ใบมะม่วง มีบทบาทสำคัญทางศาสนาฮินดูที่พบเห็นได้บ่อยๆ ในพิธีบูชาหรือเทศกาลต่างๆ โดยเฉพาะทางตอนใต้ของอินเดียถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย เนื่องจากความเชื่อที่ว่า ใบมะม่วง นั้นเกี่ยวข้องกับความเจริญรุ่งเรืองและความสุข
ดังนั้นที่หน้าประตูทางเข้าหรือหน้าต่างบ้านเรือนของชาวฮินดูจึงมักจะนำ ใบมะม่วง มามัดร้อยเป็นแพยาวที่เรียกว่า โตรณะ (Torana, toran) หรือพวงใบมะม่วง ซึ่ง “โตรณะ” ในอีกความหมายหนึ่งก็คือ ประตูทางเข้าสำคัญ หรือประตูทางเข้าศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาฮินดู และที่ประตูทางเข้าด้านหน้าวัดฮินดูทางใต้จึงมักจะพบเห็นพวงใบมะม่วงห้อยไว้เสมอ
นอกเหนือจากเป็นการประดับตกแต่งเพื่อความสวยงาม และเพิ่มกลิ่นหอมอ่อนๆ ของ ใบมะม่วง สดให้กับประตูทางเข้าและบานหน้าต่างแล้ว จุดประสงค์หลังก็เพื่อเป็นการต้อนรับ สิ่งดีงาม ความรุ่งเรือง และความสุขเข้ามาสู่บ้านเรือน หรือสถานที่สำคัญๆ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลหรืองานพิธีต่างๆ
ซึ่งวิธีการทำโตรณะนั้นง่ายมากจริงๆ วัสดุที่ใช้ก็มี ใบมะม่วง สด คัดมาเฉพาะใบที่มีขนาดเท่ากัน ถ้าเป็นสมัยก่อนเขาใช้เชือกมัดร้อยที่ก้านใบมะม่วง แต่สมัยใหม่เพื่อความรวดเร็วทันใจก็อาจใช้ลวดเย็บกระดาษเย็บใบให้ติดกับเชือกแทน โดยกะความยาวของพวงใบมะม่วงตามขนาดความกว้างของประตูหน้าต่าง อาจยาวกว่านิดหนึ่งเชือกจะได้หย่อนลงมาเพื่อความสวยงาม แล้วมัดปลายสองข้างเข้ากับตะปูที่ตอกรอไว้ สุดท้ายมัดก้านมะม่วงหลายๆ ก้านรวมกันห้อยเป็นพู่ที่ตะปูทั้งสองด้าน เท่านี้ก็สำเร็จแล้ว
ทั้งนี้เทศกาลดิวาลี (Diwali) ที่กำลังจะมาถึงนี้ ผู้คนไม่เพียงแต่จะวาดรังโกรี หรือที่ทางภาคใต้เรียกว่า โกลัม (Kolam) แล้ว ยังจะต้องแขวนพวงใบมะม่วง หรือ โตรณะ ไว้ที่หน้าประตูทางเข้าหรือหน้าต่างอีกด้วย คราวนี้คงไม่แปลกใจแล้วใช่ไหมค่ะ ที่เห็นชาวฮินดูทางใต้เขาแขวน ใบมะม่วง กันแทบทุกหลังคาเรือนในช่วงเวลานี้
ขอบคุณข้อมูลจาก learningpune.com