สำหรับใครที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ก็จะได้เห็นอักษรย่อกันอยู่บ่อย ๆ เพื่อให้อัปเดตข่าวสารได้อย่างเข้าใจ มาอ่านความหมายของ อักษรย่อการเมือง กันไว้ก่อน
เปิดความหมาย อักษรย่อการเมืองไทย
สสร.
หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นชื่อเรียกคณะบุคคลที่มีหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับและได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญ
คสช.
(ตัวย่อล่าสุด หลังรัฐประหาร เมื่อช่วงเย็นวันที่ 22 พ.ค.2557) ย่อมาจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (National Council for Peace and Order (NCPO) โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำผบ.เหล่าทัพ ซึ่งประกอบด้วย กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศเข้าควบคุมอำนาจบริหารประเทศแล้ว ระบุมีความจำเป็นเข้ามาควบคุม เพื่อให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ให้ประชาชนอยู่ในความสงบ ห้ามหน่วยราชการเคลื่อนย้ายอาวุธ และขอข้าราชการทำหน้าที่ต่อไป ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง
ก.ต.ช.
ย่อมาจาก คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ ตลอดจนป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงของราชอาณาจักร
โดยมีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั่วราชอาณาจักร มีหน่วยงานกระจายอยู่ทุกจังหวัด ทั้งส่วนที่เป็นหน่วยปฏิบัติการพื้นที่ ได้แก่ ตำรวจนครบาล และตำรวจภูธร ซึ่งมีสถานีตำรวจบริการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
นปช.
ย่อมาจาก แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เดิมชื่อ นปก. หรือแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2550 เพื่อสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ต่อต้านการรัฐประหาร 2549 และขับไล่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) มีสีหลักคือสีแดง และหลังจากการลงประชามติ มีประชาชนจำนวนกว่า 10 ล้านเสียงที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร ทำให้ นปก. มีแนวคิดว่าจะเริ่มรวมพลังประชาชนที่ต่อต้านเผด็จการ โดยยกระดับองค์กรเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.
กปปส.
ย่อมาจาก คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จุดเริ่มต้นก่อนที่จะมาเป็น กปปส. เริ่มต้นมาจากการชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่สถานีรถไฟสามเสน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ก่อนที่จะย้ายสถานที่การชุมนุมมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน จากนั้นก็ได้ยกระดับการชุมนุมจากการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นการขับไล่รัฐบาลแทน ชูธงการปฏิรูปประเทศให้ปลอดจากการทุจริต และในวันที่ 1 ธันวาคม 2556 นายสุเทพได้ประกาศตั้งกลุ่ม กปปส. อย่างเป็นทางการ ซึ่งนายสุเทพ จะรั้งตำแหน่งเป็นเลขาธิการ กปปส. ชูธงการปฏิรูปประเทศ ตั้งสภาประชาชนที่ปลอดนักการเมือง ทำการแก้กฎหมายต่างๆ เพื่อลดการผูกขาดอำนาจ เป็นต้น
บก.ทท.
ย่อมาจาก กองบัญชาการกองทัพไทย (Royal Thai Armed Forces Headquarters) เป็นส่วนราชการขึ้นตรงต่อ กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ซึ่งแปรสภาพมาจากกองบัญชาการทหารสูงสุด มีหน้าที่ควบคุม อำนวยการ สั่งการและกำกับดูแลการดำเนินงานของส่วนราชการในกองทัพไทยในการเตรียมกำลัง การป้องกันราชอาณาจักร และการดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังทหารตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนปัจจุบันคือ พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร
กอ.รส.
ย่อมาจาก กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย จัดตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หลังจากประกาศกฎอัยการศึก เมื่อเช้ามืดวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ทำหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
โดยก่อนหน้าที่จะเป็น กอ.รส. เคยมีชื่อว่า ศอ.รส. ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ภายใต้การกำกับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แต่ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งยุบและจัดตั้ง กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ขึ้นมาแทน
ผบ.ทบ.
ย่อมาจาก ผู้บัญชาการทหารบก ผู้ดำรงตำแหน่งคนปัจจุบัน คือ อภิรัชต์ คงสมพงษ์
ผบ.ทร.
ย่อมาจาก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้ดำรงตำแหน่งคนปัจจุบัน คือ พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์
ผบ.ทอ.
ย่อมาจาก ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้ดำรงตำแหน่งคนปัจจุบัน คือ พลอากาศเอก มานัต วงษ์วาทย์
ผบ.ตร.
ย่อมาจาก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ดำรงตำแหน่งคนปัจจุบัน คือ พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา หรือบิ๊กแป๊ะ
สมช.
ย่อมาจาก สภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นสำนักเลขานุการของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีภารกิจเกี่ยวกับกิจการความมั่นคงของชาติ เป็นที่ปรึกษา เสนอแนะนโยบาย มาตรการ และแนวทางปฏิบัติด้านความมั่นคง รวมทั้งอำนวยการ ประสานงานให้เป็นไปตามนโยบาย ตลอดจนจัดทำแผนเตรียมความพร้อมแห่งชาติต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงในอนาคต
คมช.
ย่อมาจาก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (Council of National Security – CNS) เป็นคณะบุคคลที่แปรสภาพมาจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งได้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศไทยสำเร็จเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 คณะมนตรีฯ บัญญัติขึ้นตามมาตรา 34 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงแห่งชาติ
กสทช.
ย่อมาจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (National Broadcasting and Telecommunication Commission) หรือ กสทช. (NBTC) เป็นหน่วยงานอิสระของรัฐ มีบทบาทหน้าที่ในการบริหารความถี่วิทยุเพื่อกิจการโทรคมนาคม และกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม
รัฐประหาร
หมายถึง การล้มล้างรัฐบาลผู้บริหารปกครองรัฐในขณะนั้น แต่มิใช่การล้มล้างระบอบการปกครองหรือทั้งรัฐ และไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง หรือเกิดเหตุนองเลือด