นักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยระดับโลก มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด อาชีพในฝัน เคล็ดลับเข้ามหาวิทยาลัย เด่นหล้า บริติช สคูล เทคนิคการเรียน เทคนิคนักศึกษาแพทย์ เรียนต่อ

7 เคล็ดลับพิชิตมหาวิทยาลัยระดับโลก อาชีพในฝัน โดยนักศึกษาแพทย์อ็อกซ์ฟอร์ด

การเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก เป็นสิ่งที่ทำได้ และไม่ยากอย่างที่คิด หัวใจสำคัญคือต้องวางแผนล่วงหน้า และเตรียมความพร้อมตั้งแต่วัยเยาว์ เด่นหล้า บริติช สคูล (DENLA BRITISH SCHOOL หรือ DBS) เผย 7…

Home / CAMPUS / 7 เคล็ดลับพิชิตมหาวิทยาลัยระดับโลก อาชีพในฝัน โดยนักศึกษาแพทย์อ็อกซ์ฟอร์ด

การเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก เป็นสิ่งที่ทำได้ และไม่ยากอย่างที่คิด หัวใจสำคัญคือต้องวางแผนล่วงหน้า และเตรียมความพร้อมตั้งแต่วัยเยาว์ เด่นหล้า บริติช สคูล (DENLA BRITISH SCHOOL หรือ DBS) เผย 7 เคล็ดลับ พิชิตมหาวิทยาลัยระดับโลก โดยได้เชิญ Mr. Jamie McVeigh นักศึกษาแพทย์ปีสุดท้าย มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ประเทศอังกฤษ มาแบ่งปันประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจในการบรรยายหัวข้อ “An Educational Journey” ซึ่งจะทำให้ภาพการวางแผนอนาคตการศึกษาเพื่อความสำเร็จทางอาชีพ ชัดเจน และไม่ยาก หากเดินตามเคล็ดลับต่อไปนี้

7 ขั้นตอนลัด พิชิตมหาวิทยาลัย
ระดับโลก และ อาชีพในฝัน

การก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยระดับโลก ก็เท่ากับว่าประสบความสำเร็จทางด้านอาชีพไปครึ่งหนึ่งแล้ว แม้จะไม่ง่ายแต่ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม คุณ Jamie ได้แชร์เทคนิคที่ใช้แล้วได้ผลกับตัวเอง ถึงการวางแผนและขั้นตอนการพิชิตความสำเร็จทางการศึกษา

1. จงคิดถึงสิ่งที่เราอยากทำ

และอย่าให้ใครมาบอกว่าเราทำมันไม่ได้ จงฝันให้ใหญ่ แต่ตั้งมั่นด้วยการค่อยๆ ก้าวขั้นเล็กๆ ไปทีละขั้น (DREAM BIG – but with small steps)

“ฝันให้ใหญ่ แต่เริ่มด้วยขั้นตอนเล็กๆ ทีละก้าว” จุดเริ่มต้นของความสำเร็จอาชีพในอนาคต คือสิ่งที่เราจะอยู่กับมันตลอดไปหลังพ้นจากชีวิตในวัยเรียน ซึ่งการคิดถึงอาชีพของเราในอนาคตมีความสำคัญมากตั้งแต่ในวัยเรียน เพราะกว่าจะตกตะกอนความคิดได้ว่าเราจะมีอาชีพอะไรนั้น ก็ต้องมาจากการเริ่มสำรวจตัวเองให้ได้ก่อนว่า เราชอบวิชาอะไร ชอบทำกิจกรรมอะไรบ้าง ในขณะที่อยู่ในโรงเรียน นี่คือจุดเริ่มต้นของทั้งหมด

แล้วน้องๆ คิดกันรึยังว่าอาชีพใดเหมาะกับเรา และศักยภาพของเราเหมาะกับอาชีพอะไร? ถ้าย้อนกลับไปดูความสำเร็จของมนุษย์ มีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของมนุษย์จนสามารถสร้างความสำเร็จสูงสุดให้แก่มวลมนุษยชาติ ยกตัวอย่างเช่น การสร้างจรวดและดาวเทียม การเดินทางไปยังอวกาศ และการที่มนุษย์สามารถเดินทางไปเหยียบพื้นดวงจันทร์ กว่าจะสำเร็จได้ต้องใช้เวลาและความพยายามมากมายกว่าจะเห็นผล ซึ่งประเด็นที่จะสื่อคือ ก่อนที่มนุษย์จะมาถึงจุดนี้ได้ พวกเขาต้องผ่านอะไรมามากมาย และมีก้าวเล็กๆ ให้ก้าวข้ามอีกมากมาย รวมถึงยังมีความผิดพลาดอีกมากมายที่เราต้องประสบและเรียนรู้จากมัน ดังนั้น จงอย่ากลัวความไฝ่ฝัน จงกล้าฝันให้ใหญ่ และเริ่มไปสู่ฝันนั้นด้วยขั้นตอนเล็กๆ ทีละก้าว

2. เป้าหมายต่อไป (Next goal) ของเรานั้นสำคัญ

เมื่อเรามีความฝันแล้ว ให้เริ่มจากการให้ความสำคัญกับเป้าหมายเล็กๆอันจะเป็นจิ๊กซอว์ที่ประกอบขึ้นไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งการที่เราจะไปถึงอาชีพที่เราใฝ่ฝันได้นั้น ก่อนอื่นคือการเรียนหนังสือให้ดี โดยเฉพาะเรียน IGCSEs และสอบ A Levels ให้ได้ตามเป้าของเราก่อน ก่อนที่จะไปถึงฝันที่สำคัญ ซึ่งในระบบการเรียนหลักสูตรนานาชาติอังกฤษต้องเรียนทั้งสองหลักสูตรนี้

โดย IGCSEs เป็นการเรียนวิชาที่หลากหลายเพื่อให้เรารู้ว่าเราชอบวิชาอะไร ซึ่งนอกเหนือจากวิชาหลัก (Core subjects) แล้ว เราจะมีโอกาสเลือกวิชาเสริมอื่นๆ ด้วย (Extra subjects) การเรียนในตอนนี้ เราจะยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบวิชาอะไร จึงต้องลองเรียนกว้างๆก่อน เพื่อหาวิชาที่เรียนแล้วสนุกไปกับมัน ส่วน A Levels คือการเรียนเฉพาะวิชาที่เราสนใจจริงๆ เป็นการตีกรอบวิชาให้แคบลงเพื่อโฟกัสในสิ่งที่เราชื่นชอบ ในตอนนี้หากรู้แล้วว่าเมื่อโตขึ้นเราอยากประกอบอาชีพอะไร เราก็สามารถเลือกเรียนเน้นวิชาที่จะส่งเสริมอาชีพในฝันของเราได้

3. สัมผัสประสบการณ์กับอาชีพที่อยากจะทำ (Work experience)

จงพยายามหาประสบการณ์จากอาชีพต่างๆที่เราอยากจะทำในอนาคตเพื่อที่จะได้รู้ว่าจริงๆแล้วเรารักอาชีพนี้หรือบางทีเราอาจจะเกลียดอาชีพนี้ก็ได้ โดยวิธีการคือ การค้นหาข้อมูลด้วยตนเองและถามความรู้จากผู้มีประสบการณ์ตรง โดยสาขาอาชีพนั้นแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ สาขาอาชีพที่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ (Vocational degree) เช่น แพทย์และเภสัชกร กฎหมาย ครู บริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ ในสาขาวิชาชีพนี้

โดยทั่วไปเมื่อเรียนแล้วจบออกมาแล้วก็ประกอบอาชีพนี้ไปตลอดเลย ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนอาชีพ ดังนั้นการสัมผัสกับประสบการณ์ของอาชีพต่างๆแต่เนิ่นๆ อย่างที่คุณ Jamie ได้บอกไว้ จะทำให้เราชัดเจนในเรื่องความชื่นชอบวิชานั้นๆและช่วยทำให้ตัดสินใจที่จะเรียนหรือไม่เรียนสาขาวิชาชีพนั้นๆได้ดีขึ้น อีกประเภทหนึ่งคือสาขาวิชาชีพที่ไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ (Non-vocational degree) เช่น วิชามนุษยศาสตร์, สังคมศึกษา, ศิลปะและนิเทศศาสตร์ ไม่ต้องใช้ใบประกอบวิชาชีพเฉพาะ จึงเป็นสาชาอาชีพที่เราสามารถเปลี่ยนใจไปทำอะไรอย่างอื่นได้ และไม่เป็นไรเลยถ้าเราคิดจะเปลี่ยนอาชีพ

4. การสมัครเข้ามหาวิทยาลัย (University application)

อันดับแรกควรเลือกมหาวิทยาลัยในฝัน เลือกเลือกประเทศ ว่าเราอยากเรียนที่ไหน ศึกษาดูรายละเอียดว่ามีการสมัครเข้าเรียนอย่างไร มีการสอบอะไรบ้าง ซึ่งบางมหาวิทยาลัยต้องผ่านการสัมภาษณ์ด้วย จึงต้องเตรียมตัวให้พร้อม

5. ชีวิตในมหาวิทยาลัย (University life)

เมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว ชีวิตในมหาวิทยาลัยตามความเห็นของคุณ Jamie นั้นวิเศษมาก เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งโอกาสที่จะได้พัฒนาตัวเองในเชิงวิชาการ ได้ทำงานวิจัย ได้ทำรายงาน วิทยานิพนธ์ ได้มีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับอาชีพที่เราอยากจะต้องออกไปทำในอนาคต เราสามารถทำได้ทุกๆอย่าง และสิ่งที่ดีที่สุดคือกิจกรรมส่งเสริมหลักสูตร (Co-curricular activities หรือ CCAs) ที่ให้นักศึกษาได้เข้าร่วมกิจกรรมมากมาย และเป็นช่วงเวลาที่เราจะมีอิสระในการเรียนรู้ด้วยการพึ่งพาตนเอง ซึ่งจะแตกต่างจากสมัยเรียนที่โรงเรียน ตอนนั้นเราจะมีครูคอยช่วยเหลือ แต่ที่มหาวิทยาลัย เราต้องช่วยและพึ่งพาตัวเองอย่างมาก

นอกจากนี้ในมหาวิทยาลัยเรายังได้มีโอกาสสังสรรค์เข้าสังคมมากมาย พบปะผู้คนจากทั่วโลก การเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นก็มีการสอบเหมือนกับโรงเรียน ที่เพิ่มเติมคือการทำโปรเจกต์ต่างๆควบคู่ไปด้วย การเขียนเรียงความ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีเยี่ยมที่ทำให้เราเรียนรู้ได้กว้างและลึกขึ้น ดังนั้นชีวิตในมหาวิทยาลัยจะประกอบไปด้วย 6 ส่วนหลักๆ คือ วิชาการ การวิจัย กิจกรรมส่งเสริมหลักสูตร การเข้าสังคม การศึกษาวิชาชีพในอนาคตของเรา และการเรียนโดยพึ่งพาตนเอง

6. พาตัวเองไปอยู่ในจุดที่ดีที่สุด

พยายามคิดถึงสิ่งที่เราอยากจะทำ อยากจะเป็น และสิ่งที่เราชอบทำ จากนั้นพยายามพูดคุยปรึกษากับครู รวมถึงพูดคุยกับเพื่อนนักเรียนด้วยกันว่าแต่ละคนอยากทำอะไรมีความสนใจอะไร

7. เรียนรู้จากการเดินทาง

จำไว้ว่าเส้นทางการเดินทางของชีวิตและการเติบโตนั้น ทุกอย่างข้องเกี่ยวกับการเรียนรู้จากประสบการณ์และความผิดพลาด สิ่งสำคัญคือทำทุกอย่างให้มากที่สุดที่จะสนุกไปกับชีวิตการเรียน

“สิ่งสำคัญคือการทำตามขั้นตอนอย่างทะเยอทะยาน เริ่มต้นด้วยเป้าหมายเล็กๆ และมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ในอนาคต”