เรื่องน่ารู้วิชาภาษาไทย สำหรับน้องๆ ระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เกี่ยวกับหลักภาษาไทยที่เราควรรู้และใช้ให้ถูกต้อง อักษรควบกล้ำ คืออะไร? และอักษรควบกล้ำแท้หรือไม่แท้นั้นมีวิธีสังเกตอย่างไร พร้อมเทคนิคการจำไว้สำหรับทำการบ้านหรือข้อสอบ
อักษรควบกล้ำ คือ?
อักษรควบกล้ำ คือ พยัญชนะต้น ๒ ตัวประสมสระเดียวกัน เวลาอ่านออกเสียงกล้ำเป็นพยางค์เดียวกัน เสียงวรรณยุกต์ของพยางค์นั้นจะผันเป็นไปตามเสียงพยัญชนะตัวหน้า
อักษรควบกล้ำแท้-ไม่แท้ สังเกตอย่างไร?
โดยอักษรควบกล้ำ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. อักษรควบกล้ำแท้
เป็นอักษรควบที่เกิดจากพยัญชนะ 2 ตัวที่มี ร ล ว ประสมอยู่ด้วย ประสมแล้วอ่านออกเสียงพร้อมกันสองตัว เช่น เปลี่ยน แปลง ครบ ครัน ปรับปรุง ขรุขระ ครอบครัว ตรากตรำ ปรับปรุง พร้อมเพรียง กลมเกลียว กว้างขวาง ขวักไขว่ เคว้งคว้าง พลาดพลั้ง ผลีผลามควาย ความ กล้วย เป็นต้น
อักษรควบกล้ำแท้ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
1.1 อักษรควบไทยแท้ คือ อักษรควบกล้ำแท้ ที่ปรากฎมาแต่เดิมในระบบเสียงภาษาไทย มี 11 เสียง ดังนี้
กร คร ปร พร ตร
กล คล ปล พล
กว คว
วิธีท่อง คือ “ก่อนค่ำไปพบเตี่ย”
วิธีจำ คือ ให้เขียน “ก ค ป พ ต” จากนั้น นำ “ร ล ว” ไปเรียงในแถวแนวตั้ง สังเกตว่า ก และ ค จะมี 3 เสียง, ป และ พ จะมี 2 เสียง, ส่วน ต จะมี 1 เสียง
1.2 อักษรควบภาษาต่างประเทศ คือ อักษรควบกล้ำแท้ที่ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ภาษาอังกฤษ ภาษาสันสกฤต เป็นต้น ซึ่งมี 6 เสียง ดังนี้
บร = บรั่นดี บรอนซ์ บราวน์
บล = บลู เบลอ บล็อก
ดร = ดรีม ดราฟต์
ฟร = ฟรี
ฟล = ฟลุต ฟลูออรีน
ทร = แทรกเตอร์
2. อักษรควบกล้ำไม่แท้
คือ พยัญชนะที่มีตัว ร ควบอยู่ แต่ออกเสียงเหมือนพยัญชนะเดี่ยว จะออกเสียงเพียงพยัญชนะตัวหน้าเท่านั้น แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ
2.1 ออกเสียงพยัญชนะตัวหน้า (รูป ร ออกเสียง ร) เช่น จริง ศรัทธา เสริม สร้าง เศร้า เป็นต้น
2.2 ออกเสียงพยัญชนะต้นทั้ง 2 รูปเป็นพยัญชนะต้นตัวอื่น (รูป ทร ออกเสียง ซ) เช่น
ทรัพย์ อ่านว่า ซับ
ทรง อ่านว่า ซง
ทราย อ่านว่า ซาย
ทราบ อ่านว่า ซาบ
ทรุด อ่านว่า ซุด เป็นต้น
เรียนรู้หลักภาษาไทยแล้ว ลองมาฝึกทำข้อสอบ วิชาภาษาไทย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กัน >>> วิชาภาษาไทย