ข่าวต่างประเทศ ประเทศออสเตรเลีย วัคซีนโควิด-19

‘ออสเตรเลีย’ เตรียมทดลองวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ของตนเอง

ตั้งเป้า เป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ เทียบชั้น Pfizer, Moderna

Home / โควิด-19 / ‘ออสเตรเลีย’ เตรียมทดลองวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ของตนเอง

ประเด็นสำคัญ

  • วัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ที่ออสเตรเลียค้นคว้า – วิจัยเอง เตรียมเข้าสู่การทดลองทางคลินิกในระยะที่ 1
  • โดยคาดว่าจะเริ่มการทดลองในกลุ่มอาสาสมัคร 150 ราย ในเดือน ต.ค. 64 นี้
  • รัฐวิกตอเรียได้สนับสนุนเงินค้นคว้าวิจัย ราว 118.95 ล้านบาท ให้กับสถาบันสถาบันเภสัชศาสตร์โมนาช
  • ตั้งเป้า เป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ เทียบชั้น Pfizer, Moderna

คณะนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย คาดการณ์ว่าจะดำเนินการทดลองทางคลินิกของวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ภายใต้โครงการที่มุ่งสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศจะสามารถผลิตวัคซีนอย่างเช่นวัคซีนของไฟเซอร์ (Pfizer) และของโมเดอร์นา (Moderna) ในแบบฉบับของตนเองได้

เจมส์ เมอร์ลิโน รักษาการมุขมนตรีรัฐวิกตอเรียประกาศในสัปดาห์นี้ว่า รัฐบาลรัฐวิกตอเรียได้จัดสรรงบประมาณจำนวน  5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 118.95 ล้านบาท) เพื่อช่วยสถาบันสถาบันเภสัชศาสตร์โมนาช (Monash Institute of Pharmaceutical Sciences) ในนครเมลเบิร์น ในการผลิตวัคซีนสำหรับทดลองทางคลินิก

เมอร์ลิโนกล่าวว่า โครงการข้างต้นเป็นขั้นตอนที่สำคัญและน่าตื่นเต้นอย่างยิ่งที่ประเทศกำลังกำเนินการ เนื่องจากจนถึงปัจจุบันออสเตรเลียสามารถผลิตได้แค่เพียงวัคซีนของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ซึ่งใช้ฉีดให้กับผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเชื่อว่าความกังวลของสาธารณชนเกี่ยวกับวัคซีนของแอสตราเซเนกา สืบ เนื่องจากความเชื่อมโยงกับกรณีลิ่มเลือดอุดตัน เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การฉีดวัคซีนของประเทศดำเนินไปค่อนข้างช้า

วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอใช้รหัสพันธุกรรม (RNA) ในการกระตุ้นการผลิตโปรตีนหนามจำเพาะ ของเชื้อไวรัสฯ โดยเมื่อผู้ป่วยได้รับวัคซีน เซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะสร้างการตอบสนองต่อโรค

โคลิน เพาตัน (Colin Pouton) จากมหาวิทยาลัยโมนาช ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยดังกล่าว ระบุว่าข้อได้เปรียบของเทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ คือสามารถออกแบบและปรับแต่งได้ง่ายกว่าวัคซีนชนิดใช้ส่วนประกอบของโปรตีน

เพาตัน กล่าวว่าหากมีการเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ก็มีความเป็นไปได้ที่ออสเตรเลียจะเริ่มผลิตวัคซีนเหล่านั้นโดยซีเอสแอล (CSL) ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพในเมืองเมลเบิร์น

ทั้งนี้ วิกตอเรียไม่ได้เป็นเพียงรัฐเดียวที่พยายามผลิตวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ ด้านรัฐนิวเซาธ์เวลส์ (NSW) ก็กระตือรือร้นที่จะเริ่มการผลิตเช่นกัน โดยกลาดีส์ เบเรจิกเลียน มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า นิวเซาธ์เวลส์เป็นสถานที่ที่เหมาะสมในการจัดฝึกอบรมบุคลากรด้านการผลิตขั้นสูง บ่มเพาะความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนเหมาะเป็นสถานที่ตั้งศูนย์กลางการผลิตวัคซีนแบบอาร์เอ็นเอในอนาคต

รัฐบาลกลางสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวด้วยการประกาศว่าจะจัดหางบประมาณสำหรับการจัดตั้งการผลิตเอ็มอาร์เอ็นเอในงบประมาณเดือนพฤษภาคม ทว่าไม่ได้เปิดเผยจำนวนเงินว่ามากน้อยเพียงใด เนื่องจากต้องรักษาความลับทางธุรกิจ

ขณะเดียวกันคณะนักวิจัยในเมลเบิร์นคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าร่วมในการทดลองวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ ระยะที่ 1 ประมาณ 150 คน โดยคาดว่าจะเริ่มทดลองในช่วงเดือนตุลาคม และจะเผยแพร่ผลวิจัยสู่สาธารณะในช่วงครึ่งแรกของปี 2022

ที่มา – ซินหัว