WHO องค์การอนามัยโลก โควิด-19

WHO ระบุ ฉีดวัคซีนแล้วไม่ติด-ไม่ต้องป้องกันตัว ถือเป็นความเข้าใจที่ผิด

วัคซีนสามารถช่วยชีวิตได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้อย่างสมบูรณ์

Home / โควิด-19 / WHO ระบุ ฉีดวัคซีนแล้วไม่ติด-ไม่ต้องป้องกันตัว ถือเป็นความเข้าใจที่ผิด

ประเด็นสำคัญ

  • ผอ.องค์องการอนามัยโลก กล่าวในรายงานสถานการณ์โควิด-19 ถึงประเด็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน
  • ระบุกังวลเรื่องความเชื่อที่ว่า ฉีดวัคซีนแล้วไม่ติดเชื้อ ไม่ต้องป้องกันตัว เป็นเรื่องที่ผิด
  • วัคซีนสามารถช่วยชีวิตได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้สมบูรณ์
  • ย้ำ ยังคงต้องรักษามาตรการส่วนบุคคล เช่น สวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง เลี่ยงการรวมกลุ่ม
  • เรียกร้อง แบ่งปันการเข้าถึงวัคซีน รวมถึงสิทธิบัตรยาต่าง ๆ ในการสู้กับภัยคุกคามที่เกิดขึ้น

ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กล่าวสรุปในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ที่กรุงเจนีวา เมื่อวานที่ผ่นมา โดยได้แสดงความรู้สึกปลอดภัยแบบผิด ๆ เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่าจะช่วยให้การระบาดของโควิด-19 นี้สิ้นสุดลง และเราไม่จำเป็นต้องป้องกันใด ๆ ต่อไปนั้น ถือเป็นความรู้สึกปลอดภัยที่คลาดเคลื่อนไป และเข้าใจที่ผิดไปจากความเป็นจริง

ผอ.องค์การอนามัยโลกยังระบุต่ออีกว่า WHO มีความกังวลในความรู้สึกปลอดภัยที่ผิด ๆ เนื่องจากในหลายประเทศ หลายชุมชน เชื่อว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการป้องกันใด ๆ

“วัคซีนสามารถช่วยชีวิตได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้อย่างสมบูรณ์”

ดร.ทีโดรส กล่าวเสริมในประเด็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการใช้งานวัคซีนป้องกันโควิด1-9 ซึ่งผู้ที่ได้รับวัคซีนยังคงมีความเสี่ยงที่จะติดโรคได้ แต่จะมีอาการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้น้อยกว่า

โดยในขณะนี้ การระบาดของเชื้อโควิด-19 ในสายพันธ์ุเดลต้านั้น วัคซีนช่วยลดการระบาดได้ราว 60% เหลือราว 40% ซึ่งทั่วโลกในขณะนี้การระบาดเป็นการพบในสายพันธุ์เดลต้าเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นมาตรการของการป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคลยังคงเป็นการป้องกันตัวเอง และลดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ที่อาจจะทำให้เกิดการเสียชีวิตได้

“นั่นหมายถึงการสวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง เลี่ยงการรวมกลุ่ม และพบปะผู้คน หรืออยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก”

นอกจากนี้ ผอ.องค์การอนามัยโลกยังได้เรียกร้องไปยังประเทศต่าง ๆ ให้ใช้แนวทางการป้องการระบาดที่ครอบคลุมและเหมาะสม เพื่อลดภาระของระบบสาธารณสุข และช่วยชีวิตผู้ป่วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในทุกประเทศ

เรียกร้องแบ่งปันเทคโนโลยี

โดยในขณะนี้ ยุโรปกำลังกลายเป็นศูนย์กลางของการระบาดใหญ่อีกครั้ง และเป็นเรื่องที่สำคัญที่ทุกประเทศจะต้องช่วยกัน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการระบาดในระลอกใหม่นี้ และจะดีมากหากช่วยกันแบ่งปันข้อมูล-ผลความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์

ซึ่งผอ.องค์การอนามัยโลกระบุว่า ไม่ใช่แค่วัคซีนเท่านั้น รวมไปถึงยาและการรักษาทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ของเชื้อโควิด-19 มาตรการการชะลอการระบาด รวมถึงการช่วยเหลือผู้ป่วย

ตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกพยายามเรียกร้องให้มีการยกเว้นทรัพย์สินทางปัญญา ในเรื่องของวัคซีนและยา ที่ใช้สำหรับการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 เพื่อให้ชาติต่าง ๆ สามารถเข้าถึงการรักษา และป้องกันการระบาดได้ โดยมองว่า โควิด-19 คือภัยคุกคามของทุกประเทศทั่วโลก และจำเป็นต้องร่วมกันรับมือกับการระบาดที่เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นจะส่งผลต่อการรับมือ และอาจจะเกิดการดื้อยา หรือกลายพันธุ์เพิ่มเติมได้ในอนาคต


ที่มา – https://www.who.int/director-general/speeches/detail/who-director-general-s-opening-remarks-at-the-media-briefing-on-covid-19—24-november-2021