ประเด็นสำคัญ
- พบผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนแล้ว 514 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ
- ส่วนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในไทย ขณะนี้คลัสเตอร์ใหญ่สุด คือคลัสเตอร์กาฬสินธุ์
- ประเมินสถานการณ์ แย่ที่สุดอาจจะมีผู้ป่วยสูงถึง 2-3 หมื่นราย/วัน ต่อเนื่องยาวไปถึงก.ค. 65 ดีที่สุด แตะหลักหมื่นกว่ารายต่อวันช่วงกลางก.พ. 65 และลดลงเรื่อย ๆ
- เตรียมพร้อมเตียงในการรองรับผู้ป่วยได้กว่า 52,000 ราย/วัน
…
วันนี้ ( 27 ธ.ค.) กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน ที่กำลังพบการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ ซึ่งในขณะนี้พบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศแล้วจำนวนทั้งสิ้น 514 ราย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มีรายงานพบแล้วใน 14 จังหวัด และส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยมีราว 20% ที่เป็นการติดเชื้อในประเทศ ซึ่งพบคลัสเตอร์หลักที่มีการระบาดอยู่ในขณะนี้ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทย
จังหวัด | ผู้ติดเชื้อ | ความเชื่อมโยง |
---|---|---|
กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม | 125 (รอยืนยัน 97) | เป็นพนักงานและลูกค้าในร้าน ที่มีผู้ติดเชื้อจากเบลเยียมเข้าใช้บริการ |
อุดรธานี | 6 | สัมผัสผู้ป่วยที่เดินทางกลับมาจากเบลเยียม |
ลำพูน | 4 | เชื่อมโยงกับคลัสเตอร์กาฬสินธุ์ |
สุรินทร์ | 1 | สัมผัสผู้ป่วยที่เดินทางกลับมาจากเดนมาร์ก |
ภูเก็ต, กระบี่ | 2 | แม่บ้านในโรงแรมที่มีผู้ติดเชื้อพักอาศัย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน |
ปัตตานี | 7 | ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากผู้ป่วย ในคลัสเตอร์ที่กลับมาจากซาอุฯ |
กรุงเทพฯ | 1 | ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยที่มาจากต่างประเทศ (ภรรยา ผู้ป่วยนักบินที่มาจากไนจีเรีย) |
อาการผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในไทย
ในขณะนี้หลังจากที่มีผู้ป่วยโควิด-19 ในสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยส่วนใหญ่ จากข้อมูล 100 รายแรก พบว่า
- ผู้ป่วยเกือบครึ่ง ( 48% ) ไม่มีอาการ
- จำนวน 41% เป็นผู้ป่วยที่มีอาการ ซึ่งอาการที่พบมากคือ ไอ, เจ็บคอ, มีไข้, ปวดกล้ามเนื้อ, มีน้ำมูก
- พบว่า มี 7 รายที่มีอาการปอดอักเสบ โดยมี 5 รายที่ไม่กระทบต่อระดับออกซิเจน และมี 2 รายที่ออกซิเจนออกซิเจนลดลงต่ำ แต่ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
- ยังไม่มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
ซึ่งในรายงานอาการป่วยของผู้ป่วยในขณะนี้ คล้ายกับในรายงานที่พบในต่างประเทศ และในประเทศไทยมีเพียง 1 รายที่พบว่า มีอาการได้กลิ่นลดลง
การประเมินสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
โดยในขณะนี้ ได้มีการประเมินสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยแบ่งเป็น 3 ระดับด้วยกันคือ
- กรณีที่แย่ที่สุด จะมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. 65 ยาวไปจนถึงสูงที่สุดในช่วงเดือน ก.ค. 2565 ที่คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงถึง 3 หมื่นราย/วัน
- กรณีได้รับความร่วมมือปานกลาง จะทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค. 65 เป็นต้นไป และสูงที่สุดในช่วง มี.ค. – ก.ค.2565 ราว 15,000 คนต่อวัน และค่อย ๆ ลดลงอย่างช้า ๆ
- กรณีที่ดีที่สุด จะมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างช้า ๆ และยืดไปได้ถึงช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ ที่ระดับ 13,000 ราย / วัน และค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ
และจากการประเมินการติดเชื้อที่อาจจะเกิดขึ้น ก็ได้มีการประเมินสถานการณ์ของการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นและนำไปสู่การเสียชีวิต โดยคาดการณ์ว่า
- กรณีที่แย่ที่สุด จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ม.ค. 65 เป็นต้นไป โดยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนไปถึงจุดสูงที่สุดในช่วงเดือน มี.ค. 65 ที่จะมีผู้เสียชีวิตสูงกว่า 160 ราย/วัน
- กรณีปานกลาง จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่กลางเดือน ม.ค. 65 และสูงที่สุดในช่วงต้นเดือน ก.พ. 65 โดยมีผู้เสียชีวิตราววันละ 100 ราย/วัน ก่อนค่อย ๆ ลดลง
- กรณีที่ดีที่สุด จะมีผู้เสียชีวิตค่อย ๆ ลดลง จากสถานการณ์ในปัจจุบัน และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือน ม.ค. 65 ก่อนไปสูงที่สุดในช่วงกลางเดือน ก.พ. 65 ที่ราววันละ 50 กว่าราย และค่อย ๆ ลดลง
สธ.เตรียมความพร้อม
จากการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจากผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีอาการเบา จึงไม่จำเป็นต้องให้ออกซิเจนแต่อย่างใด ในขณะที่จำนวนเตียงที่จะรองรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ในเตียงระดับ 2 ที่ต้องให้ออกซิเจน แบบ Oxygen high flow และผู้ป่วยที่จะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ มีอยู่ราว 11,000 เตียง ซึ่งประเมินแล้วจะสามารถรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้ราว 785 ราย/วัน และคาดว่า จะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ที่ระดับ 52,300 ราย ต่อวันได้
จากกรณีที่แย่ที่สุดที่คาดว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่จำนวนกว่า 3 หมื่นรายต่อวัน แต่หากใช้รูปแบบในการรับผู้ป่วยตามที่วางมาตรการไว้ คาดว่าจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ในระดับมากกว่า 52,000 รายต่อวันได้ ดังนั้นจึงยังถือว่า ระบบสาธารณสุขของไทย จะสามารถรอบรับได้
สำหรับในพื้นที่กรุงเทพ ปริมณฑล ก็คาดว่าจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ราว 8,300 รายต่อวัน ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงที่มีการระบาดมากที่สุดในพื้นที่กรุงเทพ – ปริมณฑล มีผู้ป่วยเพิ่มราว 5,000 ราย/วัน
ซึ่งจากที่มีการประเมินในขณะนี้ ยังไม่รวมกับการใช้การแยกกักตัวที่บ้าน สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรืออาการเบา