ประเด็นสำคัญ
- ประเทศไซปรัสมีการรายงานพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ Deltacron ซึ่งระบุว่า เป็นลูกผสมระหว่างสายพันธุ์เดลต้า และโอมิครอน
- ในขณะนี้ ยังไม่มีรายงานยืนยันที่ชัดเจนอื่น ๆ เช่น แผนภูมิวิวัฒนาการ หรือ ลำดับการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ที่เชื่อมโยงได้
- นักวิทยาศาสตร์ – นักไวรัสวิทยา ตั้งข้อสังเกต อาจเป็นเพียงการปนเปื้อนต้นอย่างในห้องทดลอง
…
จากรณีที่มีการายงานข่าวการพบโควิด-19 ในสายพันธุ์ Deltacron ที่ระบุว่าเป็นการพบการกลายพันธุ์ผสมกันระหว่างสายพันธุ์เดลต้า และ สายพันธุ์โอมิครอน ในประเทศไซปรัส โดยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา จากสำนักข่าวไซปรัสเมล์ โดยระบุว่า
ดร. Leontios Kostrikis หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ทํางานที่ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพและไวรัสวิทยาโมเลกุลของมหาวิทยาลัยไซปรัส ได้พบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่พบในประเทศไซปรัส และได้เรียกว่า Deltacron เนื่องจากมีความเชื่อมโยงของตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่พบในสายพันธุ์เดลต้า และสายพันธุ์โอมิครอน นั้น
ซึ่ง ดร. Kostrikis ได้กล่าวกับสื่อท้องถิ่นระบุว่า พบสัญญาณของการกลายพันธุ์ในบางตำแหน่งที่พบในสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีความแตกต่างจากสายพันธุ์อื่น ๆ ที่มีการกลายพันธุ์ไปถึง 30 ตำแหน่ง โดยมีการพบในผู้ป่วยจำนวน 11 รายที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล และอีก 14 ราย ที่อยู่ภายนอก
และจากการค้นพบดังกล่าว ทางทีมวิจัยคาดว่า เป็นสายพันธุ์ที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อนหน้านี้ และได้ทำการส่งลำดับพันธุกรรม จำนวน 25 ตัวอย่างไปยังระบบฐานข้อมูล GISAID แล้ว
โดยในขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า สายพันธุ์ที่พบใหม่นี้จะสามารถระบาดได้เร็วหรือไม่ ซึ่งจะมีการแถลงข่าวเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง
นักวิทยาศาสตร์บางส่วนยังไม่มั่นใจ
จากการรายงานที่เกิดขึ้นนั้น ในขณะนี้เนื่องจากข้อมูลที่มีรายงานออกมายังมีไม่มากนัก และมีเพียงแหล่งข้อมูลเดียวจากประเทศไซปรัสเท่านั้น รวมทั้งยังไม่มีการรายงานยืนยันสายพันธุ์จากทาง GISAID แต่อย่างใด ทำให้หลายฝ่ายยังคงตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจจะไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ก็เป็นได้
ทอม พีค็อก (TomPeacock) นักไวรัสวิทยา จากอังกฤษ ได้มีการตั้งข้อสังเกตุถึง “การปนเปื้อน” ในตัวอย่างที่ทำการทดสอบ เนื่องจากยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับแผนภูมิวิวัฒนาการ หรือ phylogenetic tree และลำดับการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมตรงกับสายพันธุ์เดลต้า
ซึ่งจากรายงานที่มีในขณะนี้มีความเป็นไปได้วา อาจจะมีการปนเปื้อนของตัวอย่างในห้องปฏิบัติการจากการตรวจ PCR ที่มีพบเชื้อทั้งสองสายพันธุ์และทำให้เกิดการพบการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งของเชื้อเดลต้า และ โอมิครอนพร้อม ๆ กัน และเกิดการปนเปื้อนโดยบังเอิญ และส่งผลต่อการรายงานผลที่เกิดขึ้น
ในขณะที่ อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ก็ได้ตั้งข้อสังเกตเช่นเดียวกับ Dr. Tom Peacock ว่า ถ้ามีจริงต้องแยกเชื้อออกมาให้ได้ เพิ่มปริมาณได้ และถอดรหัสออกมาได้ชัดเจน การได้ข้อมูลจากคนป่วยมาโดยตรง รีบถอดรหัส โอกาสสูงมากคือ การปนเปื้อนของ RNA ของไวรัสทั้งเดลต้า และ โอมิครอน ที่อยู่ในแล็บ อยากได้ขึ้นพาดหัวข่าวเลยรีบเร่งบอกสื่อทั้งๆที่ยังไม่วิเคราะห์ผลให้ถี่ถ้วนก่อน
ซึ่งนอกจากนี้ ยังมีบรรดานักวิทยาศาสตร์และนักระบาดวิทยาอีกหลายคนที่เห็นด้วยกับแนวคิดของ ทอม พีค็อก นักไวรัสวิทยา จากอังกฤษ ที่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพียงการปนเปื้อนของตัวอย่าง ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด
ในขณะที่มีผู้สงสัยว่า การปนเปื้อนที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นได้พร้อมกันในหลายตัวอย่างหรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้เป็นไปได้ หากมีการปนเปื้อนในอุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมกัน ก็จะพบผลที่ได้คล้าย ๆ กันได้ โดยยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น หากเครื่องถ่ายเอกสารมีรอยเลอะที่บริเวณจุดที่วางเอกสาร ไม่ว่าจะเปลี่ยนเอกสารถ่ายกี่ใบก็ตาม หากไม่ทำความสะอาดในจุดที่เหลือ เอกสารสำเนาที่ได้ ก็จะยังคงมีจุดเลอะจุดเดิมซ้ำ ๆ ได้
ซึ่งการตรวจหา PCR หากอุปกรณ์มีการปนเปือนในชุดเดียวกันในลักษณะนี้ ก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำความสะอาด รวมถึงมีการตรวจทานผลอย่างถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง
[EDITOR NOTE] เพิ่มเติมสำหรับกรณีการรายงานการพบผู้ป่วยโควิด-19 ร่วมกับการป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ที่เรียกว่า Flurona สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะของอาการป่วยที่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และเชื้อไข้หวัดร่วมกัน
ซึ่งได้มีการเรียกชื่อว่า Flurona และในข้อเท็จจริงนั้น เชื้อทั้งสอง คือ เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 และ เชื้อไข้หวัด เป็นเชื้อคนละชนิดกัน ไม่สามารถจะผสม หรือร่วมกันเป็นสายพันธุ์ใหม่ได้แต่อย่างใด