“ห้องสมุด” ห้องแห่งความรู้ที่รวบรวมหนังสือไว้มากมาย ไว้ให้เป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ ซึ่ง “ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย” นั้นนักโบราณคดีที่ขุดพบเชื่อว่าที่นี่แหละคือ แหล่งวิทยาการแห่งแรกของโลก
ความเป็นมาของ ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย
นักโบราณคดี ได้ขุดพบซากโบราณสถานที่เชื่อว่าเป็นซากของ หอสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย หรือ ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย (Library of Alexandria) ซึ่งเป็นแหล่งความรู้ และวิทยาการของโลกแห่งแรกของโลก และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่สำคัญมากแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้จัดทำรายการหนังสือ ซึ่งนับว่าเป็นการจัดทำบรรณานุกรมครั้งแรก เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีก่อนอีกด้วย
ทีมนักโบราณคดีของโปแลนด์และอียิปต์ ทำการขุดค้นบางส่วนของ เมืองอเล็กซานเดียร์ ซึ่งตั้งอยู่ริมชายฝั่ง ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และได้พบสิ่งก่อสร้างซึ่งมีลักษณะคล้าย ห้องเรียน และหอประชุม ราว 2,000 ปีที่แล้ว ห้องสมุด แห่งนี้เคยเป็นศูนย์รวมของ นักคิด นักเขียนแห่งโลกโบราณ เป็นที่สะสมผลงานสำคัญๆของนักปราชญ์กรีก ทั้งของ พลาโต โซเครติส และของอีกหลายๆ คน แต่น่าเสียดายที่ผลงานเหล่านั้นถูกเผาทำลายไปพร้อมกับตัวห้องสมุด ด้วย
จากการขุดค้นนักโบราณคดีค้นพบห้องเรียนขนาดใหญ่ถึง 13 ห้อง ซึ่งสามารถจุนักเรียนได้ถึง 5,000 คน แต่ละห้องมีเวทีสำหรับอาจารย์ หรือครูที่จะใช้สำหรับยืนสอนนักเรียน นับเป็นครั้งแรกที่มีการขุดพบห้องเรียนยุคกรีก-โรมัน ลักษณะนี้ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งนาย Zahi Hawass ประธานสภาวัตถุโบราณของอียิปต์ กล่าวว่าซากที่พบนั้น “อาจจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกก็ว่าได้”
เมืองอเล็กซานเดรีย ที่ตั้งของ ห้องสมุดอเล็กซานเดรีย อยู่ทางเหนือสุดของอียิปต์ เป็นเมืองเก่าที่ติดอยู่กับทะเลเมดิเตอเรเนียนเคย ปกครองโดยชาวเมืองอียิปต์ดั้งเดิมแล้วก็ตกเป็นของกรีก โรมันจนมาถึงการเข้ามาของศาสนาอิสลามจาก อาณาจักรออโตมัน เมืองนี้เลยมีศิลปะของทางกรีก โรมัน ตุรกี ปนๆ กันอยู่
ห้องสมุดอเล็กซานเดรีย (Library of Alexandria) ในสมัยก่อน
– เมื่อราว 300 ปีก่อนคริสตกาล พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ได้ชัยชนะเหนือกรีก เอเชียไมเนอร์ และอียิปต์ และเมื่อยึดครองอียิปต์ได้ ก็สร้างเมืองหลวงที่ทรงตั้งพระทัยให้เป็นเมืองที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก คือเมืองอเล็กซานเดรีย และตั้งราชวงศ์ปโตเลมี (Ptolemy) ขึ้นปกครองอียิปต์ต่อมาจนสิ้นสุดที่พระนางคลีโอพัตรา
** เคลาดิออส ปโตเลเมออส รู้จักในชื่อภาษาอังกฤษว่า ทอเลมี หรือที่คนไทยเรียกกันว่า ปโตเลมี เป็นนักภูมิศาสตร์ นักดาราศาสตร์ และนักโหราศาสตร์ชาวกรีกโบราณ **
– เมื่อ ราชวงศ์ปโตเลมี (Ptolemy) ขึ้นครองบัลลังก์อียิปต์ อเล็กซานเดรียก็ได้เป็นเมืองมหาวิทยาลัยแห่งแรกในโลก นักคณิตศาสตร์และนักปราชญ์หลั่งไหล มาสู่เมืองนี้จากชื่อเสียงของห้องสมุดอเล็กซานเดรีย ในสมัยนั้น การมีหนังสือ วรรณกรรมและสิ่งขีดเขียนอย่างสมบูรณ์ได้ทำให้ ห้องสมุดอเล็กซานเดรีย เป็นห้องสมุดที่ดีที่สุดในโลกในยุคนั้นและเป็นศูนย์วิทยาการ ที่นักปราชญ์ทุกคนจะต้องไปเยือน
– ห้องสมุดนี้ตั้งขึ้นจากแนวคิดของ Demetrius Phalaerus ที่ โน้มน้าวให้ปโตเลมีรวบรวมหนังสือดีๆ โดยบอกว่าคนเก่งกาจจะตามมาเอง จึงได้มีการรวบรวมหนังสือจากทั่วอียิปต์ กรีก เอเชียไมเนอร์ และยุโรป ความพยายามในการหาหนังสือนั้นเข้มข้น ชนิดที่ว่านักท่องเที่ยวที่เข้าอเล็กซานเดรียทุกคนจะถูกริบหนังสือ โดยหนังสือนั้นจะถูกนำไปคัดลอก (โดยการเขียนด้วยมือ) แต่ห้องสมุดจะขอเก็บต้นฉบับไว ้และคืนฉบับคัดลอกให้เจ้าของ ห้องสมุดได้รวบรวมหนังสือถึงหกแสนเล่มในเวลาต่อมา และเป็นที่รู้กันว่านักคณิตศาสตร์สามารถหาความรู้ ทุกอย่าง ในโลกได้โดยการมาที่ห้องสมุดนี้
– ในสมัยนั้นเป็นห้องสมุดที่อนุญาตให้เฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน เจ้านาย ขุนนาง และชนชั้นที่ร่ำรวยเท่านั้นที่จะสามารถเข้าไปใช้บริการในห้องสมุดได้
ประวัติศาสตร์ได้จารึกว่า Euclid ได้เคยสอนวิชาเรขาคณิตที่ห้องสมุดนี้, Erotosthenes ผู้พิสูจน์ว่าโลกกลมเป็นคนแรกก็เคยทำงานเป็นบรรณารักษ์ประจำห้องสมุดนี้, อคีมีดีส (Archimedes) ประดิษฐ์รหัสวิดน้ำแบบสกูลซึ่งยังคงใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นที่ๆ ยูคลิด (Euclid) ค้นพบทฤษฎีเรขาคณิตอีกด้วย
– ในสมัยนั้น ศูนย์กลางการศึกษาคณิตศาสตร์เคยอยู่กับพิธากอรัส แต่สองศตวรรษหลังจากพิธากอรัสเสียชีวิตลง ศูนย์การเรียนเลขได้ย้ายไปอยู่ที่อเล็กซานเดรีย
– และเมื่อ จูเลียด ซีซาร์ จักรพรรดิ์โรมัน (Julius Caesar) โจมตีและเข้ายึดเมืองของพระนางคลีโอพัตรา เมื่อ 48 ปีก่อนคริสตกาล จูเลียด ซีซาร์ ได้เผาบางส่วนของห้องสมุด
– พระนางคลีโอพัตรา ทรงเป็นผู้รักหนังสืออย่างยิ่ง จึงทรงตั้งพระทัยจะบูรณะห้องสมุดแห่งนี้ให้กลับมาเหมือนเดิม ภายในวิหารเซอราเปียม (Serapeum) โดยได้รับความช่วยเหลือจากนายพลมาร์ค แอนโธนี่ (ไม่ได้แสดงความรักด้วยการมอบดอกไม้หรือแหวนเพชร) แต่จัดหาหนังสือมาเป็นของขวัญให้แก่พระนางคลีโอพัตรากว่า 200,000 ม้วนมาไว้ในห้องสมุด ซึ่งไปปล้นยึดมาจากห้องสมุดที่ใหญ่เป็นอันดับสองในขณะนั้น คือหอสมุดแห่งเพอร์กามอน (Pergamon)
– แต่ในที่สุด ห้องสมุดอเล็กซานเดรีย (Library of Alexandria) แห่งนี้ก็ถูกทำลายไปอย่างย่อยยับ ในสมัยธีออโดเชียส กษัตริย์แห่งโรมันซึ่งสั่งให้ทำลายเอกสาร วัดวาอารามต่างซึ่งไม่ใช่ของศาสนาคริสต์ และถือว่าเป็นพวกนอกรีตในปี 391
ห้องสมุดอเล็กซานเดรีย ในปัจจุบัน
– นักประวัติศาสตร์ที่ชื่อ Mustafa al-Abbadi เป็นบุคคลแรกที่คิดฟื้นคืนชีพห้องสมุด Alexandria ขึ้นมาอีก ภายใต้อุปสรรคมากมาย แต่เมื่อรัฐบาลอียิปต์, รัฐบาลอิรัก, รัฐบาลฝรั่งเศส ร่วมให้เงินทุนในการสร้าง และองค์การ Unesco ก็เห็นด้วยในการให้ผู้เชี่ยวชาญ การจัดสร้างห้องสมุดอเล็กซานเดรียให้ยิ่งใหญ่เหมือนในสมัยก่อน ก็เริ่มเป็นจริง
– ห้องสมุดอเล็กซานเดรีย ได้สร้างขึ้นมาใหม่ใกล้กับพื้นที่เดิมที่เคยสร้างห้องสมุดมาแล้วครั้งหนึ่ง ในสมัยปโตเลมีที่ 1 และ 2 เป็นเวลากว่าสองพันปีมาแล้ว ซึ่งใช้เวลาการสร้างใหม่นานกว่า 12 ปี และเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2002 มีสถาปัตยกรรมทันสมัย และมีระบบป้องกันอัคคีภัยเป็นอย่างดี โดยรัฐบาลอียิปต์คิดหวังจะให้ห้องสมุดนี้เป็นศูนย์กลางการเรียน การวิจัยอารยธรรมของอียิปต์ กรีซ และประเทศต่างๆ ในเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก
– รวบรวมหนังสือทุกภาษาทั่วโลก มีหนังสือมากกว่า 8 ล้านเล่ม วารสาร 4,000 ฉบับ และหนังสือหายาก 50,000 เล่ม ต้นฉบับตัวเขียน แผนที่และโสตทัศนวัสดุ 50,000 รายการ พื้นที่ห้องอ่านหนังสือ 70,000 ตารางเมตร อาคารที่เป็นท้องฟ้าจำลอง อนุรักษ์อารยธรรมโบราณ มีจอภาพ 9 จอ พร้อมเครื่องฉาย 9 เครื่อง ในแต่ละภาพสามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดได้ เป็นการนำเสนอภาพประวัติศาสตร์ของอียิปต์ 5,000 ปีที่ผ่านมา
เรียบเรียง teen.mthai.com
อ้างอิง : สำรวจโลก,thailibrary.in.th,libtsu.wordpress.com,http://lunarroom.com/