คำไทยแท้ ภาษาไทย

คำไทยแท้มีลักษณะอย่างไร วิธีสังเกตคำไทยแท้

"คำไทยแท้" เป็นคำดั้งเดิมที่มีใช้อยู่ในภาษาไทย หลายคนอาจจะสับสนกับคำภาษาไทยที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศ และใช้ปะปนจนแยกไม่ออก เช่น สันสกฤต

Home / CAMPUS / คำไทยแท้มีลักษณะอย่างไร วิธีสังเกตคำไทยแท้

เรื่องน่ารู้หลักภาษาไทย “คำไทยแท้” เป็นคำดั้งเดิมที่มีใช้อยู่ในภาษาไทย น้องๆ หลายคนอาจจะสับสนกับคำภาษาไทยที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศ และใช้ปะปนจนแยกไม่ออก เช่น สันสกฤต คำว่า บริษัท โฆษณา ประกาศ ภรรยา แพทย์ หรือ จีน คำว่าก๋วยเตี๋ยว ซาลาเปา เต้าฮวย บะหมี่ ลิ้นจี่ เป็นต้น ดังนั้นวันนี้เรามาติดตามกันว่า คำไทยแท้มีหลักในการสังเกตที่ทำให้เราสามารถแยกแยะวิเคราะห์ได้ว่าคำนี้เป็นไทยแท้ได้อย่างไรมาติดตามกันเลย

คำไทยแท้มีลักษณะอย่างไร วิธีสังเกตคำไทยแท้

ลักษณะของ คำไทยแท้

1.คำไทยแท้ส่วนมากเป็นคำพยางค์เดียว เรียกว่าเป็น ภาษาคำโดด และความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ปู่ ย่า แขน ขา หมา แมว ฟ้า ฝน นั้ง นอน ฯลฯ

ข้อสังเกต : คำไทยแท้ เมื่ออ่านแล้วจะเข้าใจความหมายได้ทันที ไม่ต้องแปลอีกรอบนึง

แล้วถ้ามีหลายพยางค์ละ จะสังเกตอย่างไรว่าเป็นคำไทยแท้ ลองมาดูกัน

1.1. การกร่อนเสียง คือ คำ 2 คำ เมื่อพูดเร็ว ๆ ทำให้ออกเสียงคำแรกสั้นลงกลายเป็นคำ 2 พยางค์ เช่น

ตาวัน        เป็น     ตะวัน

หมากม่วง   เป็น     มะม่วง

สายดือ      เป็น     สะดือ

ตาปู           เป็น     ตะปู

1.2. การแทรกเสียง คือ การเติมพยางค์ลงไปตรงกลางระหว่างคำ 2 คำ  เช่น

นกจอก      เป็น    นกกระจอก

ลูกเดือก     เป็น    ลูกกระเดือก

1.3. การเติมพยางค์หน้า คือ การเติมพยางค์ที่หน้าคำมูลโดยให้มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น

ทำ     เป็น     กระทำ

โจน    เป็น    กระโจน

เดี๋ยว  เป็น     ประเดี๋ยว

2.คำไทยแท้มักจะสะกดตรงตามมาตราตัวสะกด

แม่กก      สะกดด้วยตัว  ก   เช่น  กัก เด็ก ลูก จอก

แม่กง      สะกดด้วยตัว  ง   เช่น   เก่ง นั่ง พิง ถัง

แม่กด     สะกดด้วยตัว  ด   เช่น   กด ปิด อวด ปูด

แม่กน     สะกดด้วยตัว  น   เช่น   กิน นอน ฉุน เห็น

แม่กบ     สะกดด้วยตัว  บ   เช่น   กับ แคบ จบ ซูบ

แม่กม     สะกดด้วยตัว  ม   เช่น   ชาม หอม ดื่ม ตุ่ม

แม่เกอว   สะกดด้วยตัว  ว   เช่น   แมว หิว ข้าว หนาว

แม่เกย    สะกดด้วยตัว  ย   เช่น   คอย ขาย ปุ๋ย ตาย

สิ่งที่ควรระวัง!!! มีคำไทยแท้บางคำ สะกดไม่ตรงมาตรา และมีใช้ในคำประพันธ์ คือ

ดูกร   มาจาก   ดูก่อน

อรชร  มาจาก อ่อนช้อย

3.คำไทยแท้จะไม่ใช้พยัญชนะ ฆ ฌ ญ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ธ ภ ศ ษ ฬ

ยกเว้นบางคำต่อไปนี้ที่เป็นคำไทย ได้แก่ ฆ่า  เฆี่ยน  ระฆัง  ฆ้อง  ตะเฆ่  ใหญ่  หญ้า  เฒ่า  ณ  ธ  ธง  เธอ  สำเภา  ภาย  เศร้า  ศึก  ศอก  ศอ  ศก

4.คำไทยจะใช้ “ใ” (ไม้ม้วน) มี 20 คำ คือ มีบทท่องจำง่าย ๆ ดังนี้

ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่       ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ

ใฝ่ใจเอาใส่ห่อ              มิหลงใหลใครขอดู

จะใคร่ลงเรือใบ          ดูน้ำใสและปลาปู

สิ่งใดอยู่ในตู้                  มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง

บ้าใบ้ถือใยบัว            หูตามัวมาใกล้เคียง

เล่าท่องอย่าละเลี่ยง         ยี่สิบม้วนจำจงดี

5.คำไทยจะมีรูปวรรณยุกต์กำกับ ทำให้ออกเสียงต่างกัน และทำให้มีความหมายต่างกัน เช่น

ปา     หมายถึง   ซัดไปด้วยอาการยกแขนขึ้นสูงแล้วเอี้ยวตัว

ป่า     หมายถึง   ที่ที่มีต้นไม้ต่าง ๆ ขึ้นมา

ป้า     หมายถึง   พี่สาวของพ่อหรือแม่ คำเรียกหญิงที่ไม่รู้จักแต่มักมีอายุแก่กว่าพ่อหรือแม่

สิ่งที่ควรระวัง!!! คำบางคำที่มีตัวสะกดตามมาตรา แต่ไม่ใช่คำแท้ ได้แก่ โลก กาย ซน วัย ชัย เดิน โปรด เป็นต้น

6.คำไทยแท้ไม่นิยมใช้ตัวการันต์ เช่น ยัน สัด สัน เป็นต้น

7. คำไทยแท้ไม่นิยมใช้คำควบกล้ำ เช่น เรา ไร่ ดี ดาบ หิน เป็นต้น

เรียนรู้หลักภาษาไทยแล้ว ลองมาฝึกทำข้อสอบ วิชาภาษาไทย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กัน >>> วิชาภาษาไทย