สถานการณ์ภาพรวมในวันนี้
- ยอดผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่จาก PCR ลดลง ยอด ATK ลดลง แนวโน้มเริ่มชะลอตัว
- คลัสเตอร์ใหญ่ ๆ ก่อนหน้านี้อัตราการติดเชื้อลดลง แต่จำนวนผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพ ปริมณฑลเริ่มเพิ่มสูงขึ้น
- เฝ้าระวังการติดเชื้อในสถานประกอบการ โรงงาน สถานที่ทำงานต่าง ๆ
- อัตราการป่วยหนัก-ใช้ท่อช่วยหายใจ ทรงตัวมาราว 7 วันแล้ว หลังจากที่ลดลงต่อเนื่องมากว่า 4 เดือน
- อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ยังทรงตัว แต่ยังต้องติดตามต่อเนื่อง
…
ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 รายงานสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยประจำวันนี้ ( 15 ม.ค. 65 ) โดยยอดผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยวันนี้
ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่
พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 7,793 ราย รวมสะสม 2,316,408 ราย แบ่งเป็น
- ผู้ติดเชื้อในชุมชน 7,501 ราย
- ในเรือนจำ 22 ราย
- มาจากตปท. 270 ราย
ยอดผู้ติดเชื้อเข้าข่ายจากการตรวจ ATK 2,039 ราย รวมสะสมทั้งหมด 400,965 ราย
ยอดผู้ป่วยโควิด-19 จากการตรวจด้วย PCR มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย หลังจาก 14 วันในช่วงหลังเทศกาลส่งท้ายปีเก่าตอนรับปีใหม่ แนวโน้มการพบผู้ป่วยในคลัสเตอร์สถานบันเทิงในกลุ่มที่ไปสัมผัสเชื้อโดยตรงลดลง เข้าสู่กลุ่มผู้ที่ใกล้ชิดร่วมบ้าน/ชุมชน, กลุ่มผู้ที่ร่วมสังสรรค์กับผู้ติดเชื้อก่อนหน้าในช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ และกำลังเข้าสู่การระบาดในสถานที่ทำงาน สถานประกอบการอีกครั้ง
การระบาดในจังหวัดชลบุรีเริ่มลดลง ในขณะที่กรุงเทพฯ กำลังเพิ่มสูงขึ้นจากกลุ่มผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ, ปริมณฑล เช่น นนทบุรี ปทุมธานี เป็นต้น
ส่วนยอดผู้ติดที่เข้าข่ายติดเชื้อจาก ATK นั้นในวันนี้ลดลงจากเมื่อวานราว 700 ราย เหลือที่ระดับ 2 พันเศษ แต่ยังคงอยู่ในช่วงการแกว่งตัวตามการตรวจค้นหาในพื้นที่ต่าง ๆ
แต่โดยภาพรวมจากทั้ง PCR และ ATK ชะลอตัวลง ลดต่ำลงกว่า 1 หมื่นราย ซึ่งถือว่า เป็นแนวโน้มที่ดี ที่จะช่วยสามารถยืดสถานการณ์ให้ลงอยู่ในระดับเส้นสีส้มตามการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ระบบสาธารณสุขยังคงเดินหน้าต่อไปได้
[EDITOR NOTE] สำหรับยอดในวันนี้ ถือเป็นวันที่ 6 วันหลังเทศกาลปีใหม่ และอยู่ในช่วงพ้นระยะฟักตัวของเชื้อ 3-7 วัน ดังนั้นคาดว่า ยอดน่าจะยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสุดสัปดาห์นี้ สำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อโดยตรงจากการไปรับเชื้อมาโดยตรง (หรือที่เราเรียกกันว่า “วงแรก”) และในช่วงสัปดาห์หน้า จะเข้าสู่ภาวะของการระบาดสู่คนใกล้ชิด เพื่อนร่วมงาน ญาติ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ยอดผู้ป่วยพุ่งสูงขึ้นไปอีกในช่วงกลางเดือน ม.ค. 65 เป็นต้นไป
หายป่วยจากโควิด-19/ กลับบ้าน
ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ในวันนี้ ที่หายป่วยและได้กลับบ้าน 5,202 ราย รวมสะสม 2,217,124 ราย
ยอดหายป่วยในวันนี้ กลับมาเพิ่มสูงขึ้นเกินระดับ 5 พันราย หลังจากครบ 14 วันของการรักษาในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ ทำให้ยอดเริ่มขยับเพิ่มสูงขึ้น และคาดว่าก็น่าจะทยอยเพิ่มขึ้น หลังจากนี้ สำหรับในกลุ่มคลัสเตอร์กลุ่มที่เชื่อมโยงกับสถานบันเทิง-ร้านอาหารกึ่งผับที่ตรวจพบเชื้อในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ในแต่ละวัน ยังคงสูงกว่าจำนวนผู้หายป่วยและได้กลับบ้าน ซึ่งในจำนวนนี้ยังค่อนข้างสูงอยู่ จึงทำให้การรักษาตัวในสถานบริการ สถานพยาบาลมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในโรงพยายาลที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รองลงมาคือ โรงพยายาลสนาม
ส่วนการเข้ารักษาตัวในระบบ Home Isolation, Community Isolation เพิ่มขึ้นบางส่วน แต่ส่วนใหญ่จะเพิ่มในส่วนของสถานพยาบาลมากกว่า ส่วนการเข้ารักษาตัวในสถานที่อื่น ๆ เช่น สถานที่กักตัว/รักษาผู้ป่วยของหน่วยงาน-สถานประกอบการนั้น ยังคงทรวงตัวในระดับ 6-700 ราย ซึ่งส่วนหนึ่งยังไม่พบคลัสเตอร์ใหญ่ ๆ ที่น่ากังวลในกลุ่มสถานประกอบการ หรือ โรงงาน แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังในกลุ่มนี้ เนื่องจากสถานการณ์การกลับมาทำงานในช่วงหลังจากปิดปีใหม่ยังคงมีความน่าเป็นห่วงจากการนำเชื้อเข้าสู่ห้างร้าน สถานประกอบการต่าง ๆ
โดยในขณะนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังคงรักษาตัวอยู่ในระบบบริการอีก 77,368 ราย
– อยู่ใน รพ. 43,345 ราย
– รพ.สนาม 28,263 ราย
– Home Isolation + Community Isolation 4,778 ราย
– อื่น ๆ 682 ราย
ผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต
จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 วันนี้ มีจำนวน 18 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 21,916 ราย แม้ว่าวันนี้จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าเมื่อวานที่ผ่านมา แต่ระดับของการเสียชีวิตยังคงอยู่ในอัตราเฉลี่ยราววันละ 10 กว่าราย ทรงตัวต่อเนื่องมา 12 วันแล้ว ตั้งแต่ผ่านช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา
ซึ่งจากอัตราการป่วยเพิ่มที่มีจำนวนพุ่งสูงขึ้น ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 และทำให้เสียชีวิต เนื่องจากแม้ว่าอัตราการฉีดวัคซีนจะสูงแล้วก็ตาม แต่ยังคงมีบางส่วนที่ยังไม่ได้เข้ารับวัคซีนอีกจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและป่วยหนักเพิ่มขึ้น
โดยในขณะนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 527 ราย เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานที่ผ่านมา และจะเห็นแนวโน้มผู้ป่วยอาการหนักเริ่มทรงตัวที่ระดับ 500 กว่ารายนี้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากก่อนหน้านี้จะเห็นว่าแนวโน้มการป่วยหนักลดลงอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ยอดผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจนั้น มีแนวโน้ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 100 รายเศษ ต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ก่อน จนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ยังคงถือว่าอยู่ในระดับที่ยังค่อนข้างดีเนื่องจากแม้อัตราการติดเชื้อจะพุ่งสูงขึ้น แต่อันตราการป่วยหนัก และเสียชีวิต ยังไม่ขยับตามไปด้วย
ดังนั้นการเข้ารับวัคซีน ทั้งเข็มแรก หรือ เข็มกระตุ้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเดินทางใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19