ตำราคชศาสตร์ ความเชื่อเรื่อง ช้างเผือก
จากกรณีที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พบช้างที่มี คชลักษณ์ เป็นช้างสำคัญหรือ ช้างเผือก จึงทำให้ทาง Horoscope.Mthai.com ได้ไปค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ ช้างเผือก ว่ามีที่มาอย่างไร มาบอกกันครับ
สำหรับคติความเชื่อเรื่อง ช้างเผือก ที่แพร่มายังราชอาณาจักรไทยนี้ มีต้นกำเนิดมาจากความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งปรากฏหลักฐานในพระเวทหรือไตรเพท ว่าด้วยตำรา คชศาสตร์ ซึ่งในตำรา คชลักษณ์ กล่าวถึงลักษณะต่างๆ ของช้าง ทั้งช้างที่มีลักษณะเป็นมงคลให้คุณ และช้างที่มีลักษณะอัปมงคลให้โทษ
ตำราชคชลักษณ์ได้แบ่งช้างเป็น ๔ ตระกูล หรือพงศ์ ซึ่งถูกแบ่งตามวรรณะเช่นเดียวกับการแบ่งวรรณะของคนอินเดียด้วย คือ
๑. อิศวรพงศ์ เป็นช้างในตระกูลที่พระอิศวรหรือพระศิวะทรงสร้าง จัดเป็นช้างชาติกษัตริย์
๒. พรหมพงศ์ เป็นช้างในตระกูลที่พระพรหมทรงสร้าง จัดเป็นช้างชาติพราหมณ์
๓. วิษณุพงศ์ เป็นช้างในตระกูลที่พระวิษณุหรือพระนารายณ์ทรงสร้าง จัดเป็นช่างชาติแพศย์
๔. อัคนิพงศ์ เป็นช้างในตระกูลที่พระอัคนีหรือพระเพลิงทรงสร้าง จัดเป็นช้างชาติศูทร
ทั้งนี้ ช้างเผือก เป็นช้างที่บังเกิดจากเทวฤทธิ์แห่งพระอัคนี จึงนับอยู่ในอัคนิพงศ์ โดยทั่วไป ช้างสำคัญหรือช้างเผือก จะมีลักษณะมงคล ๗ ประการ คือ
๑. ตาสีขาว
๒. เพดานในปากสีขาว
๓. เล็บสีขาว
๔. ขนสีขาว
๕. ผิวหนังสีขาว หรือสีชมพูแดง คล้ายสีหม้อใหม่
๖. ขนหางยาว
๗. อัณฑโกสสีขาว หรือสีคล้ายหม้อใหม่
ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือ ช้างต้น สัตว์มงคลแห่งพระจักรพรรดิ
ขอบคุณภาพจาก oknation