สวัสดีครับน้อง ๆ เจอกันอีกแล้ว วันนี้พี่หวาย ธฤตสรร์ ศรพรหม ติวเตอร์โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์ มาพร้อมกับคำศัพท์ที่น่าสับสนอีกกลุ่มนึง ซึ่งเป็นคำใกล้ตัวเรามาก ๆ เลย แต่เมื่อถึงเวลาใช้งาน กลับทำให้มึนตึ๊บอยู่ไม่น้อย แล้วมันยิ่งชอบออกในข้อสอบอีก เจอทีนึงถึงกับหวั่นใจเลย
คำศัพท์ภาษาอังกฤษ
rise / raise / arise ต่างกันอย่างไร?
rise / raise / arise จากสามคำนี้ พี่หวายเชื่อว่า คำที่พอจะคุ้นหูคุ้นตามากที่สุด น่าจะเป็นคำว่า “raise” เพราะประโยคยอดฮิตในโรงเรียนที่คุณครูชอบพูดกับเราเวลาให้ตอบคำถามก็คือ “Raise your hand.” (ซึ่งก็ไม่มีใครยกหรอก 55555)
เรามาดูความแตกต่างของแต่ละคำกันดีกว่าครับประเด็นแรกก็คือ ความแตกต่างด้านความหมาย
- rise (v.) ขึ้น, เพิ่มขึ้น เช่น The sun rises.
- raise (v.) ยก, เลี้ยงดู เช่น Raise your hand.
- arise (v.) เกิดขึ้น เช่น Problems always arise.
และอีกประเด็นก็คือ ความแตกต่างด้านชนิดของคำกริยา พอพูดแบบนี้ คงจะฟังดูซับซ้อนขึ้นใช่มั้ยครับ แต่จริง ๆ แล้วมันง่ายมากเลย ชนิดของคำกริยาตรงนี้พี่จะพูดถึง Transitive Verb (สกรรมกริยา หรือ กริยาที่ต้องการกรรม) และ Intransitive Verb (อกรรมกริยา หรือ กริยาที่ไม่ต้องการกรรม)
ลองมาวิเคราะห์จากตัวอย่างประโยคด้านบนกันดีกว่า ว่าคำไหนต้องการกรรมบ้าง
น่าจะมีคำตอบในใจกันแล้วใช่มั้ยครับ มีอยู่เพียงคำเดียวที่ต้องมีกรรมตามหลังครับ ซึ่งคำนั้นก็คือ! Raise ครับผม เพราะ จากตัวอย่าง Raise your hand. จะเห็นว่า hand คือกรรมเพราะมันถูกยกขึ้น ในขณะที่ประโยคอื่นไม่มีกรรมเลย และประเด็นนี้เองที่จะช่วยให้น้องทำข้อสอบได้เร็วขึ้นอย่างมาก เพราะไม่จำเป็นต้องนั่งแปลอย่างเดียว เพียงแค่ดูว่ามันมีกรรมตามหลังหรือเปล่า ถ้ามี ต้องใช้ raise ทันที
น้อง ๆ ลองทำโจทย์ต่อไปนี้กันดีกว่า
- Most conflicts __________ from ignorance.
- It’s a mother’s duty to __________ her children.
- Interest rates __________ every year.
ตอบได้กันใช่มั้ยเอ่ยและคำตอบก็คือ
- Most conflicts arise from ignorance. (ความขัดแย้งส่วนใหญ่ เกิดขึ้นจากความไม่รู้)
- It’s a mother’s duty to raise her children. (เป็นหน้าที่ของแม่ ที่จะต้องเลี้ยงดูลูก ๆ)
- Interest rates rise every year. (อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกปี)
สังเกตแค่ว่าประโยคเดียวที่มีกรรมก็คือประโยคที่สอง (her children) จึงต้องใช้คำว่า raise
เป็นไงครับ พอจะตอบได้กันอยู่เนาะ ต่อไปนี้เวลาอ่านบทความ หรือทำข้อสอบก็อย่าลืมสังเกตและอย่าโดนคำศัพท์มาสับขาหลอกเรานะครับ