ประเด็นสำคัญ
- แนวโน้มสถานการณ์การพบผู้ป่วยรายใหม่เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา เพิ่มสูงขึ้น
- อัตราการฉีดวัคซีน เพิ่มขึ้นกว่า เดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา แต่ยังคงห่างจากเป้าหมาย
- สถานการณ์โลก อัตราการพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเช่นกัน ยิ่งทำให้การเปิดประเทศยากขึ้น
…
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงถึงเป้าหมาย “120 วันเปิดประเทศไทย” ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ที่ต้องการจะตั้งเป้าหมายในการดำเนินการ “เปิดประเทศ”
โดยแม้ว่า ในภายหลังจะมีความสับสนในประเด็นเรื่องของการนับวันเริ่มต้นว่าเป็นวันที่แถลง หรือเป็นวันที่เริ่มโครงการภูเก็ตแซนต์บ็อก ทาง MThai จึงได้ตั้งต้นเอาวันที่ 1 ก.ค. ตามกำหนดของการเริ่มต้นโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกมาเป็นวันดีเดย์ของเป้าหมาย 120 วันเปิดประเทศ และนับจากวันนั้น ถึงวันนี้ (30 ก.ค.) ผ่านมาแล้ว 30 วัน หรือ 1/4 ของระยะเวลาที่ตั้งเป้าหมายไว้ จึงนำสรุปภาพรวมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นอย่างไรกันบ้าง
ภาพรวม – 1/4 ไมล์ ของ 120 วันเปิดประเทศ
สถานการณ์ในวันที่ 1 ก.ค. 64 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อก ในวันนั้น ศบค. รายงานยอดผู้ติดเชื้อสะสมจำนวน 264,834 ราย นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย และมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในวันดังกล่าว จำนวน 5,533 ราย
…
สถิติผู้ป่วย | มิ.ย.64 | ก.ค. 64 |
---|---|---|
จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม ทั้งเดือน | 99,509 | 319,074 |
ผู้ป่วยรายใหม่ เฉลี่ย/วัน | 3,317 | 10,636 |
จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ต่ำสุด | 2,230 ( 1 มิ.ย. 64) | 5,420 ( 5 ก.ค. 64) |
จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ สูงสุด | 5,406 ( 28 มิ.ย. 64) | 17,669 ( 29 ก.ค. 64) |
…
จะเห็นว่า ในภาพรวมของการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้ติดเชื้อสะสม พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องมากกว่า ในช่วงของเดือน มิ.ย. กว่า 3 เท่าตัว ทั้งในส่วนของจำนวนสะสม, ผู้ป่วยรายใหม่ต่อวันโดยเฉลี่ย และยอดผู้ป่วยรายใหม่สูงสุด
อัตราการหายป่วยเพิ่มขึ้นแต่ไม่มากพอ
ในสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น พบว่า แนวโน้มอัตราการหายป่วยของผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในเดือน ก.ค. เกือบ 2 เท่าตัว เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. แต่ต้องไม่ลืมว่า ในภาพรวม เดือน ก.ค. มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว ด้วยเช่นกัน
ทำให้อัตรการครองเตียงของผู้ป่วยพุ่งสูงขึ้นกว่า 140,000 ราย ในช่วงระยะเวลา 30 วัน (ระหว่าง 1-30 ก.ค.)
สถิติผู้ที่หายป่วย | มิ.ย.64 | ก.ค. 64 |
---|---|---|
หายป่วยสะสม ทั้งเดือน | 99,134 | 173,691 |
ผู้หายป่วย เฉลี่ย/วัน | 3,304 | 5,790 |
ผุ้หายป่วยเพิ่มรายวัน ต่ำสุด | 1,578 ( 24 มิ.ย. 64) | 2,534 ( 4 ก.ค. 64) |
ผู้หายป่วยเพิ่มรายวัน สูงสุด | 5,711 ( 11 มิ.ย. 64) | 10,678 ( 29 ก.ค. 64) |
…
อัตราผู้เสียชีวิต
จากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ยอดผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งในเดือน ก.ค. 64 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2,656 ราย มากกว่าเดือน มิ.ย. ราว 2.6 เท่า
สถิติการเสียชีวิต | มิ.ย.64 | ก.ค. 64 |
---|---|---|
ผู้เสียชีวิตสะสม ทั้งเดือน | 992 | 2,656 |
ผู้เสียชีวิต เฉลี่ย/วัน | 3,304 | 88.5 |
ผู้เสียชีวิตรายวัน ต่ำสุด | 17 ( 14 มิ.ย. 64) | 41 ( 3 ก.ค. 64) |
ผู้เสียชีวิตรายวัน สูงสุด | 53 ( 30 มิ.ย. 64) | 165 ( 29 ก.ค. 64) |
…
วัคซีนประเทศไทย
หนึ่งในเป้าหมายที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศเอาไว้คือ เป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ได้ 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2564 นี้ หรือคิดเป็นราว 100 ล้านโดส โดยในช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการฉีดวัคซีนในเดือน มี.ค. ให้กับกลุ่มเสี่ยงและบุคลากรทางการแพทย์ ประเทศไทยฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 17 ล้านโดส
โดยมีจำนวนการฉีดมากที่สุด คือ 559,989 โดส ในวันที่ 10 มิ.ย. 2564 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากในช่วงวันดีเดย์ฉีดวัคซีนของประเทศในช่วง 7-8-9 มิ.ย. นั่นเอง
สถิติการฉีดวัคซีนโควิด-19 | มิ.ย.64 | ก.ค. 64 |
---|---|---|
ฉีดวัคซีนสะสม ทั้งเดือน | 6,262,839 | 7,083,779 |
ฉีดวัคซีน เฉลี่ย/วัน | 208,761 | 244,268 |
ฉีดวัคซีน สูงสุด | 559,989 ( 10 มิ.ย. 64) | 443,714 ( 3 ก.ค. 64) |
…
จะเห็นว่า ในช่วงเดือน ก.ค. 64 นั้น สถานการณ์การฉีดวัคซีนสามารถฉีดเพิ่มได้มากกว่า ในเดือน มิ.ย. ราว 8 แสนโดส และอัตราการฉีดวัคซีนเฉลี่ยต่อวัน ก็มีจำนวนสูงขึ้น แต่เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่เคยตั้งเป้าไว้ในเดือน ก.ค. คือ 10 ล้านโดส ก็จะเห็นว่า พลาดจากเป้าหมายไปราว 3 ล้านโดส
แต่หากมองภาพรวมของทั้งหมด ที่มีเป้าหมาย 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้ ก็จะเป็นว่า ยังคงเหลืออีกกว่า 82 ล้านโดส ที่จะต้องเร่งฉีดต่อไป ให้ได้เฉลี่ยวันละเกือบ 5.4 แสนโดส หรือเดือนละไม่ต่ำกว่า 16.6 ล้านโดส และยังมากกว่าแผนที่ทางกระทรวงสาธารณสุขได้คาดการณ์ไว้คือราวเดือนละ 10 ล้านโดส นับตั้งแต่เดือน ก.ค. 64 เป็นต้นไป
ซึ่งในขณะนี้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้เร่งจัดหาวัคซีนมาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เช่น วัคซีนของไฟเซอร์ ที่ได้รับมาจากสหรัฐฯ วัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า ที่จะได้รับจากสหราชอาณาจักร
แต่อย่างไรก็ตาม จากการประเมินในขณะนี้ ถือเป็นงานยากสำหรับการจัดหาวัคซีนให้ได้ตามเป้าที่ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้
…
บทสรุป 1/4 ไมล์แรกของ 120 วัน
หากตัวเลข 120 วันเปิดประเทศของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เป็น “เป้าหมาย” ที่ตั้งไว้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ธุรกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่จะเป็นเครื่องยนต์หลักของรายได้ที่จะเข้ามาในประเทศไทย ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่ท้าทาย ในวันที่ได้มีการประกาศแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่มีการประกาศเป้าหมายของการทำงานที่ชัดเจน
แต่ในแง่ของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใน 30 วันแรก หรือ 1/4 ของเป้าหมายนั้น กลับกลายเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากในการเดินหน้าเปิดประเทศของไทย
- สถานการณ์การระบาดยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งยอดผู้ป่วยรายใหม่ ยอดผู้ที่เข้ารับการรักษาตัว รวมถึงยอดของผู้เสียชีวิต
- สถานการณ์ทั่วโลก การระบาดที่เกิดขึ้นก็เป็นไปในทิศทางขาขึ้นเช่นกัน การคาดหวังการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ คงไม่ง่ายเหมือนช่วงเดือน มิ.ย. มีเพียงไม่กี่ประเทศเป้าหมายการท่องเที่ยวของไทยที่สถานการณ์ยังคงควบคุมได้ดี
- อัตราการฉีดวัคซีน ยังคงห่างจากเป้าหมายที่วางไว้ แม้ว่า จะมีความพยายามจัดหาวัคซีนจากแหล่งต่าง ๆ เพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ยังคงเป็นเรื่องยาก ท่ามกลางการระบาดและความต้องการวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
ท้ายที่สุดนี้ แม้ว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้ และไม่ง่าย แต่คงจะต้องหาทางแก้ไข เดินหน้าสู้กันต่อไป เพื่อที่จะผ่านสถานการณ์ “อันยากลำบาก” ในวันนี้ไปให้ได้
…
โดย – ทีมข่าว MThai x Mono29News