ข่าวต่างประเทศ วัคซีนโควิด-19 วัคซีนโมเดอร์นา วัคซีนไฟเซอร์ โควิด-19

ญี่ปุ่น เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน 1,002 ราย ระบุยังไม่พบความเกี่ยวข้องกับวัคซีน

นอกจากนี้ยังพบอีก 2 รายเสียชีวิตก่อนการสั่งระงับฉีดโมเดอร์น่าทั่วประเทศ

Home / โควิด-19 / ญี่ปุ่น เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน 1,002 ราย ระบุยังไม่พบความเกี่ยวข้องกับวัคซีน

ประเด็นสำคัญ

  • ญี่ปุ่นรายงานยอดผู้เสียชีวิตหลังรับวัคซีน 1,002 ราย โดยยังไม่พบความเชื่อมโยงกับวัคซีน
  • มีรายงานแพ้วัคซีน 2,336 ราย, อาการไม่พึงประสงค์กว่า 22,000 ราย
  • นอกจากนี้ พบผู้เสียชีวิต 2 รายก่อนการระงับการฉีดวัคซีนโมเดอร์นา

ประเทศญี่ปุ่นได้รายงานผลการพบอาการไม่พึงประสงค์, ผลข้างเคียง รวมถึงผู้ที่เสียชีวิตหลังจากได้รับวัคซีน โดยสรุปตั้งแต่ 17 ก.พ. 2564 ถึงวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า

ในประเทศญี่ปุ่นได้มีการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไฟเซอร์และโมเดอร์นา โดยพบว่า อาการไม่พึงประสงค์ และอาการแพ้ที่พบนั้น มีจำนวนน้อยและไม่มีความน่ากังวลใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการฉีดวัคซีน

อาการไม่พึงประสงค์

  • วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไฟเซอร์ พบอาการไม่พึงประสงค์จำนวน 20,492 ราย จากจำนวนการฉีด 90,651,661 โดส หรือคิดเป็นราว 0.2%
  • วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของโมเดอร์น่า พบอาการไม่พึงประสงค์จำนวน 1,564 ราย จากจำนวนการฉีด 12,261,354 โดส

อาการแพ้

มีการพบอาการแพ้วัคซีนจำนวน 2,336 ราย โดยแบ่งเป็น

  • วัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 2,211 ราย คิดเป็น 24 รายต่อ 1 ล้านโดส
  • วัคซีนโมเดอร์นา จำนวน 125 ราย คิดเป็น 10 รายต่อ 1 ล้านโดส

ซึ่งในจำนวนนี้ พบว่า มีอาการแพ้รุนแรงจำนวน 414 ราย แบ่งเป็น

  • วัคซีนไฟเซอร์ 405 ราย คิดเป็น 4 ราย ต่อ 1 ล้านโดส
  • วัคซีนโมเดอร์นา จำนวน 9 ราย หรือคิดเป็น 0.7 ราย ต่อ 1 ล้านโดส

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ / เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

โดยในรายงานของหลายประเทศในกลุ่มวัคซีนชนิด mRNA พบว่า ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้ โดยในประเทศญี่ปุ่นพบว่า

  • วัคซีนไฟเซอร์ พบผู้ป่วยจำนวน 59 ราย หรือ 0.7 ราย ต่อ 1 ล้านโดส
  • วัคซีนโมเดอร์น่า พบผู้ป่วยจำนวน 13 ราย หรือ 1.1 ราย ต่อ 1 ล้านโดส

ส่วนการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน / ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ยังไม่มีรายงานการพบแต่อย่างใด

การเสียชีวิตหลังได้รับวัคซีน

สำหรับการเสียชีวิตหลังจากได้รับวัคซีนทั้งสิ้น1,002 ราย ซึ่งทั้งหมดยังไม่พบความเกี่ยวข้องหรือสาเหตุที่เกิดขึ้นจากการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่อย่างใด โดยในรายงานพบว่า

  • วัคซีนไฟเซอร์ มีรายงานการเสียชีวิต 991 ราย
  • วัคซีนโมเดอร์นา มีรายงานการเสียชีวิต 2 ราย

อย่างไรก็ตาม สำหรับการเสียชีวิตหลังเข้ารับวัคซีนนั้น จะยังคงมีการสืบสวนและประเมินความเชื่อมโยงจากผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทางการญี่ปุ่นระบุว่า วัคซีนยังคงมีความปลอดภัยเพียงพอในการเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19

อาการผื่นแดงหลังฉีดโมเดอร์นาในผู้หญิง

ในขณะเดียวกันจากการสำรวจกว่า 4 หมื่นรายในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของโมเดอร์นา พบว่า มีจำนวน 2369 ราย หรือราว 5.6% มีเกิดภาวะเป็นผื่นแดง และคัน ซึ่งแม้ว่าอาการดังกล่าวจะมีอาการไม่รุนแรงก็ตาม และหายไปได้เองในเวลาราว 4-8 วัน

แต่จากอัตราการพบราว 1 ใน 18 ราย และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ( 83% ของผู้ที่มีอาการ) ซึ่งจะเกิดอาการในช่วง 4 – 21 วันหลังจากที่รับวัคซีน (ส่วนใหญ่ในช่วงประมาณ 1 สัปดาห์หลังรับวัคซีน)

โดยผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อสังเกตดังกล่าว หลังจากที่พบว่า อัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์นี้ อยู่ที่ 0.8% จากรายงานการทดลองทางคลินิกในต่างประเทศเท่านั้น ในขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นมีอัตราอยู่ที่ 5.6% และส่วนใหญ่พบในผู้หญิง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอายุน้อย

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชายระบุว่า อาการท่เกิดขึ้นนั้นไม่น่ากังวลแต่อย่างใด และวัคซีนยังคงมีความปลอดภัยในการใช้งาน

พบเสียชีวิต 2 ราย จากกรณีระงับการฉีดวัคซีนโมเดอร์นา

สำหรับวัคซีนโมเดอร์นา ที่ทางการญี่ปุ่นได้มีการสั่งระงับไปเมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมาหลังระบุว่า มีการพบการปนเปื้อนในวัคซีน โดยได้มีการสั่งระงับการฉีดทั่วประเทศ จำนวนกว่า 1.6 ล้านโดส ซึ่งมีรายงานการเสียชีวิตก่อนที่จะมีการสั่งระงับการฉีดไปก่อนหน้านี้ จำนวน 2 ราย

โดยในล็อตที่มีการสั่งระงับไปแล้วนั้น คือ

  • ล็อตหมายเลข 3004667 (ราว 57,000 โดส) ซึ่งเป็นล็อตที่มีรายงานการสิ่งแปลกปลอมปน
  • ล็อตหมายเลข 3004734 (ราว 52,000 โดส) ซึ่งยังไม่มีรายงานการพบการปนเปื้อนแต่อย่างใด แต่ผู้เสียชีวิตทั้ง 2 รายได้รับวัคซีนจากล็อตนี้
  • ล็อตหมายเลข 3004734 (ราว 54,000 โดส) ยังไม่มีรายงานการปนเปื้อน

รายละเอียดผู้เสียชีวิตรายแรก เป็นชาย อายุ 38 ปี ไม่มีประวัติโรคประจำตัว โดยได้เข้ารับวัคซีนครั้งแรกในวันที่ 18 ก.ค. และเข็มที่สอง วันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยหลังจากที่ฉีดวัคซีนแล้วพบว่า ในวันที่ 16 ส.ค. มีอาการไข้ 38.5 °C จึงได้มีการรับประทานยาลดไข้ และในวันที่ 17 ส.ค. ก็ยังคงมีอาการไข้ และรับประทานยาลดไข้ ก่อนที่จะมีรายงานการเสียชีวิตในวันที่ 18 ส.ค.

ผู้เสียชีวิตรายที่ 2 เป็นชาย อายุ 30 ปี ไม่มีโรคประจำตัวเช่นกัน โดยได้รับวัคซีนเข็มแรกในวันที่18 ก.ค. และเข็มที่ 2 ในวันที่ 22 ส.ค. โดยหลังจากฉีดวัคซีนแล้ว ในวันที่ 23 ส.ค. ผู้เสียชีวิตรายนี้ ระบุเช่นเดียวกับรายแรกคือ มีอาการไข้ จึงได้หยุดงาน และอาการดีขึ้นในวันถัดมา จึงได้ออกไปทำงาน-กลับบ้านตามปรกติ

ก่อนที่จะมีรายงานการเสียชีวิตในเช้าวันที่ 25 ส.ค.

ซึ่งสำหรับทั้งสองกรณีนี้ ยังคงอยู่ในระหว่างการสอบสวนความเชื่อมโยงว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่