ตัวละครรามเกียรติ์ นางสีดา ประวัตินางสีดา ผลาญราพณ์ รอยไถ รามเกียรติ์ วรรณคดี

ประวัตินางสีดา หญิงที่ได้ชื่อว่า งามยิ่งกว่านางใดในโลก ตัวละครสำคัญในรามเกียรติ์

มาติดตาม ประวัตินางสีดา ตัวละครจากวรรณคดีเรื่อง “รามเกียรติ์” นางสีดานับได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญ ที่เป็นจุดเริ่มของเหตุการณ์ที่โยงไปสู่การรบกันระหว่างพระรามกับทศกัณฑ์ ลองมาดูกันว่าประวัติที่มาของนางสีดา กำเนิดมาจากที่ไหน พบรักกับพระรามได้อย่างไร และทำไมต้องเกิดการสู้รบระหว่างพระรามกับทศกัณฑ์ จุดจบของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรมาติดตามพร้อมๆ กันเลยค่ะ ประวัตินางสีดา ตัวละครสำคัญในวรรณคดีรามเกียรติ์ ประวัตินางสีดา…

Home / CAMPUS / ประวัตินางสีดา หญิงที่ได้ชื่อว่า งามยิ่งกว่านางใดในโลก ตัวละครสำคัญในรามเกียรติ์

มาติดตาม ประวัตินางสีดา ตัวละครจากวรรณคดีเรื่อง “รามเกียรติ์” นางสีดานับได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญ ที่เป็นจุดเริ่มของเหตุการณ์ที่โยงไปสู่การรบกันระหว่างพระรามกับทศกัณฑ์ ลองมาดูกันว่าประวัติที่มาของนางสีดา กำเนิดมาจากที่ไหน พบรักกับพระรามได้อย่างไร และทำไมต้องเกิดการสู้รบระหว่างพระรามกับทศกัณฑ์ จุดจบของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรมาติดตามพร้อมๆ กันเลยค่ะ

ประวัตินางสีดา
ตัวละครสำคัญในวรรณคดีรามเกียรติ์


ประวัตินางสีดา กำเนิดมาจากไหน

ก่อนที่จะลงมาเกิดเป็น “นางสีดา” เธอคือ “พระลักษมี” เป็นมเหสีเอกของพระนารายณ์ ที่อวตารลงมาเกิดเพื่อเป็นคู่ครองพระนารายณ์หรือก็คือ พระราม นั้นเอง

ณ กรุงอโยธยาในครานั้น ท้าวทศรถผู้ครองนครมีอายุมากแล้ว ทั้งมีมเหสีถึงสามนางคือ พระนางเกาสุริยา พระนางไกยเกษี และพระนางสมุทรเทวี แต่พระองค์ก็หาได้มีพระโอรสธิดาไว้สืบราชวงศ์ไม่ ท้าวทศรถได้นำความนี้ปรึกษากับเหล่าฤๅษี ซึ่งพระฤๅษีกไลโกฎได้ทูลว่า ควรจะทำพิธีบวงสรวงขอพระโอรสธิดาจากเทพเจ้า ด้วยวิธีการกวนข้าวทิพย์ ท้าวทศรถจึงจัดพิธีการกวนข้าวทิพย์อย่างยิ่งใหญ่ภายในกรุงอโยธยาเพื่อวอนขอสิ่งที่พระองค์ปรารถนา

พระอิศวร จึงมีพระบัญชาให้พระนารายณ์อวตารลงมาเกิดเป็นพระโอรสแห่งท้าวทศรถ ซึ่งพระยาอนันตนาคราชผู้เป็นพระแท่นบรรทมของพระนารายณ์ก็ขอติดตามไปด้วย เมื่อพิธีเสร็จสิ้น ท้าวทศรถจึงแบ่งก้อนข้าวทิพย์ให้แก่มเหสีทั้งสามของพระองค์ แต่เหลือข้าวก้อนสุดท้ายอยู่ ข้าวทิพย์เหล่านี้มีกลิ่นหอมหวลอย่างมากจนฟุ้งไกลไปถึงกรุงลงกา นางมณโฑ มเหสีของทศกัณฐ์ได้กลิ่นเข้าก็ร่ำร้องอยากกินให้ได้ มิฉะนั้นตนต้องขาดใจตายเป็นแน่ ทศกัณฐ์จึงมีบัญชาให้นางกากนาสูรสมุนของตนไปโฉบเอาก้อนข้าวทิพย์มาให้นางมณโฑ

เมื่อมเหสีแห่งท้าวทศรถรวมทั้งนางมณโฑได้กินข้าวทิพย์เข้าไปทำให้ทุกนางตั้งครรภ์ สร้างความดีใจให้กับท้าวทศรถและทศกัณฐ์อย่างมาก พระนางเกาสุริยาได้ประสูติพระโอรสองค์โตคือ พระราม (พระนารายณ์อวตาร) พระนางไกยเกษีประสูติพระโอรสองค์รองคือ พระพรต (จักรแห่งพระนารายณ์มาเกิด) พระนางสมุทรเทวีประสูติโอรสแฝดคือ พระลักษมณ์ (พระยาอนันตนาคราไช) และพระสัตรุด (คฑาพระนารายณ์) สุดท้าย นางมณโฑก็ประสูติพระธิดาทรงโฉมงดงามยิ่ง คือ นางสีดา (พระลักษมีอวตาร)

ทว่าชีวิตวัยทารกของนางสีดามิได้อยู่สุขสบายเป็นพระราชธิดาแห่งกรุงลงกา เพราะเมื่อนางประสูติออกมา นางก็ร้องว่า “ผลาญราพณ์” ถึง 3 ครั้ง พิเภกกราบทูลว่า นางสีดาจะนำภัยพิบัติใหญ่หลวงมาสู่วงศ์ยักษ์ ทศกัณฐ์จึงสั่งให้ใส่นางสีดาในผอบลอยน้ำไปเพราะยังไม่อาจหักใจประหารธิดาในไส้ของตนนางนี้ได้

ผอบทองลอยน้ำไปถึงอาศรมของฤๅษีชนกผู้ครองกรุงมิถิลา เปิดดูพบเด็กทารกหญิงหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูภายใน ทว่าฤๅษีชนกนั้นในขณะนั้นครองเพศฤๅษีอยู่ ไม่สะดวกจะเลี้ยงนางสีดา จึงได้นำผอบทองฝังดิน พร้อมขอให้พระแม่ธรณีช่วยดูแลรักษานางด้วย

ที่มาของชื่อ นางสีดา

16 ปีต่อมา ฤๅษีชนกตั้งใจนิวัตินครเพื่อครองกรุงมิถิลาตามเดิม จึงได้ทำพิธีไถคราดดินหาผอบทองที่พระองค์ฝังดินไว้ คันไถไปติดผอบเข้า เหล่าทหารจึงได้ขุดขึ้นมา เมื่อเปิดออกก็พบหญิงสาวรูปร่างหน้าตาสะสวยสะคราญโฉมอย่างที่หาที่เปรียบเปรยไม่ได้ สวยงามที่สุดและงดงามยิ่งกว่านางใดในโลกนี้ ทั้งจริตกิริยาก็เรียบร้อยน่าชม ฤๅษีชนกจึงได้รับนางเป็นพระธิดาแห่งกรุงมิถิลา พร้อมประทานนามให้นางว่า สีดา ที่แปลว่า “รอยไถ”

ลักษณะของนางสีดา

สีนวลจันทร์หรือสีขาวผ่อง 1 หน้า 2 มือ มงกุฏนาง สวยมาก

“พิศพักตร์ผ่องพักตร์ดังจันทร พิศขนงก่งงอนดังคันศิลป

พิศเนตรดังเนตรมฤคิน พิศทนต์ดังนิลอันเรียบราย

พิศโอษฐ์ดังหนึ่งจะแย้มสรวล พิศนวลดังสีมณีฉาย

พิศปรางดังปรางทองพราย พิศกรรณคล้ายกลีบบุษบง

พิศจุไรดังหนึ่งแกล้งวาด พิศศอวิลาสดังคอหงส์

พิศกรดังงวงคชาพงศ์ พิศทรงดังเทพกินรา

พิศถันดังปทุมเกษร พิศเอวเอวอ่อนดังเลขา

พิศผิวผิวผ่องดังทองทา พิศจริตกิริยาจับใจ”

นางสีดาพบรักกับพระราม

เมื่อนางสีดาเจริญถึงวัยอันควรแล้ว นับได้ว่าเป็นสตรีที่มีความงามยิ่งกว่านางฟ้าในสวรรค์ ผู้ใดพบเห็นก็ต่างพากันตะลึงในความงดงามของนาง ท้าวชนกพระบิดาคิดจะจัดพิธีสยุมพรให้นางสีดาพระธิดา จึงได้ป่าวประกาศหาผู้ที่จะสามารถยกธนูโมลีหนักพันแรงคนยกได้ ถ้าผู้ใดทำได้จะยกนางสีดาให้อภิเษก ในครานั้นมีเจ้าชายหนุ่มสองพระองค์นามว่าพระราม และ พระลักษมณ์ อยู่ร่วมด้วย พระรามจึงมีพระดำริจะลองยกธนูโมลีนั้นดู แต่ทันใดนั้นเอง พระรามได้จ้องมองผ่านม่านพบกับนางสีดาที่นั่งอยู่อีกฝั่ง ด้วยบุพเพสันนิวาสทำให้ทั้งสองมีใจรักภักดีต่อกันทันที ธนูโมลีนั้นมีเพียงพระรามและพระลักษมณ์ที่ยกได้ แต่พระลักษมณ์ทราบดีว่าพระรามและนางสีดามีใจต่อกันจึงแสร้งทำเป็นยกธนูไม่ขึ้น ในที่สุด พระรามและนางสีดาก็ได้อภิเษกกันอย่างถูกต้องตามประเพณี

เมื่อนิวัติกลับอโยธยา พระรามก็ต้องพบกับข่าวร้าย ด้วยเล่ห์เหลี่ยมนางกุจจีข้ารับใช้ของพระนางไกยเกษีซึ่งเกลียดชังพระรามมาแต่เด็ก นางกุจจีหลอกล่อให้นางไกยเกษีขอท้าวทศรถให้พระพรตโอรสของนางขึ้นครองบัลลังก์ก่อน ซึ่งท้าวทศรถเสียใจมาก แต่พระองค์เคยได้รับการช่วยเหลือจากนางไกยเกษี พระองค์จึงจำยอมทำตาม พร้อมขับไล่พระรามออกเดินป่าเป็นฤๅษีถึง 14 ปี พระราม นางสีดา และพระลักษมณ์ที่ขอติดตามไปด้วยจึงออกไปผจญความทุกข์ยากในป่า ทำให้สุดท้ายท้าวทศรถก็ตรอมใจตาย

จุดเริ่มของเหตุการณ์ที่โยงไปสู่การรบ
ระหว่างพระรามกับทศกัณฑ์

พระรามและนางสีดาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขแม้ว่าจะอัตคัดขัดสนบ้าง จนกระทั่งวันหนึ่ง นางสำมนักขายักม่ายน้องสาวทศกัณฐ์มาเห็นรูปโฉมพระรามก็หลงรัก เกี้ยวพาขอพระองค์เป็นสวามี แต่พระรามปฏิเสธเพราะมีนางสีดาอยู่แล้ว นางสำมนักขาโกรธจึงด่าทอทุบตีนางสีดา พระลักษมณ์โมโหจับนางสำมนักขาตัดหูตัดจมูกแล้วปล่อยไป นางสำมนักขาแค้นเคืองไปฟ้องพี่ชายของตน พร้อมกับพรรณาความงดงามของนางสีดาให้ทศกัณฐ์ฟังจนทศกัณฐ์อยากได้ในตัวของนางสีดา

ทศกัณฐ์สั่งให้มารีศแปลงเป็นกวางทองไปล่อหลอกพระรามพระลักษมณ์ออกจากอาศรมแล้วตนเองก็ไปลักพาตัวนางสีดามาอยู่ที่สวนขวัญ กรุงลงกา นางสีดามีรักมั่นคงต่อพระรามจึงไม่ยอมเป็นชายาของทศกัณฐ์ ทำให้เกิดสงครามระหว่างมนุษย์และยักษ์ปะทุขึ้น จนคำทำนายในวัยเด็กที่เป็นภัยมาสู้เหล่ายักษ์เป็นจริงขึ้นมา

นางสีดาขอพิสูจน์ความบริสุทธิ์

เสร็จสิ้นสงคราม ทศกัณฐ์ตายแล้ว พระรามอยากเชิญนางสีดากลับอโยธยาด้วยกัน แต่พระองค์ไม่อยากให้ผู้ใดมานินทาว่าร้ายนางสีดาที่ไปอยู่แดนศัตรูเกือบ 14 ปี นางสีดาจึงขอพิสูจน์ตนเองว่า จะขอลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ถ้าตนคิดนอกใจสามีเพียงนิดเดียว ขอให้ไฟไหม้นางจนตาย แต่ถ้านางมีรักมั่นต่อสามี ไฟจะไม่อาจทำอันตรายนางได้

พระรามสั่งประหารนางสีดา

ไฟกาฬเหล่านั้นพ่ายแพ้ต่อแรงอธิษฐานของนางสีดา นางสีดาพิสูจน์ตนเองได้ว่าบริสุทธิ์ทั้งกายใจ สามีภรรยาจึงได้กลับไปใช่ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข 13 ปีต่อมา นางสีดามีครรภ์ นางอดุลยักษีที่เคียดแค้นนางสีดาแปลงมาเป็นนางกำนัลพร้อมขอให้นางสีดาวาดรูปทศกัณฐ์ พอวาดเสร็จ นางอดุลก็เข้าสิงทำให้รูปลบไม่ออก พระรามมาเห็นรูปภาพเข้าก็พิโรธมากว่านางสีดายังรักภักดีทศกัณฐ์ จึงสั่งพระลักษมณ์ให้ประหารนางสีดา พระลักษมณ์ไม่ทำซ้ำยังปล่อยนางหนีไป แล้วฆ่าควักหัวใจกวางนำไปถวายพระราม

กำเนิดโอรสของนางสีดากับพระราม

นางสีดาไปอาศัยอยู่กับฤๅษีวัชมฤคจนกระทั่งประสูติพระโอรสของพระรามนามว่า พระมงกุฎ จากนั้นต่อมาพระฤๅษีก็ได้ชุบกุมารมาเป็นเพื่อนเล่นพระมงกุฎนามว่า พระลบ ทั้งสองกุมารเก่งกล้ามากจนสะเทือนไปถึงอโยธยา จนเกิดการต่อสู้กันระหว่างพ่อลูก ทว่าไม่รู้ผลแพ้ชนะ พระรามเอะใจเลยถามว่าพระมงกุฎเป็นลูกเต้าเหล่าใคร ในที่สุดจึงได้รู้ว่า ผู้ที่ต่อสู้อยู่ด้วยนี้ คือพระโอรสองค์เดียวที่เกิดแต่มเหสีนางสีดานั่นเอง

พระรามง้อนางสีดา

พระรามง้องอนขอคืนดีกับนางสีดา แต่นางสีดาเข็ดขยาดในความฉุนเฉียวของพระราม นางจึงแทรกตัวลงไปเมืองบาดาลหนีพระราม พระรามจึงต้องออกผจญภัยอีกครั้งเป็นเวลา 1 ปี จนท้ายสุด พระอิศวรได้รับนางสีดาขึ้นมาและปรับความเข้าใจกับทั้งสอง จนในที่สุดพระราม และนางสีดา จึงอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดมา