อพวกเจ้าปรารถนามรรคผลนิพพาน ก็ไม่ควรต่อ กรรม กันไปอีก ยุติการตำหนิ กรรม ลงเสียให้ได้ ไม่ว่าจักเป็นกายกรรม-วจีกรรม-มโนกรรม ก็ต้องยุติลง ใช้ศีล-สมาธิ-ปัญญาอันเกิดแก่จิต พิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงในสันตติวงล้อวัฏจักร กรรม ว่ามันเป็นอยู่อย่างนี้เอง พยายามทำจิตให้ยอมรับกฎของ กรรม โทษของ กรรม ไม่ว่าดีหรือเลวนั้นไม่มี เห็นแต่กงกำกงเกวียนหมุนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด จงยอมรับกฎของ กรรม ซึ่งยุติธรรมที่สุด ใครทำใครได้ อย่าไปมีหุ้นส่วน กรรม กับใครๆเขาโดยการตำหนิ กรรม เป็นอันขาด จำไว้นะ ”

ทาง Horoscope.Mthai.com หวังว่าบทความดังกล่าวที่นำมาให้อ่านกัน คงจะมีประโยชน์กับใครหลายๆคนนะครับ ต้องขอบคุณข้อมูลจาก พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน และ  www.fwdder.com/topic/399690 ที่นำเสนอข้อมูลดีๆเหล่านี้