เพื่อนๆ เคยเป็นกันหรือไม่? กับอาการ ‘ขี้หลงขี้ลืม’ บางครั้งถ้าเรารู้ตัวว่าเป็นคนขี้ลืมเราก็ต้องเริ่มหาวิธีจัดการกับตัวเอง และที่สำคัญต้องกินอาหารที่ช่วยพัฒนาทางด้านสมองและเรื่องการจำด้วย โดยเฉพาะเวลาสอบถ้าเราดูแลสุขภาพเราให้ดี รับรองว่าเรื่องอ่านหนังสือสอบ สบายชิวๆ เลย .. เรามาดู 9 วิธีแก้นิสัย ‘ขี้หลงขี้ลืม’ กันดีกว่า ก่อนที่เพื่อนๆ จะกลายเป็นอัลไซเมอร์นะ
9 วิธีแก้นิสัย ‘ขี้หลงขี้ลืม’
1. เขียนบันทึก อ่านปุ๊บจำได้ปั๊บ
วิธีง่ายๆ ถ้ากลัวลืม การจดบันทึกเนี่ยแหละค่ะ จะเป็นตัวที่เตือนเราได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะกลัวเรื่องแพลนชีวิต นัดสำคัญ ไปจนถึง จดเบอร์โทรศัพท์, ที่อยู่เพื่อนฝูง, วันเกิด, ข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่คุณเป็น เป็นต้น ยิงถ้าเราได้จดทุกวันๆ ก็จะทำให้เกิดการจดจำเรื่องราวเหล่านี้ได้ดีขึ้น แต่อย่าลืมพกสมุดบันทึกติดตัวไปด้วบ และอย่าทำหายเชียว
2. บอกกับตัวเองดังๆ
การพูดก็เหมือนกับจดบันทึก และที่ๆ ดีที่สุดที่จะพูดออกมาดังๆ ได้คือ ในห้องน้ำ ยามเช้าก่อนเริ่มออกจากบ้าน บอกออกมาเลยว่าวันนี้ฉันต้องทำอะไร อย่างเช่น “วันนี้ก่อนกลับบ้าน ต้องแวะรับเสื้อ” แล้วพูดออกมาดังๆ ซ้ำๆ กันหลายๆ หน ถ้าคิดว่ายังจำไม่ได้และเป็นกังวล ลองใช้แอพฯอัดเสียงบนสมาร์ทโฟน บันทึกคำพูดแทนก็ได้นะคะ
3. Post-it หรือ กระดาษโน้ต
เดี๋ยวนี้มีแผ่นโน้ตเล็กๆ ที่ติดไว้ที่ไหนก็ได้ขายอยู่ทั่วไป ขนาดก็เหมาะกับการพกพา เวลาที่มีการนัดหมายหรือเวลาที่นึกขึ้นมาได้ว่าต้องทำอะไรในวันที่ยังมาไม่ถึง ให้เขียนสิ่งที่จะทำลงบนกระดาษโน้ต แปะไว้ในที่ๆ คุณต้องเห็นเป็นประจำ เช่นที่ประตูตู้เย็นในครัว, บอร์ดช่วยจำที่ติดไว้ตรงทางเดินก่อนออกจากบ้าน หรือในรถ หรือถ้าหากมีการไล่สีระดับความสำคัญได้ด้วยก็จะดีมากค่ะ เช่นใบสีแดง เป็นสิ่งที่ต้องทำด่วนมาก ห้ามลืม!! เป็นต้น
4. เก็บข้าวของให้เป็นที่
เก็บของให้เป็นที่ในที่ที่ควรจะเป็น เช่น เก็บยาที่ต้องกินก่อนนอนไว้ที่โต๊ะข้างเตียง, ข้างขวดน้ำดื่ม,เ ก็บกุญแจไว้บนโต๊ะเล็กๆ ข้างประตูทางออก ช่วยให้ไม่ต้องมานั่งเสียเวลานึกทุกครั้งที่จะใช้ข้าวของที่ว่า
5. ปฎิบัติตัวเป็นกิจวัตร
การทำซ้ำๆ เหมือนๆ กัน ช่วยให้สมองจำได้เองโดยไม่ต้องพยายาม เช่น ถ้าทุกครั้งที่ยังอ่านหนังสือไม่จบ แต่ต้องไปทำอย่างอื่น คุณควรวางมันไว้ที่ใดที่หนึ่งเป็นประจำ เมื่อเสร็จธุระจะกลับมาอ่านต่อ สมองจะสั่งการโดยอัตโนมัติว่า จะต้องไปหยิบหนังสือที่ไหน
6. ใช้ทริคช่วยจำ
ทริคประเภทท่องจำ, คำย่อ, คำคล้องจอง อย่างเช่น ถ้าต้องทำอะไรหลายๆ อย่างในวันเดียว ลองใช้ตัวย่อ เช่น ฟ-ส-น-ม-อ (ทำฟัน-เอาหนังสือไปคืนเพื่อน-เติมน้ำมันรถ-จ่ายค่ามือถือ) ก็ได้
7. เข้าใจความถนัดของตัวเอง
บางคนจำได้ดีเมื่อได้มองเห็น (จดบันทึก) บางคนจำได้ดีกว่าเมื่อได้ยินเสียง (พูดดังๆ/อัดเทป) แต่ก็มีบางคนจะจำได้ก็ต่อเมื่อได้ลงมือปฎิบัติหรือมีประสบการณ์ร่วม (เขียน/ทำ)
8. ร่างกายแข็งแรง พักผ่อนเพียงพอ
ความจำก็แข็งแรง ดูแลตัวเองให้ดี กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะเมื่อร่างกายแข็งแรง ความจำก็จะดีไปด้วย
9. บริหารสมอง
ทำกิจกรรมที่แตกต่าง เช่น เล่นเกมส์, อ่านหนังสือ, เล่นดนตรี ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้สมองได้ออกกำลัง ก็เหมือนกับร่างกาย เมื่อได้ออกกำลังก็จะแอคทีฟขึ้น คิดอะไรได้ฉับไว และที่แน่ๆ ช่วยให้ความจำดีขึ้น