วัคซีนโควิด วัคซีนโควิด-19 วัคซีนโควิดสำหรับเด็ก

สรุปข้อมูล วัคซีนโควิด19 สำหรับเด็ก ต่ำกว่า18ปี ตัวไหนฉีดได้ ตัวไหนยังไม่รับรอง

ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในกลุ่มคุณพ่อคุณแม่ ที่มีบุตรอยู่ในวัยที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งยังคงมีประเด็นของการฉีดวัคซีนโควิด19 ที่ยังไม่ชัดเจน

Home / โควิด-19 / สรุปข้อมูล วัคซีนโควิด19 สำหรับเด็ก ต่ำกว่า18ปี ตัวไหนฉีดได้ ตัวไหนยังไม่รับรอง

ประเด็นสำคัญ

  • ในขณะนี้ อย. ของไทยอนุมัติใช้งานวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กอายุ 12-17 ปี จำนวน 2 ยี่ห้อด้วยกันคือ Pfizer และ Moderna
  • ส่วนการฉีดนั้น ในขณะนี้มีของวัคซีนไฟเซอร์ ที่ให้กับกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี ส่วน Moderna ยังไม่มีนำเข้ามา คาดว่าจะเข้ามาในช่วงในเดือน ต.ค.นี้
  • ส่วนกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ในขณะนี้ “อย. ยังไม่มีการอนุญาตวัคซีนใช้วัคซีนตัวใด”
  • สำหรับวัคซีน Sinopharm บางบริษัทผู้นำเข้ายื่นขอขยายให้ฉีดได้ตั้งแต่ 3 ขวบ แต่อย.ระบุว่า เอกสารยังไม่ครบถ้วนในส่วนของผลระยะที่ 3 ขอให้เร่งส่งเอกสารเพิ่มเติม ทำให้ในขณะนี้ยังไม่ได้อนุมัติปรับช่วงอายุ
  • ส่วนการฉีดของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัย ซึ่งในการทดลองในระยะที่ 3 อยู่ในระหว่างการดำเนินการในจีน, UAE ซึ่งรายงานเบื้องต้นมีความปลอดภัย กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี และอาการไม่พึงประสงค์ใกล้เคียงกับในกลุ่มวัยผู้ใหญ่

ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในกลุ่มคุณพ่อคุณแม่ ที่มีบุตรอยู่ในวัยที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งยังคงมีประเด็นของการฉีดวัคซีนโควิด19 ที่ยังไม่ชัดเจนและยังไม่มีคำแนะนำที่แน่ชัดว่าควรให้ลูกเข้ารับวัคซีนโควิด19 ตัวไหนหรือเมื่อไหร่ ทำให้การดูแลในเด็กเล็กที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ง่าย เป็นเรื่องที่ยังต้องเข้มงวด รวมถึงประเด็นสำคัญอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ปกครองยังกังวลใจเป็นอย่างมากคือ การที่เด็กๆ จะยังไม่สามารถไปโรงเรียนได้อย่างสบายใจ หากยังไม่ได้รับวัคซีน

โดยกลุ่มเด็กที่จะได้รับวัคซีนโควิด19 เป็นกลุ่มแรกนั้น คือกลุ่มอายุ 12-17 ปี ซึ่งวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาให้ใช้ได้และมีผลแล้วคือ ไฟเซอร์ และได้เริ่มฉีดให้เด็กในกลุ่มนี้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา แต่เริ่มต้นฉีดให้กับเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก่อน ส่วนที่เหลือนั้น อยู่ในกลุ่มเป้าหมายของเดือนตุลาคม โดยนักเรียนอายุ 12-17 ปี ทั่วประเทศ วางเป้าไว้ที่ 4.8 ล้านโดส สำหรับการฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม

วัคซีนไฟเซอร์ หนึ่งเดียวในขณะนี้

วัคซีนไฟเซอร์ เป็นวัคซีนชนิด mRNA เพียงชนิดเดียวในขณะนี้ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยาแห่งประเทศไทย ให้สามารถใช้ในเด็กและวัยรุ่น อายุ 12 ปีขึ้นไป โดยที่มีคำแนะนำเพิ่มเติมดังนี้คือ

  • ในกลุ่มเด็กอายุ 12-16 ปี ที่เป็นเด็กที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีโรคเรื้อรัง 7กลุ่ม แนะนำให้ฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันความรุนแรงต่อโรคที่อาจเกิดขึ้น
  • ส่วนในกลุ่มเด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป แนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ได้เลย

นอกจากนั้นยังมีคำแนะนำเรื่องการฉีดวัคซีนในเด็ก จาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ถึงเรื่องดังกล่าวโดยสรุปได้เข้าใจค่อนข้างง่าย

ปัจจุบัน ทุกวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติให้ฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะกำหนดให้ฉีดในผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ยกเว้นของ Pfizer ที่ทดลองในเด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป ต่อมาเริ่มมีการวิจัยการให้วัคซีนในผู้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปี และมีข้อสรุปดังนี้

  1. ในเด็กและเยาวชนที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป สามารถฉีดวัคซีนของ Pfizer และ Moderna ได้ในประเทศที่ได้รับการอนุมัติให้ฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน
  2. ในกลุ่มที่มีการทดลองยังไม่สมบูรณ์ และให้เริ่มฉีดได้เลย ได้แก่
    • ชิลี ให้ฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 ขวบเป็นต้นไป
    • คิวบา ให้ฉีดในเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไปได้
  3. ในส่วนที่ทำการวิจัยทดลองยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ยังไม่อนุญาตให้ฉีดเป็นการทั่วไป ได้แก่
    • วัคซีนของ Pfizer และ Moderna กำลังทดลองฉีดในอายุตั้งแต่ 5ขวบขึ้นไป
    • วัคซีนของ Sinovac และ Sinopharm กำลังทดลองฉีดในเด็กอายุ 3ขวบขึ้นไป

สำหรับในประเทศไทย โดยคำแนะนำของสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ได้แนะนำ

  1. ยังไม่ฉีดเป็นการทั่วไป ในเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีลงมา
  2. เด็กอายุ 12-15 ปี ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงคือมีโรคประจำตัวที่อาจจะเป็นอันตราย ให้พิจารณาฉีดวัคซีนได้

ก็จะมาถึงปัญหาของคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองว่า ถ้าลูกตนเองอยู่ในกลุ่มที่จะฉีดวัคซีนได้แล้ว จะฉีดวัคซีนบริษัทไหนดี ด้วยเหตุผลว่าอะไร คงจะต้องพิจารณาจาก 3 มิติด้วยกัน

  • มิติผลข้างเคียง วัคซีนเทคโนโลยี mRNA เป็นเทคโนโลยีใหม่ ยังไม่เคยผลิตเป็นวัคซีนและฉีดให้เด็กและเยาวชนมาก่อนเลย และเริ่มพบมีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเด็กและเยาวชนผู้ชายพอสมควร พบประมาณ 5 รายใน 1 ล้านโดส
    ส่วนวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย ได้เคยผลิตวัคซีน แล้วนำมาฉีดในเด็กและเยาวชนมาหลายสิบปีแล้ว จึงมีความสบายใจได้ในเรื่องผลข้างเคียง
  • มิติประสิทธิผล วัคซีนเทคโนโลยี mRNA มีประสิทธิผลสูงกว่าเทคโนโลยีเชื้อตาย
  • มิติการเจ็บป่วยจากโควิด พบว่าในเด็กและเยาวชน เมื่อติดโควิดแล้วจะไม่ค่อยแสดงอาการ ในรายที่แสดงอาการ ก็จะมีอาการไม่ค่อยรุนแรง และมีจำนวนป่วยหนักและเสียชีวิตค่อนข้างน้อย

โดย 3 มิติดังกล่าวข้างต้น คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองจึงต้องชั่งใจ ให้ครบถ้วนว่า จะฉีดวัคซีนให้บุตรหลานตนเองหรือไม่อย่างไร และจะฉีดด้วยวัคซีนอะไรดี

วัคซีนโมเดอร์นา อนุมัติแล้วแต่ยังไม่มีของ

สำหรับในประเทศไทย อย.ได้จดทะเบียนให้วัคซีน Pfizer กับ Moderna สามารถฉีดในอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ ซึ่งแม้ว่าจะอนุมัติวัคซีน Moderna ไปแล้ว แต่เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนเข้ามาในประเทศในขณะนี้ ทำให้ยังไม่มีการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเด็ก

อย่างไรก็ตาม จากรายงานที่มีค่อนข้างชัดเจนว่า วัคซีนของโมเดอร์น่าจะมีการนำเข้ามาล็อตแรกในช่วงเดือน ต.ค. นี้ และจะเริ่มมีการเรียกคิวผู้ที่จองไว้ฉีดวัคซีนชนิดนี้ ซึ่งน่าจะเป็นในกลุ่มของผู้ใหญ่ที่มีการจองไว้ก่อนหน้าเช่นกัน ดังนั้นในส่วนของเด็กอายุ 12 ปี ขึ้นไป อาจจะตรวจสอบกับทางโรงพยาบาลที่เปิดจองอีกครั้งหนึ่ง

วัคซีนเชื้อตาย Sinovac, Sinopharm รอยื่นเอกสารเพิ่ม

ส่วนวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย Sinopharm ได้ยื่นขอจดทะเบียนฉีดในเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไปแล้ว กำลังรอเอกสารเพิ่มเติม และ ส่วนวัคซีน Sinovac จะยื่นขอจดทะเบียนในเร็ววันนี้ สำหรับฉีดในเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป

ในขณะที่ทางฝั่ง ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงการรับวัคซีนในเด็กเล็ก ที่ควรคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดว่า

“ทางเลือกสำหรับประเทศไทยในเด็กตั้งแต่อายุ 3ขวบขึ้นไปเพื่อความปลอดภัยสูงสุดอาจจะเป็นวัคซีนเชื้อตายสองเข็มแต่เนื่องจากไม่สามารถคุมเดลต้าได้ จึงตามด้วยไฟเซอร์ หรือโมเดนา ในปริมาณน้อยที่สุดคือหนึ่งส่วนสี่โดส เข้ากล้าม ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าได้ผลหรือจะใช้ขนาดหนึ่งในห้าหรือหนึ่งใน 10 ทางชั้นผิวหนังก็ได้ผลเช่นกัน (เป็นการศึกษาในผู้ใหญ่ในประเทศไทย)”

สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี

ในขณะนี้ สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ทางอย. ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ซึ่งในเบื้องต้น มีการยื่นเอกสารของอนุญาตขยายกลุ่มอายุในการรับวัคซีนของ Sinopharm โดยทางผู้นำเข้าคือ บริษัท ไบโอ จีนีเทค จำกัด ได้มีการยื่นขอมาขยายเป็น ตั้งแต่อายุ 3 ขวบขึ้นไปนั้น ในขณะนี้ ทางอย. ยังไม่อนุญาตให้มีการปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด

โดยทางอย. ให้เหตุผลว่า เอกสารข้อมูลการทดสอบในกลุ่มอายุ 3-17 ปี นั้นยังไม่เพียงพอ ซึ่งขอให้ทางผู้นำเข้า รวบรวมเอกสารมายื่นเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากยังไม่มีรายงานผลการทดสอบในระยะที่ 3 อยู่ในระหว่างการทดลองในระยะที่ 3 ทั้งในประเทศจีน และ UAE

ส่วนทางด้านของทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่มีการฉีดอยู่นั้น เป็นการศึกษาวิจัยอยู่ เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ในผลการทดลองระยะที่ 1 และ 2 ของจีน พบว่า ในกลุ่มเด็กอายุ 3-17 ปี ที่ได้รับวัคซีนชิโนฟาร์มนั้น สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีเท่ากับในระดับผู้ใหญ่ ผ่านการฉีดวัคซีนในปริมาณที่ลดลงจากผู้ใหญ่ และใช้การฉีดจำนวน 2 โดสเช่นเดิม ในขณะที่อาการไม่พึงประสงค์-ผลข้างเคียงนั้น ไม่ต่างกับการพบในกลุ่มผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีนมากนัก

มีรายงานอาการแพ้รุนแรงจำนวน 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่มีประวัติแพ้อาหารอยู่เดิมก่อนหน้านี้