AstraZeneca SinoVac กรมควบคุมโรค วัคซีนโควิด-19

บุคลากรทางการแพทย์ ติดโควิด-19 แล้ว 880 ราย ทั้งที่ฉีด/ไม่ฉีดวัคซีน

มีบุคลากรฯ 618 ที่ติดเชื้อโควิด-19 หลังจากที่ฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มแล้ว

Home / โควิด-19 / บุคลากรทางการแพทย์ ติดโควิด-19 แล้ว 880 ราย ทั้งที่ฉีด/ไม่ฉีดวัคซีน

ประเด็นสำคัญ

  • ในช่วงเดือน เม.ย. – ก.ค. ที่ผ่านมา มีบุคลากรทางการแพทย์ติดโควิด-19 จำนวน 880 ราย ไม่มีประวัติการฉีดวัคซีน 173 ราย
  • มีบุคลากรฯ 618 ที่ติดเชื้อโควิด-19 หลังจากที่ฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มแล้ว
  • ในขณะที่บุคลากรที่ได้รับ AstraZeneca เข็มแรก ติดเชื้อ 45 คน จาก 66,913 คน

กรมควบคุมโรค โดยนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้แถลงข่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของพยาบาลสาว ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 หลังจากได้รับวัคซีนโควิด-19 ของชิโนแวค ครบ 2 เข็มแล้วก็ตาม

โดย นพ.โสภณ ได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้เสียชีวิตรายนี้เป็นพยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งต้องแสดงความเสียใจกับทางญาติผู้เสียชีวิตด้วย ถือเป็นความเสียสละ ความทุ่มเทในการทำหน้าที่

ซึ่งจากกรณีดังกล่าวทำให้เกิดความสนใจของหลายฝ่าย โดยพยาบาลผู้เสียชีวิตรายนี้ ได้เข้ารับวัคซีนเข็มแรกเมื่อเดือน เม.ย.64 และเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 2 เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา และได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่องในช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ทำให้มีโอกาสที่ได้รับเชื้อในที่ทำงาน และด้วยประวัติเสี่ยงคือ มีภาวะอ้วน จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงได้

สำหรับประเด็นการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์นั้น ในเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทางอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งด้านภูมิคุ้มกันวิทยา ไวรัสวิยาท และด้านโรคติดเชื้อ ได้เห็นพ้องกันว่า การฉีดวัคซีน Sinovac 2 เข็ม นั้นเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง ระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะลดลง จึงเป็นที่มาของการเสนอให้มีการฉีดวัคซีนกระตุ้น ในเข็มที่ 3 ให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า

ส่วนจะมีการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนที่ต่างจากชนิดแรก ไม่ว่าจะเป็น ชนิด Viral Vector อย่างAstraZeneca หรือจะเป็นชนิด mRNA ที่เป็นของทาง Pfizer ที่ไทยได้รับบริจาคเข้ามานั้น ก็จะมีข้อเสนอของทางคณะกรรมการด้านวิชาการในวันจันทร์นี้อีกครั้งหนึ่ง ( 12 ก.ค.)

นอกจากนี้ ยังได้รายงานผู้ติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 880 ราย ไม่มีประวัติการฉีดวัคซีน 173 ราย (คิดเป็น 19.7%) โดยมีบุคลากรทางการแพทย์เสียชีวิต 7 ราย ซึ่งมี 5 รายที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หนึ่งรายที่เพิ่งได้รับวัคซีนในโดสแรก และอีกหนึ่งรายที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว

สำหรับการเข้ารับวัคซีนและมีการติดเชื้อนั้นพบว่า มีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีน Sinovac โดสแรกจำนวน 22,062 คน พบติดเชื้อ 68 คน หรือคิดเป็น 308 : 1 แสนราย ในจำนวนนี้ ไม่มีอาการหรืออาการน้อย 67 คน และเสียชีวิต 1 คน

ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 โดสแล้วมีจำนวน 677,348 คน พบติดเชื้อ 618 คน คิดเป็น 91 : 1 แสนราย โดยเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย 597 คน, อาการปานกลาง 19 คน มีอาการรุนแรงต้องให้ออกซิเจน 1 คน และมีผู้เสียชีวิต 1 คน ซึ่งก็คือพยาบาลที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้

ส่วนบุคลากรที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca นั้น ในขณะนี้ มีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก จำนวน 66,913 คน พบการติดเชื้อ 45 คน คิดเป็น 67 : 1 แสนราย) ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย 43 คน อาการปานกลาง 1 คน อาการรุนแรงต้องให้ออกซิเจน 1 คน และใส่ท่อช่วยหายใจอีก 1 คน ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

สำหรับข้อมูลอื่น ๆ นั้นยังคงอยู่ในระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติมกับทางโรงพยาบาลต้นสังกัด ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์นั้นเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับวัคซีนตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จึงได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว และจากที่มีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ในช่วงที่ผ่านมา กลายเป็นเชื้อในสายพันธุ์เดลตา เป็นหลัก ทำให้การป้องกันของวัคซีน Sinovac อาจไม่ได้ผลดีเท่ากับเชื้อสายพันธุ์เดิม ดังนั้นคณะกรรมการจึงได้มีความเห็นในการให้มีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์