ประเด็นสำคัญ
- รัฐบาลเกาหลีใต้เตรียมประกาศนโยบาย “อยู่ร่วมกับโควิด-19” กลับมาใช้ชีวิตตามปรกติ
- โดยจะเริ่มในระยะแรกในเดือน พฤศจิกายน, ระยะ 2 กลางเดือนธันวาคม ก่อนเข้าสู่ระยะที่ 3 ในการกลับมาใช้ชีวิตามปรกติในช่วงต้นปี 2565
- หลังจากยอดผู้ป่วยโควิด-19 เริ่มลดลง, อัตราการฉีดวัคซีนแตะ 80% จากประชากร 52 ล้านคน
…
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในเกาหลีใต้ ในขณะนี้ค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ จากจำนวนผู้ป่วยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีการเตรียมพร้อมในการกลับสู่ชีวิตในวิถีปรกติ โดยการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 โดยจะเริ่มต้นในเดือน พฤศจิกายนนี้ ซึ่งทางรัฐบาลเกาหลีใต้กำลังเตรียมแผนงานสู่การก้าวเข้าสู่ “ความปรกติใหม่” อีกครั้ง
ภาพรวมสถานการณ์
ในขณะนี้ การระบาดของโควิด-19 ในเกาหลีใต้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยจำนวนผุ้ป่วยรายใหม่ล่าสุดในเกาหลีใต้ ( 25 ต.ค.) มีผู้ป่วยเพิ่ม 1,190 ราย ซึ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,167 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 353,089 ราย หายป่วยแล้ว 324,448 ราย ยังคงเหลือรักษาตัวอยู่อีกราว 25,000 กว่าราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 7 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 2,773 ราย
ซึ่งหลังจากที่เผชิญกับการระบาดระลอกล่าสุดเมื่อช่วงเดือน ก.ค. 64 ที่ผ่านมา แนวโน้มการพบผู้ป่วยก็เพิ่มสูงขึ้น จนสูงที่สุดในช่วงปลายเดือนกันยายน และหลังจากนั้นก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เหลือการติดเชื้ออยู่ราว 1,000 รายต่อวัน
การวัคซีน
ในขณะที่เกาหลีใต้มีประชาชนฉีดวัคซีนไปแล้วราว 79.4% หรือคิดเป็น 40.7 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 52 ล้านคน ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม ส่วนจำนวผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วนั้น มีอยู่ถึง 35.9 ล้านคน หรือกว่า 70% ของจำนวนประชากร
ด้วยการเร่งการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มการระบาด รวมถึงอัตราการเสียชีวิตไม่สูงมากนัก ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้เตรียมแผนการที่จะยกเลิกมาตรการ และข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อกลับสู่การใช้ชีวิตปรกติ ในวิถีใหม่ ที่จะต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 อีกครั้ง
แผนการอยู่ร่วมกับโควิด-19 ของเกาหลีใต้
ในขณะนี้ ยังคงอยู่ในระหว่างการสรุปแผนการปรับมาตรการสู่การอยู่ร่วมกับโควิด-19 โดยจะมีการผ่อนคลายเป็น 3 ระยะด้วยกัน
ระยะที่ 1
ร้านอาหาร-คาเฟ่ เปิดปรกติ – ในขณะนี้ บรรดาร้านอาหาร – คาเฟ่ต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงโซลได้ถูกจำกัดมาตรการให้เปิดให้บริการได้ถึง 22.00 น. เท่านั้น ส่วนพื้นที่อื่น ๆ จะได้รับอนุญาตให้เปิดได้ถึงเที่ยงคืน
หลังจากมีการผ่อนคลายแล้วก็จะสามารถเปิดให้บริการได้อย่างปรกติตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. เป็นต้นไป
สถานบันเทิงในโซลจะกลับมาอีกครั้ง – สำหรับธุรกิจกลางคืน ไม่ว่าจะผับ บาร์ ไนท์คลับต่าง ๆ โดยเฉพาะในกรุงโซลที่ถูกสั่งปิดมาตั้งแต่เดือน มิถุนายนที่ผ่านมา จะกลับมาเปิดทำการได้อีกครั้งถึงเวลาเที่ยงคืน และสำหรับในพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่กรุงโซล ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดได้ถึง 22.00 น. ก็จะได้รับการปรับเวลามาให้เปิดได้ถึงเที่ยงคืนเช่นกัน
Vaccine Pass กลายเป็นสิ่งสำคัญ – หนึ่งในแนวทางการกลับสู่วิถีปรกติของเกาหลีใต้นั้น หัวใจสำคัญจะเป็น “วัคซีนพาส” ที่จะมีการนำมาใช้ในการแสดงตัวเพื่อเข้าพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสถานบันเทิง โรงยิม ฟิตเนสต่าง ๆ ซึ่งสำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ก็จะใช้รูปแบบของการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แทน หากผลเป็นลบ ก็สามารถเข้าใช้บริการได้
…
ระยะที่ 2
สำหรับในระยที่สองนั้นจะเริ่มมีการผ่อนคลายมากขึ้นโดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือน ธันวาคม คือ
จัดคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ – ทางการเกาหลีใต้จะอนุญาตให้มีการจัดคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยจะยังคงใช้ “วัคซีนพาส” เป็นหัวใจหลักในการแสดงตัวเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้
สถานบันเทิงกลับมาเปิดได้ยันเช้า – จะมีการยกเลิกกำหนดเวลาปิดให้บริการของสถานบันเทิง กลับสู่ภาวะปรกติอีกครั้ง
มหกรรมกีฬาต่าง ๆ จัดได้มากขึ้น – สำหรับการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ ก็จะมีการอนุญาตให้จัดการแข่งขันได้โดยให้มีผู้เข้าชมได้ 75% ของจำนวนความจุสนาม จากที่ถูกกำหนดไว้ที่ 20% สำหรับกีฬาในร่ม และ 30% สำหรับกีฬากลางแจ้ง
ผ่อนคลายข้อจำกัดการร่วมกลุ่ม – ในขณะนี้เกาหลีใต้ยังคงอยู่ในกรอบของการจำกัดจำนวนการรวมกลุ่ม, รวมตัวกัน ที่อนุญาตให้รวมตัวกันได้ไม่เกิน 8 คน และ 4 คนจะต้องได้รับวัคซีนครบแล้ว สำหรับในพื้นที่กรุงโซล และ สูงสุด 10 คน โดยต้องมีผู้รับวัคซีนครบแล้ว 6 คน สำหรับในพื้นที่อื่น ๆ
ซึ่งในระยะที่ 2 นี้ จะมีการปรับเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น
…
ระยะ 3
สำหรับแผนเบื้องต้นในระยะที่ 3 ก็จะก้าวเข้าสู่สภาวะปรกติ ในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2565 ข้อกำหนด และข้อจำกัดบางอย่างก็จะมีการปรับปรุงและยกเลิก เช่น ข้อกำหนดการจำกัดจำนวนการร่วมกลุ่ม เป็นต้น
ซึ่งอย่างไรก็ตาม รัฐบาลเกาหลีใต้ระบุว่า มาตรการการป้องกันส่วนบุคคลเช่น การสวมหน้ากากอนามัย ยังคงมีความจำเป็นอยู่
ที่มา – YNA