ประเด็นน่าสนใจ
- วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ Johnson&Johnson หลายล้านโดสกำลังจะหมดอายุในเดือนนี้
- เนื่องจากจำนวนประชาชนที่เข้ารับวัคซีนน้อยลง รวมถึงความไม่มั่นใจในการรับวัคซีนของ Johnson&Johnson จากปัญหาลิ่มเลือด
- รวมถึงการสั่งระงับการใช้งานในช่วงก่อนหน้านี้
โรงพยาบาลและสำนักสาธารณสุขทั่วสหรัฐฯ ต่างเร่งตัดสินใจว่าจะใช้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson&Johnson) หลายล้านโดสที่กำลังจะหมดอายุในเดือนนี้อย่างไร ขณะประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากเผชิญปัญหาขาดแคลนวัคซีน
รายงานจากเดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล (WSJ) และเดอะนิวยอร์กไทมส์ (New York Times) ระบุว่าวัคซีนของจอห์นสันฯ หลายล้านโดสกำลังจะหมดอายุในเดือนมิถุนายนนี้ และอีกหลายพันโดสอาจต้องเสียเปล่า เนื่องจากชาวอเมริกันเริ่มเข้ารับวัคซีนน้อยลง
เมื่อวันจันทร์ (7 มิ.ย.) ไมก์ เดอไวน์ ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอ เผยว่าวัคซีนของจอห์นสันฯ ในโอไฮโอราว 200,000 โดส กำลังจะหมดอายุในวันที่ 23 มิ.ย. โดยไม่มีโอกาสจัดส่งวัคซีนเหล่านี้ไปยังรัฐอื่นหรือประเทศอื่นเนื่องจากติดข้อผูกพันทางกฎหมาย ด้านสำนักสาธารณสุขท้องถิ่นเร่งประสานงานกับผู้ให้บริการวัคซีนเพื่อหากลวิธีใช้วัคซีนก่อนหมดอายุ
หลายรัฐท้องถิ่นของสหรัฐฯ พิจารณาการจัดส่งวัคซีนเหลือใช้ไปยังรัฐอื่นหรือต่างประเทศ แต่เผชิญอุปสรรคทางกฎหมายและโลจิสติกส์เช่นเดียวกับรัฐโอไฮโอ
เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลชี้ว่าวัคซีนที่เหลือส่วนหนึ่งเป็นผลจากการตัดสินใจของสหรัฐฯ เมื่อเดือนเมษายน ที่ระงับใช้วัคซีนของจอห์นสันฯ ชั่วคราว เพื่อประเมินความเสี่ยงภาวะลิ่มเลือดหายาก โดยการระงับดังกล่าวทำให้รัฐและผู้ให้บริการต้องยกเลิกนัดหมายฉีดวัคซีนจนเกิดอุปทานส่วนเกิน กอปรกับความลังเลจะเข้ารับวัคซีนของจอนห์นสันฯ เพิ่มขึ้นในบางพื้นที่
ข้อมูลล่าสุดจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) พบว่ารัฐต่างๆ ได้ฉีดวัคซีนของจอห์นสันฯ ให้ประชาชนเพียงร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับวัคซีนของไฟเซอร์ (Pfizer) ซึ่งอยู่ที่ราวร้อยละ 84 และวัคซีนของโมเดอร์นา (Moderna) ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 83
วัคซีนของจอห์นสันฯ เป็นวัคซีนแบบฉีดโดสเดียวที่ผ่านการอนุมัติให้ใช้งานกรณีฉุกเฉินในสหรัฐฯ โดยสามารถกักเก็บในตู้เย็นปกตินานถึง 3 เดือน จึงง่ายต่อการขนส่ง จัดเก็บ และฉีดเมื่อเทียบกับวัคซีนตัวอื่นๆ
ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าวัคซีนของจอห์นสันฯ จำนวนมากกำลังจะถูกทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ในสหรัฐฯ ขณะประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ กำลังต้องการวัคซีนอย่างมาก
อัตราการฉีดวัคซีนในระดับสูงกำลังช่วยให้กลุ่มประเทศร่ำรวยสามารถฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่อย่างค่อยเป็นค่อยไป สวนทางกับอัตราการฉีดวัคซีนของกลุ่มประเทศยากจนหลายแห่งที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ไร้เสถียรภาพและเพิ่มความเสี่ยงแพร่เชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ใหม่ เป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น
ประชาคมระหว่างประเทศจึงออกมาเรียกร้องคณะบริหารภายใต้การนำของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แบ่งปันวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีอยู่ในคลังไปยังประเทศอื่นๆ