พิธีพระราชทานปริญญาบัตร รับปริญญา เกร็ดความรู็

25 ตุลาคม พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก ในไทย

วันนี้ในอดีต 25 ตุลาคม 2473 พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก ในประเทศไทย

Home / CAMPUS / 25 ตุลาคม พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก ในไทย

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับ การรับปริญญา พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก ในประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อไหร่ และที่มหาวิทยาลัยไหน?

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก

–  เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 โดย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตร แก่เวชบัณฑิต (แพทยศาสตรบัณฑิต) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ตึกบัญชาการ (อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ในปัจจุบัน) ซึ่งถือว่าเป็น พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก

–  ในครั้งนั้น ทางมหาวิทยาลัยกราบทูลเชิญ พระบรมวงศานุวงศ์ เรียนเชิญเสนาบดี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนส่งหนังสือเชิญ ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ รวม 11 แห่ง อาทิ กรมยุทธศึกษาทหารบก กรมยุทธศึกษาทหารเรือ สภากาชาดสยาม วชิรพยาบาล มหามงกุฎราชวิทยาลัย ราชบัณฑิตยสภา และโรงเรียนกฎหมาย เป็นต้น มาร่วมพิธีด้วย

–  ในพิธีดังกล่าว มหาอำมาตย์เอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยบัณฑิตพิเศษแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานครุยกิตติมศักดิ์ บัณฑิตชั้นโท, บัณฑิตชั้นเอก รวมถึงแก่เวชบัณฑิตจำนวน 34 คน เสร็จแล้ว พระราชทานพระบรมราโชวาท และเสด็จพระราชดำเนินกลับ

  • บัณฑิตชั้นโท (หรือมหาบัณฑิตในปัจจุบัน) ทางวิทยาศาสตร์แก่พระยาภะรตราชา ผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น
  • บัณฑิตชั้นเอก (หรือดุษฎีบัณฑิตในปัจจุบัน) แก่ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เอ.จี.เอลลิส คณบดีคณะแพทยศาสตร์ในขณะนั้น
  • แล้วพระราชทานปริญญาบัตร แก่เวชบัณฑิตจำนวน 34 คน ในจำนวนนั้น 18 คนมาจากปีการศึกษา 2471 และ 16 คนจากปีการศึกษา 2472

–  ต่อมา สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอให้กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) กราบบังคมทูล ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตว่า “มหาวิทยาลัยขอพระบรมราชานุญาต สงวนธรรมเนียมนี้ไว้คือ ถือว่าการพระราชทานปริญญาบัตร เป็นการหน้าพระที่นั่ง หากเสด็จไม่ได้ ก็จะเป็นการถวายปริญญา ต่อพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ และรับพระราชทานปริญญาบัตร จากผู้แทนพระองค์” เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบแล้ว ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามนั้น ธรรมเนียมนี้จึงสืบต่อมาจนปัจจุบัน

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ในสมัย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

–  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็น การพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์ และเมื่อวันที่ 23 เมษายน เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล) เป็นครั้งสุดท้ายในรัชสมัย

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ในสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

–  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เริ่มพระราชทานปริญญาบัตร แก่สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ของรัฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา

— หนังสือพิมพ์เคยคำนวณว่า หากเสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานปริญญาบัตร 490 ครั้ง ประทับนั่งครั้งละประมาณ 3 ชั่วโมง เท่ากับทรงยื่นพระหัตถ์ พระราชทานใบปริญญาบัตร 470,000 ครั้ง!

–  ดังนั้นจึงมีผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน ให้ทรงลดการพระราชทานลง โดยเสนอให้พระราชทานปริญญาบัตร เฉพาะระดับมหาบัณฑิตขึ้นไปเท่านั้น แต่มีพระราชกระแสตอบว่า ทรง “เสียเวลายื่นปริญญาบัตร ให้บัณฑิตคนละ 6-7 วินาทีนั้น แต่ผู้ได้รับนั้น มีความสุขเป็นปี ๆ เปรียบกันไม่ได้เลย”

–  นอกจากนี้ทรงเห็นว่า การพระราชทานปริญญาบัตร สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต มีความสำคัญ เนื่องจากบางคนอาจไม่มีโอกาสศึกษาต่อ ในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต ดังนั้นจึงมีรับสั่งว่า “จะพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตปริญญาตรีไป จนกว่าจะไม่มีแรง” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร ด้วยพระองค์เอง เป็นระยะเวลามากกว่า 50 ปี

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2544 จึงต้องยุติพระราชกิจในการนี้ลง ด้วยพระชนมายุมากขึ้น ประกอบกับทรงพระประชวร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศ์เสด็จแทนพระองค์

ขอบคุณข้อมูล th.wikipedia.org